สสว.นำเอสเอ็มอีเกษตร เจาะตลาดจีน

28 ส.ค. 2563 | 12:22 น.

สสว. ผลักดัน เอสเอ็มอีรายย่อยสินค้าเกษตรไทย-จีน เจรจาซื้อขายระหว่างกัน นำร่องสินค้าข้าว ขยายโอกาสไมโครเอสเอ็มอี นำสินค้าจากท้องถิ่นเจาะตลาดจีนเพิ่มขึ้น

 

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)เปิดเผยว่า สสว.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมและการค้า ระหว่างผู้แทนการค้าในประเทศไทย ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และ สมาชิกกองทุนหมู่บ้าน เพื่อช่วยเหลือกองทุนหมู่บ้านต่างๆ พัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อเชื่อมโยงผลิตผลจากภาคการเกษตรของไทยออกสู่ตลาดจีน

 

สสว.นำเอสเอ็มอีเกษตร เจาะตลาดจีน

ทั้งนี้ สสว.จะร่วมกับสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ(สทบ.) ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและสมาชิกกองทุนหมู่บ้านในทุกระดับ ตั้งแต่ภาคการผลิตในพื้นที่พัฒนาสินค้าผลิตภัณฑ์ โดยนำร่องในสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ผักผลไม้ก่อนขยายสู่สินค้าการเกษตรทุกชนิด

 

“สินค้าทั้งหมดต้องเริ่มการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำจากหมู่บ้านในถิ่นฐาน ก่อนนำสู่มือผู้บริโภคในประเทศและต่างประเทศ  โดยเน้นให้ผู้ประกอบการเข้าใจกระบวนการผลิตไปจนถึงส่งออกทั้งหมด สร้างโอกาสและเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ประกอบการรายย่อยท้องถิ่นให้มากที่สุด โดยเฉพาะการพัฒนามาตรฐานที่แต่ละสินค้ามีความแตกต่างกัน เช่น มาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ฮาลลาล HACCP GMP และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง”

สสว.ยังได้มอบหมายให้บริษัท ห้องปฎิบัติการกลาง(ประเทศไทย)จำกัด ร่วมมือกับC.C.I.C. (Thailand) Co., Ltd. ร่วมกันเพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าในท้องถิ่นและทำความเข้าใจระเบียบมาตรฐานการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่พร้อมส่งออกให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน หรือเอสเอ็มอีรายอื่นๆในพื้นที่ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการส่งออกไปยังตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ หากพบว่าสมาชิกกองทุนหมู่บ้านเฉพาะรายไม่พร้อมก็จะแนะนำให้รวมกลุ่มสร้างความเข้มแข็งแล้วออกไปทำตลาดร่วมกัน

 

สินค้าเกษตรขนาดกลางและตัวแทนการค้าเข้ามาร่วมมือกับผู้ประกอบการในท้องถิ่น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและหารือเตรียมการส่งสินค้าออกสู่ตลาดต่างประเทศ ตามเป้าหมายของโครงการ โดยจะเริ่มจากตลาดจีนเป็นหลักที่จะนำสินค้าจากหมู่บ้านของไทยไปสู่ท้องถิ่นในจีน เพราะคาดว่า จีนจะฟื้นตัวจากโควิด-19 เป็นประเทศแรก ทำให้มีความต้องการการนำเข้าสินค้ามากกว่าประเทศอื่นๆ หากมีการเปิดประเทศหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย มองว่า สินค้าบางชนิดจะเติบโตถึง 50% จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับสินค้าท้องถิ่นของไทย

สสว.นำเอสเอ็มอีเกษตร เจาะตลาดจีน

“ห้องปฎิบัติการกลาง จะเข้าไปดูเรื่องมาตรฐานร่วมกับ C.C.I.C. (Thaiand) Co., Ltd. ซึ่งเป็นหน่วยงานตัวแทนรับรองมาตรฐานสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆจากจีน ที่มีหน้าที่ตรวจสอบและรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าที่มาจากไทยอย่างแท้จริง หากผู้ประกอบการใดมีความพร้อมที่จะเติบโต สสว. ก็จะผลักดันอย่างเต็มที่ปัจจุบันได้เข้าไปพัฒนาผลิตภัณฑ์หลายตัว ทั้งผัก ผลไม้ และข้าว”

 

นายวีระพงศ์กล่าวว่า  ปัจจุบันรูปแบบการค้าและพฤติกรรมผู้บริโภคชาวจีนเปลี่ยนไปมา ผู้บริโภคจีนสามารถเข้าถึงสินค้าจากต่างประเทศโดยผ่านเครื่องมือต่างๆ ทางดิจิทัล หรือรูปแบบการค้าแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ช ส่งผลต่อรูปแบบการค้าแบบดั้งเดิม อีกทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการค้ารายเล็กและกลาง สามารถเข้าถึงผู้บริโภคปลายทางได้โดยตรง โดยดำเนินการตามมาตรฐานและขั้นตอนระหว่างประเทศอย่างถูกต้องและเป็นสากล

 

“ด้วยสินค้าเกษตรไทยมีความหลากหลาย และสินค้าข้าวก็เป็นธุรกิจที่สำคัญของหมู่บ้านไทย สสว. มุ่งเน้นที่จะชูจุดเด่นของสินค้าและวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น เพื่อเป็นกลยุทธ์ในการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับท้องถิ่นต่างๆของจีน ตามเป้าหมาย Village Cultural link to China โดยจะเริ่มตั้งแต่การยกระดับมาตรฐานของสินค้าท้องถิ่นให้สอดคล้องเป็นไปตามมาตรฐานทั้งไทยและจีนกำหนด และผ่านการรับรองมาตรฐานทั้งไทยและจีน ซึ่งจะเป็นมิติใหม่ของการส่งออกข้าวไปจีนที่สอดรับกับการพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคชาวจีน”

 

 สำหรับโครงการนี้จะเริ่มที่ จ.นครนายก ซึ่งเป็นการรวมตัวผู้ประกอบการรายย่อยในส่วนของภาคกลาง จากนั้นจะไปที่ จ.สุโขทัย ภาคเหนือตอนล่าง และจะไปจบที่ภาคอีสานที่ จ.อำนาจเจริญ ก็จะเป็นตัวแทนของข้าวทางวัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นการพัฒนาตลาดตั้งแต่ต้นทาง คาดว่ากิจกรรมนี้จะมีส่วนช่วยส่งเสริมมูลค่าการตลาดไม่น้อยกว่า 1 พันล้านบาท และจะขยายผลไปทั่วทุกภาคของไทยในอนาคต

นายรวัฒน์ จีระนันตสน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจริญธัญญไรซ์ จำกัดกล่าวว่า จากการเข้าร่วมโครงการกับสสว. ทำให้ทราบถึงข้อมูลของจีนและมีความเข้าใจตลาดภาพรวมมากยิ่งขึ้น ช่วยเหลือที่จะให้บริษัทเตรียมความพร้อมเดินได้ถูกทาง ช่วยประหยัดเวลาและงบประมาณในการส่งออกหากมีความเข้าใจต่อกระบวนการขั้นตอนอย่างถูกต้อง เป็นการลดอุปสรรคในการส่งออกไปยังจีนได้มาก เพราะจีนมีมาตรฐานและกฎกติกาต่างๆ อยู่มาก

 

นอกจากนั้น ตลาดข้าวของจีน เดิมเป็นการส่งออกจากผู้ส่งออกที่มีรูปแบบส่งออกแบบจำนวนปริมาณที่มากเป็นชุดใหญ่  หากแต่รูปแบบการค้าการบริโภคของจีนที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดโอกาสการค้าสำหรับผู้ประกอบการรายเล็กและกลางที่ต้องการพัฒนาสินค้าข้าวในลักษณะการบรรจุใส่ถุงบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กนั้น มีโอกาสที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าก่อนได้อย่างมาก และหากไม่มีเครือข่าย สายสัมพันธ์ หรือได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล ก็จะไม่สามารถส่งข้าวเข้าไปขายในจีนได้

สสว.นำเอสเอ็มอีเกษตร เจาะตลาดจีน

“แม้จีนจะมีโควต้านำเข้าข้าวจากต่างประเทศแต่ละปีประมาณ 5 ล้านตัน แต่ก็มีโควต้าเพียงพอสำหรับไทยในฐานะประเทศมิตร ซึ่งการนำเข้าต้องพิจารณาเรื่องคุณภาพเป็นสำคัญอย่างยิ่งโดยบริษัทฯเริ่มเจรจาขายข้าวกับจีนได้แล้ว โดยเริ่มจากล็อตเล็กๆ เพื่อทดสอบตลาดข้าวถุงเล็กและดูคุณภาพข้าวของไทยก่อน ตลอดจนการทำผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐานการนำเข้า หากทั้ง 2 ฝ่ายเริ่มมีความไว้วางใจกัน ก็จะเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ และจะขยายไปสู่สินค้าเกษตรชนิดอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต”

 

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอยากให้รัฐบาลนำผู้ประกอบการด้านการเกษตรที่เป็นเอสเอ็มอีออกไปเปิดตลาดประเทศจีนมากขึ้น มีการสร้างความพร้อมก่อนการเจรจาการค้ากับจีน การเตรียมตัวในมิติต่างๆ และเจาะลึกในพื้นที่แต่ละมณฑล เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยและจีนได้เจอกัน ซึ่งจะทำให้สามารถขยายตลาดในจีนได้เพิ่มขึ้น