สัมผัส “ประวัติศาสตร์” ผ่าน AR บทเรียนนอกตำรา ยุคดิจิทัล

28 ส.ค. 2563 | 04:24 น.

“เทคโนโลยี ดิสรัปชั่น” พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ดึงประวัติศาสตร์ ผ่าน “สื่อเสมือนจริง” หรือ “AR” บทเรียนนอกตำรา สำหรับเด็กยุคดิจิทัล

การเรียนในห้องเรียนในยุคนี้อาจจะน่าเบื่อ โดยเฉพาะการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ย่อมน่าเบื่อคูณสอง แต่จะทำอย่างไรให้นักเรียน เรียนได้อย่างสนุก เข้าใจ และรับรู้ประวัติศาสตร์ไปพร้อมกัน ในยุค “เทคโนโลยี ดิสรัปชั่น” จึงต้องรู้จักพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส โดยนำ “เทคโนโลยี” มาใช้ให้เกิดประโยชน์ จึงเป็นที่มาของ “สื่อเสมือนจริง” หรือ “AR” (Augmen ted Reality)

 

นวัตกรรม AR เป็นเทคโนโลยีที่พลิกโลกระหว่างความจริงกับการจำลองให้เข้าร่วมเป็นสิ่งเดียว ผ่านการมองผ่านอุปกรณ์ ทำให้ระบบการเรียนการสอนมีความสนุก ท้าทาย และน่าสนใจ และครูยังสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดการจัดการเรียนในสาระการเรียนรู้อื่นๆ ต่อไปได้

 

การนำ AR เข้ามาใช้ถือเป็นเทรนด์การศึกษาโลกตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา เทคโนโลยี AR เริ่มเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาสื่อการสอนในทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยแพทย์ต่างๆ ที่ใช้ AR ในการสอนวิชากายวิภาค ศาสตร์ เพื่อให้เห็นตำแหน่งและดีเทลต่างๆ ของโครงสร้างร่างกาย รวมไปถึงในสหรัฐอเมริกาที่มีการผสานเทคโนโลยี AR และ VR เข้ากับอุปกรณ์การทดลองวิทยาศาสตร์ เพื่ออธิบายหลักฟิสิกส์ยากๆ ให้เด็กๆ เห็นภาพและเข้าใจได้ง่ายๆ

สัมผัส “ประวัติศาสตร์” ผ่าน AR  บทเรียนนอกตำรา ยุคดิจิทัล

การนำมาพัฒนาในสื่อวิชาประวัติศาสตร์ ถือว่ามีความท้าทายมาก เพราะเป็นการนำเสนอเรื่องราวเหตุการณ์ในอดีต ซึ่งเป็นบทเรียนของปัจจุบันมีความสำคัญเพราะหากเข้าใจในรากฐาน วิวัฒนา การการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในอดีต จะทำให้เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้แก้ปัญหาในปัจจุบันได้

 

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การเรียนแบบท่องจำ จะทำให้เข้าไม่ถึงแก่นแท้ประวัติศาสตร์ และเด็กยุค 2020 ไม่สนใจ การนำเทคโนโลยี AR มาใช้ ในรูปแบบของการหยิบของเก่ามาเล่าใหม่ ในรูปแบบเทคโนโลยีสื่อเสมือนจริง (AR) ผ่าน 3D Animation ที่ตื่นเต้น ท้าทาย ด้วยการพาเด็กๆ นั่งไทม์แมชชีน ย้อนกลับไปในอดีต ซึ่งเป็นที่มาของโครงการพัฒนาสื่อเสมือนจริง (AR) ภายใต้แนวคิด “ภูมิใจภักดิ์ รักษ์ความเป็นไทย เรียนรู้ประวัติศาสตร์ จากธนบัตรอันทรงคุณค่า”

 

เริ่มต้นจากการนำ “ธนบัตรไทย” มาเป็นสื่อการเรียนประวัติ ศาสตร์ ด้วยการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น แล้วสแกนบนธนบัตร ก็จะเกิดเป็นภาพ 3D Animation บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ เพียงสแกนบนธนบัตรมูลค่า 20 , 50 , 100 , 500 และ 1,000 บาท ในจุดที่กำหนด จะเกิดภาพ 3 มิติ นำไปสู่เรื่องราววต่างๆ ซึ่งแต่ละธนบัตรจะมีเรื่องราวแตกต่างกันไป

 

“ธนบัตร 20 บาท จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระบรมมหาราชวังสมัยรัชกาลที่ 1 และเรื่อง “อิเหนา” ตอนบุษบาเดินทางไปรดนํ้ามนต์กับฤาษี ซึ่งเชื่อว่าจะถูกใจเด็กยุคนี้ เพราะเข้าใจง่าย และทำให้เกิดความรู้อย่างยั่งยืนมากกว่าการท่องจำแบบสมัยก่อน ซึ่งโครงการนี้ถูกพัฒนาโดยทีมงานจากมหาวิทยาลัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งทำได้เป็นอย่างดี”

 

นอกจากนวัตกรรมสื่อเสมือนจริง AR แล้ว ยังมีนวัตกรรมอื่นๆ ที่ในโลกการศึกษาต้องพัฒนาและนำมาใช้ เพื่อต่อยอดให้เกิดบทเรียนใหม่ๆ สื่อการสอนใหม่ๆ รวมถึงทักษะใหม่ เช่นเดียวกับโค้ดดิ้ง ที่อนาคตจะเริ่มต้นเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลเลยทีเดียว…