นายกสมาคม TRGMA ดันแชร์ถุงมือยางไทยแตะ 20%

28 ส.ค. 2563 | 02:29 น.

"วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล" STGT ได้รับเป็นนายกสมาคมถุงมือยางฯ สมัยที่ 2 พร้อมวางกลยุทธ์ขยายฐานลูกค้า ชูจุดแข็งคุณภาพและมาตรฐาน มุ่งนำอุตสาหกรรมถุงมือยางไทยเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดโลก จาก 16% ในปัจจุบัน พุ่งสู่ 20%

นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการบริหาร บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT เปิดเผยหลังได้รับเลือกเป็น นายกสมาคมถุงมือยางแห่งประเทศไทยหรือ The Thai Rubber Glove Manufacturers Association (TRGMA) สมัยที่ 2 ว่า อุตสาหกรรมถุงมือยางไทย เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการแข่งขัน ที่สามารถเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดโลกได้ถึง 20% จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 16% ด้วยจุดแข็งด้านคุณภาพและมาตรฐานสินค้าระดับสากลรวมถึงวัตถุดิบน้ำยางที่ส่งเสริมและเพิ่มมูลค่าให้แก่น้ำยางสด ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของไทย ตลอดจนการขยายกำลังการผลิตและการทำการตลาดเชิงรุก

 

ในส่วนของ บมจ. ศรีตรังโกลฟส์ฯ ได้ปรับแผนงานเร่งขยายกำลังการผลิตของ บมจ. ศรีตรังโกลฟส์ฯ ให้เร็วขึ้นอย่างน้อย 1 ปี โดยจะทยอยเพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2564 เป็นต้นไป เป้าหมายคือจะเร่งขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 50,000 ล้านชิ้นต่อปี ให้แล้วเสร็จภายในปี 2566 จากเดิมที่กำหนดไว้ภายในปี 2567 และขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 70,000 ล้านชิ้นต่อปี ให้แล้วเสร็จภายในปี 2569 จากเดิมที่กำหนดไว้ภายในปี 2571 พร้อมกันนี้ จะขยายโรงงานเพิ่มขึ้นเป็น 8 แห่ง จากปัจจุบันที่มี 3 แห่งในพื้นที่ภาคใต้

ส่วนแผนงานขยายกำลังการผลิตในระยะยาวเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 ล้านชิ้นต่อปี กำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2571 โดยเชื่อว่าด้วยความเชี่ยวชาญในธุรกิจถุงมือยาง การพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีในการก่อสร้างและการผลิตที่คิดค้นและพัฒนาโดยทีมวิศวกรของบริษัทฯ จะทำให้บริษัทฯ สามารถเร่งขยายกำลังการผลิตได้อย่างรวดเร็ว

 

ธุรกิจถุงมือยางเป็นธุรกิจที่ต้องใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างมาก เนื่องจากถุงมือยางคือสัมผัสแรก ที่จะได้รับรู้และช่วยปกป้องเราไปพร้อมกับทุกช่วงเวลาในการดำเนินชีวิต ดังนั้นกระบวนการผลิตแต่ละส่วนทั้งในส่วนวัตถุดิบ กระบวนการผลิต จนถึงการบริหารจัดการต่างๆ จะมีรายละเอียดที่ต้องดูแลเป็นอย่างดี เพราะทุกส่วนจะส่งผลถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์และสุขอนามัยที่ดีต่อผู้ใช้งาน นั่นหมายถึงการที่เราจะสร้างโรงงานผลิตถุงมือยางขึ้นแต่ละแห่ง นอกจากเงินทุนแล้ว คุณสมบัติเบื้องต้นคือจะต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในเรื่องถุงมือยางเป็นอย่างดี 

นอกจากนี้ ยังต้องมีเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยอยู่เสมอ สามารถผลิตถุงมือยางได้อย่างมีคุณภาพ ผ่านมาตรฐานการควบคุมทางการแพทย์จากหน่วยงานของรัฐในแต่ละประเทศ เพื่อแข่งขันกับบริษัทคู่แข่งในตลาดโลกได้ ดังนั้นหากขาดคุณสมบัติข้อใดไปอาจจะทำให้ธุรกิจถุงมือยางไปไม่ถึงฝันได้ บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ฯ จึงมั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการขยายกำลังการผลิตและทำให้บริษัทฯ เติบโตขึ้นได้อย่างแน่นอน