สศค.มั่นใจ จีดีพีครึ่งปีหลังติดลบน้อยกว่า 6.9%

28 ส.ค. 2563 | 07:02 น.

สศค.มั่นใจ จีดีพีครึ่งปีหลังติดลบน้อยกว่า 6.9% แต่ขอรอดูทิศทาง 1-2 เดือนจากนี้ก่อนเป็นอย่างไร ระบุทั้งปียังคงเป้าลบ 8.5% เหมือนเดิม

                นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนก.ค. ยังชะลอตัวจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่หากเทียบกับเดือนก่อนหน้าก็ถือว่าปรับตัวดีขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากมาตรการผ่อนคลายให้สามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น ดังนั้นจึงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง จะมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยจะติดลบน้อยกว่าช่วงครึ่งปีแรกที่ติดลบ 6.9%

              ขณะที่ทั้งปี 2563 ยังคงประมาณการจีดีพีไว้ที่ ติดลบ 8.5% เช่นเดิม แต่จะเป็นไปตามคาดหรือไม่ จะต้องรอดูทิศทางเศรษฐกิจในอีก 1-2 เดือนข้างหน้าก่อนว่ามาตรการที่ออกมาจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในระยะต่อไปมากน้อยเพียงใดด้วย

               สำหรับภาวะเศรษฐกิจในเดือนก.ค.มีปัจจัยบวกมาจากการลงทุนภาคเอกชน ที่ส่งสัญญาณดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดการก่อสร้างปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัว 1.3% ต่อปี สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัว 9.4% จากเดือนก่อนหน้า และหดตัวในอัตราที่ชะลอลงมาติดลบ 3.9%

           ส่วนการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ขยายตัว 13.3% จากเดือนก่อนหน้า และหดตัวในอัตราที่ชะลอลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ลบ 15.4%

 

             ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน ที่สะท้อนจากปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัว 31.4% จากเดือนก่อนหน้า ด้านรายได้เกษตรกรที่แท้จริงกลับมาขยายตัวได้ 4.1% ต่อปี ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่(VAT) ติดลบ 11.7% ซึ่งยังไม่สะท้อนการบริโภคที่แท้จริง เพราะมีการเลื่อนการจัดเก็บ VAT ของกรมสรรพากรออกไป โดยจะต้องพิจารณาทั้งไตรมาส เพื่อสะท้อนความเป็นจริงด้วย

            ส่วนการส่งออกในเดือน ก.ค. พบว่ามีมูลค่าการส่งออก 188,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 11.4% ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 155,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 26.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  แต่ทั้งนี้เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่า การส่งออกขยายตัว 20.8% จากการขยายตัวต่อเนื่องของสินค้ากลุ่มอาหาร สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน และสินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น ถุงมือยาง เป็นต้น