ทำไม ไทยหนุนชาวนาปลูกข้าวพื้นนุ่มชิงตลาดโลก

29 ส.ค. 2563 | 05:25 น.

นายกโรงสี แสดงความยินดีกับสมาคมน้องใหม่ “โรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ”  แจงเหตุผลละเอียดยิบทำไม ไทยต้องหนุนชาวนาปลูกข้าวพื้นนุ่มชิงตลาดโลก

เกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์

 

นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์  นายกสมาคมโรงสี เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขอแสดงความยินดีกับ “สมาคมโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ”  ซึ่งเป็นสมาคม ที่ก่อตั้งขึ้นมาใหม่ รวมถึงยินดีกับ ท่าน วิชัย ศรีนวกุล หนึ่งในผู้ก่อตั้งสมาคมนี้ขึ้น  จึงขอร่วมเป็นกำลังใจในการทำหน้าที่ และขอให้บรรลุวัตถุประสงค์ ตามที่ตังใจ  ซึ่งในปัจจุบันเรามีสมาคมโรงสีข้าว หลายสมาคม เท่าที่ทราบมีดังนี้ 1) สมาคมโรงสีข้าวไทย มีสมาชิกอยู่ทั่วประเทศ ไทย ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก และมีทั้งสมาชิกสามัญและมีสมาชิกสมทบที่เป็นผู้ส่งออก  2) สมาคมโรงสีข้าวจังหวัดสุพรรณบุรี  3) สมาคมโรงสีข้าวจังหวัดนครปฐม  4) สมาคมโรงสีข้าวและกลุ่มชาวนาภาคใต้  5) สมาคมโรงสีข้าวจังหวัดสิงห์บุรี  6) สมาคมโรงสีข้าวภาคอีสาน ที่เป็นสมาคมก่อตั้งขึ้นใหม่   และยังมีชมรมโรงสีข้าวในแต่ละจังหวัดที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ

 

สำหรับในเรื่องของข้าวนุ่มที่ทั้งตลาดต่างประเทศและภายในประเทศต่างก็มีความต้องการมากขึ้น จะเห็นได้ว่าประเทศอื่นๆที่เป็นผู้ส่งออกข้าวเช่นเดียวกับประเทศไทย ได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวนุ่ม เพื่อขายส่งออกไปหลายประเทศ  เป็นเหตุทำให้ไทยเราสูญเสียความสามารถในการแข่งขันลง เห็นได้ชัดจากการส่งออกของไทยที่ลดลง โดยเฉพาะกลุ่มข้าว5% ที่เป็นข้าวพื้นแข็ง  ที่เคยส่งออกได้ปีละประมาณ 5 ล้านตันข้าวสาร ลดลงเหลือเพียง 3 ล้าน กว่าตัน ส่วนข้าวหอมมะลิ เคยส่งออกปีละกว่า 2 ล้านตัน ลดลงเหลือ 1.5 ล้านตัน และกลุ่มข้าวนึ่งก็ลดลงด้วย ทำให้การส่งออกข้าวรวมของไทยในปี 2562 ลดลงเหลือประมาณ 7.5 ล้านตัน และคาดว่าในปี 2563 นี้ไทยจะส่งออกได้ไม่เกิน 6.5 ล้านตัน”

 

นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ด้วยเหตุผลดังกล่าว ประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวใหม่ๆขึ้นมา โดยเฉพาะสายพันธุ์กลุ่มข้าวนุ่ม เพื่อตอบโจทย์ตลาดที่มีความต้องการข้าวนุ่มที่มากขึ้นทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ ได้จัดทำยุทธศาสตร์ข้าวไทย “การตลาด นำการผลิต” ด้วยการจัดกลุ่มข้าวไทยเป็น 7 ชนิด 1)ตลาดพรีเมียม ได้แก่ข้าวหอมมะลิ และ ข้าวหอมไทย 2)ตลาดทั่วไป ได้แก่  ข้าวขาวพื้นนุ่ม ข้าวขาวพื้นแข็ง และข้าวนึ่ง และ 3)ตลาดเฉพาะ ได้แก่ ข้าวเหนียว และข้าวสีหรือข้าวคุณลักษณะพิเศษ  และได้มีการตั้งเป้าหมายพัฒนาพันธุ์ข้าว 12 สายพันธุ์ภายใน5ปี

 

ทำไม ไทยหนุนชาวนาปลูกข้าวพื้นนุ่มชิงตลาดโลก

 

“นับว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่สมาคมโรงสีข้าวไทย เห็นด้วยกับแนวนโยบายดังกล่าว และยังเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกร ที่จะได้มีพันธุ์ข้าวที่หลากหลายชนิด เพื่อเลือกใช้ในการเพาะปลูกเพื่อที่เกษตรกรจะได้ประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะชนิดพันธุ์ข้าวที่ตลาดกำลังมีความต้องการ และต้องมีศักยภาพตอบโจทย์ ในด้านผลผลิตที่สูง ต้านทานโรคต้นเตี้ยอายุการเพาะปลูกไม่ยาวนัก”

 

นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ข้าวหอมมะลิ105 นั้น ถือเป็นข้าวพันธุ์ดั้งเดิม ปลูกกันมากว่า 50 ปี มีการรับรองพันธุ์เมื่อปี พ.ศ. 2502 ซึ่งในอดีตได้ค้นพบมีการเพาะปลูกที่จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นครั้งแรกก่อน และได้ถูกนำมาเพาะปลูกที่จังหวัดลพบุรี  และหลังจากนั้นจึงมีการนำไปเพาะปลูกในพื้นที่ต่างๆ ทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก  โดยจุดเด่นของข้าวหอมมะลิคือ มีความหอมเหนียวนุ่มเป็นพันธุ์ข้าวที่ทนแล้งทนเค็ม เพาะปลูกได้ทั้งที่ลุ่มและที่ดอน และเหมาะกับพื้นที่นาดอนอาศัยน้ำฝน เป็นข้าวไวแสง ปีหนึ่งปลูกได้ครั้งเดียว แต่จุดอ่อนคือให้ผลผลิตไม่สูงนัก (ค่อนข้างต่ำ) และที่เราเรียก กันว่าข้าวหอมมะลินอกเขต หรือ หอมมะลิจังหวัด นั้นก็คือพันธุ์ข้าวหอมมะลิ105 เช่นกัน โดยการซื้อขายก็อยู่ในมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย คือต้องมีความบริสุทธ์ร้อยละ92 คือ มีข้าวชนิดอื่นปนไม่เกิน 8%

 

ทำไม ไทยหนุนชาวนาปลูกข้าวพื้นนุ่มชิงตลาดโลก

 

นอกจากนี้แล้ว ยังมีพันธุ์ข้าว หอมปทุมธานี1  รับรองพันธุ์เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2543 เพาะปลูกมา 20 ปี ซึ่งข้าวปทุมธานี1 ได้จัดอยู่ในชั้นมาตรฐานข้าวหอมไทย พื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่อยู่ในที่ลุ่มภาคกลาง  ชนิดพันธุ์ของข้าวพื้นนุ่ม ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมานี้ เราได้มีการรับรองสายพันธ์ุข้าวพื้นนุ่ม 3 สายพันธุ์หลัก ที่โดดเด่น ดังนี้ กข 77 รับรองพันธุ์เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 กข 79 รับรองพันธุ์เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 และ กข87 มีการประชุมรับรองพันธุ์ไปล่าสุดเมื่อวันที่15 กรกฎาคม 2563 นี้  เพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรใช้ในการเพาะปลูก พันธุ์ไหนตอบโจทย์ที่ดีกว่า ก็จะมีการเพาะปลูกต่อเนื่อง แต่ถ้าพันธุ์ไหนไม่ตอบโจทย์ ไม่ได้รับความนิยมก็จะหายไป เป็นเช่นนี้เสมอมา

 

 

ทำไม ไทยหนุนชาวนาปลูกข้าวพื้นนุ่มชิงตลาดโลก

สำหรับการเลือกใช้พันธุ์ข้าวชนิดใดๆในการเพาะปลูกนั้นจึงอยู่ที่เกษตรกรเองจะพิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่เพาะปลูกของตน และการตอบโจทย์ทางด้านรายได้ คือได้ผลผลิตสูง ต้นทุนค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อไร่ต่ำ  มีตลาดรองรับผลผลิต คือเลือกปลูกชนิดไหนแล้วเหลือเงินมากกว่า เกษตรกรก็จะเลือกพันธุ์นั้น รวมทั้งความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่อีกด้วย

 

ทั้งนี้เหตุที่สถานการณ์ข้าว เปลี่ยนแปลงจากในอดีตมาก ก็เนื่องมาจากประเทศที่เป็นผู้ส่งออกข้าว เช่นประเทศเวียดนามได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวพื้นนุ่มออกมาสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องและทำตลาดได้ดีจนไทยเราต้องเสียส่วนแบ่งตลาดฐานลูกค้าเดิมในหลายๆประเทศให้กับเวียดนามในที่สุด  และในสภาวะปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคเองทั้งภายในและต่างประเทศก็หันมานิยมบริโภคข้าวนุ่มมากขึ้น และบวกกับสถานการณ์เศรษฐกิจทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อที่ลดลงด้วย  ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วคนไทยเราเองในอดีตก็นิยมบริโภคข้าวพื้นนุ่มเช่นกัน  แต่อย่างไรก็ดีข้าวพื้นแข็งก็ยังมีความจำเป็นและสำคัญอยู่ เพราะข้าวขาว ข้าวนึ่ง ก็ยังคงมีตลาดรองรับ และยังเป็นที่ต้องการในบางกลุ่มประเทศอยู่เช่นกัน

 

“ประเทศไทยมีพันธุ์ข้าวมากมาย มีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน พันธุ์ไหนที่ได้รับความนิยมก็ยังจะคงอยู่ พันธุ์ไหนไม่ได้รับความนิยมก็ถูกสับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสม หรืออาจหายไปจากตลาดหลัก (คือเป็นพันธุ์ที่เพาะปลูกกับเฉพาะถิ่นที่มีจุดเด่นเฉพาะตัว)  ซึ่งเป็นเช่นนี้เสมอมา สุดท้ายด้วยหลายปัจจัย ด้านการตลาดและกลไกทางธรรมชาติเกษตรกรจะเป็นผู้เลือกและตัดสินใจในการใช้พันธุ์ข้าวในการเพาะปลูกที่ตอบโจทย์ของเกษตรกรแต่ละกลุ่มแต่ละท้องที่ในที่สุด”

 

ข่าวเกี่ยวข้อง

เปิดตัวสมาคมน้องใหม่ “โรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ”