เตือน 19 จังหวัด รับมือน้ำหลาก ดินถล่ม 28 ส.ค. -2 ก.ย.

27 ส.ค. 2563 | 13:44 น.

กอนช.เตือน 19 จังหวัด เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำหลาก ดินถล่ม น้ำล้นตลิ่ง วันที่ 28 ส.ค.-2 ก.ย. สั่งทุกหน่วยงานพร้อมรับมือ 24 ชั่วโมง

เตือน 19 จังหวัด รับมือน้ำหลาก ดินถล่ม 28 ส.ค. -2 ก.ย.

 

นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ  เลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ตามที่ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์สภาพอากาศ อิทธิพลของร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศเมียนมา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนจะเลื่อนลงมา พาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งอิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ส่งผลให้ทุกภาคของประเทศ มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 28 สิงหาคม – 2 กันยายน 2563

 

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินสถานการณ์น้ำหลากจากฝนคาดการณ์ ของกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) รวมทั้งติดตามประเมินสถานการณ์น้ำในลำน้ำ ซึ่งจะมีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำหลากดินถล่มและน้ำล้นตลิ่ง ดังนี้  พื้นที่เฝ้าระวังน้ำหลากดินถล่ม น้ำท่วมฉับพลัน บริเวณพื้นที่ลาดชันเชิงเขา  มี 19 จังหวัด  ช่วงวันที่  29-30 สิงหาคม 2563  บริเวณ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ลำปาง พะเยา น่าน ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย นครนายก และปราจีนบุรี และ  ช่วงวันที่ 31  สิงหาคม – 2 กันยายน 2563  บริเวณ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่  น่าน ตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก จันทบุรี ตราด พังงา และกระบี่

 

 

 

พื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่ง ในช่วงวันที่ 29 สิงหาคม – 3 กันยายน  2563  แม่น้ำยม บริเวณอำเภอเมือง จังหวัดแพร่ อำเภอศรีสัชนาลัย สวรรคโลก ศรีสำโรง เมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย อำเภอกงไกรลาศ บางระกำ จังหวัดพิษณุโลก แม่น้ำน่าน บริเวณอำเภอท่าวังผา เมือง เวียงสา จังหวัดน่าน ลำน้ำปาด บริเวณอำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ แม่น้ำป่าสัก บริเวณอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ลำน้ำห้วยหลวง บริเวณอำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี แม่น้ำสงคราม บริเวณอำเภออากาศอำนวย บ้านม่วง จังหวัดสกลนคร และระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แม่น้ำโขง บริเวณจังหวัดเชียงราย เลย และหนองคาย

 

 

เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้ ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และแม่น้ำที่มีระดับน้ำสูง รวมทั้งพื้นที่ที่ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมขังอยู่ ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและกลับมาเอ่อล้นตลิ่ง  เตรียมแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก และประกาศแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ลาดชันเชิงเขา ที่ราบลุ่มต่ำริมลำน้ำ ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เพื่อช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที พร้อมติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมชุมชน รวมทั้งวางแผนการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 เพื่อเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากและลดผลกระทบบริเวณท้ายน้ำ

 

ข่าวเกี่ยวข้อง

จับตา “พายุหมุนเขตร้อน”

สำเนา

เตือน 19 จังหวัด รับมือน้ำหลาก ดินถล่ม 28 ส.ค. -2 ก.ย.