“TPIPP” ทุ่ม 3 แสนล้านยกระดับ "จะนะ" สู่ "สมาร์ทซิตี้"

26 ส.ค. 2563 | 08:20 น.

"TPIPP" พร้อมผลักดัน "จะนะ" ให้เป็นต้นแบบเมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ชูแผนลงทุน 4 กลุ่มอุตสาหกรรม เน้นย้ำรูปแบบการพัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรมสะอาด

นายภัคพล  เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ หรือ “TPIPP” รับผิดชอบสายบัญชีและการเงิน เปิดเผยว่า บริษัทฯ พร้อมเดินหน้าแผนลงทุนโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Southern Seaboard) หรือเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โดยเน้นย้ำรูปแบบการพัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรมสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดทั้งทางบก-ทางทะเล และคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย พร้อมสนับสนุนภาครัฐ รองรับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนในระบบเศรษฐกิจและสังคม

              ทั้งนี้ TPIPP ได้กำหนดแผนลงทุน 4 กลุ่มอุตสาหกรรม มูลค่าลงทุนกว่า 3 แสนล้านบาท เพื่อยกระดับอำเภอจะนะให้เป็นสมาร์ทซิตี้ ศูนย์กลางอุตสาหกรรมยุคใหม่ กระจายสู่อาเซียน ประกอบไปด้วย 1.อุตสาหกรรมสมัยใหม่และเทคโนโลยีแห่งอนาคต อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยี, อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักรรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

นายภัคพล  เลี่ยวไพรัตน์

2.เมืองอัจฉริยะ (smart city) อาทิ ศูนย์กลางอุตสาหกรรมดิจิทัล, ศูนย์กลางอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร, ศูนย์การฝึกและพัฒนาอาชีพ และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จและที่พักอาศัย ,3.ท่าเรือน้ำลึกและศูนย์กลางการขนส่งและกระจายสินค้า และ4.ศูนย์อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าสะอาด อาทิ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม, พลังงานแสงอาทิตย์ และแก๊สธรรมชาติ (LNG) ฯลฯ

อย่างไรก็ดี TPIPP เตรียมการเจรจาการลงทุนในรูปแบบร่วมทุน (Joint Venture) กับผู้สนใจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งมีนักลงทุนหลายรายได้แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการเหล่านี้ ขณะนี้กำลังรอใบอนุญาตจากหน่วยงานราชการต่าง ๆ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ได้มีมติเร่งรัดหน่วยงานราชการ และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจให้เร่งรัดให้ความร่วมมือกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ “ศอ.บต.” เพื่อให้โครงการเหล่านี้สัมฤทธิ์ผลโดยเร็ว

จากการศึกษาโครงการเหล่านี้ คาดว่าแต่ละโครงการจะมี IRR ประมาณ 15% ซึ่งจะทำให้รายรับของ TPIPP ดีขึ้นมากในอนาคตเมื่อทำโครงการสำเร็จ และจะทำให้จีดีพี (GDP) ของประเทศโตขึ้น โดยบริษัทฯ สัญญาจะช่วยเหลือสังคมให้การว่าจ้างแรงงานในท้องถิ่น ให้ทุนการศึกษา และให้ทุนพัฒนาการศึกษาให้ก้าวหน้า พร้อมเครื่องมือสำหรับการศึกษาพัฒนานักศึกษา ให้กองทุนพัฒนาสังคม เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ สร้างความเข้าใจในหมู่ชาวบ้านให้เกิดความสงบสุขให้ชาวบ้านอยู่ดีมีสุข

นายปรกฤษฏ์ เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ TPIPP รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า ภาพอุตสาหกรรมในอนาคตได้เปลี่ยนแปลงไปแทนที่จะเป็นอุตสาหกรรมหนักอย่างโรงกลั่นปิโตรเคมี โรงถลุงเหล็ก จะเปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรมไฟฟ้าสะอาดและอุปกรณ์เครื่องจักรที่เกี่ยวกับเครื่องจักรผลิตไฟฟ้าสะอาด เช่น อุปกรณ์ Wind Turbine, Solar Cells, Solar Pannels, รถ EV และแบตเตอรี่ไฟฟ้า

นอกจากนี้จะมีอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร การแปรรูปสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราเป็นอุตสาหกรรมที่จะต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากภาคใต้ถือเป็นแหล่งวัตถุดิบยางพาราและสินค้าเกษตรชั้นดี แต่ที่ผ่านมาการแปรรรูปและเพิ่มมูลค่ายางพาราและสินค้าเกษตรจะอยู่ในภาคตะวันออกเป็นหลัก เพราะนักลงทุนไม่พร้อมที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ภาคใต้เนื่องจากไม่มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ก่อให้เกิดปัญหาราคายางพารา ปาล์ม และสินค้าการเกษตรอื่น ๆ ผันผวน ซึ่งหลังจากนี้จะต้องใช้นวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามาบริหารจัดการ

อย่างไรก็ตาม ในสวนอุตสาหกรรม TPIPP จะจัดให้มีการลงทุนในรูปของการร่วมทุนในอุตสาหกรรมทางเทคโนโลยี อิเล็กทรอนิกส์ โรงไฟฟ้าทางเลือก อุปกรณ์รถไฟฟ้า แบตเตอรี่ไฟฟ้า อุปกรณ์เดินเรือ และเครื่องบิน อุตสาหกรรมแปรรูปยาง น้ำมันปาล์ม สินค้าเกษตร ปศุสัตว์ สินค้าฮาลาล เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีอาหารทางการแพทย์ จะเป็นอุตสาหกรรมหลักที่เกิดขึ้นในอำเภอจะนะ ซึ่งจะกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์แบบครบวงจร สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ประเทศไทยก้าวเป็นศูนย์กลางสุขภาพทางการแพทย์นานาชาติ (เมดิคอลฮับ)

และในภายภาคหน้าจะนะ สามารถก้าวเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน ของอาเซียนตอนล่าง ต่อยอดไปสู่การเป็นศูนย์กลางการศึกษาและพัฒนาอาชีพบุคลากร เพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้น ซึ่งสิ่งที่จะตามมาคือการพัฒนาที่อยู่อาศัย โรงแรม รีสอร์ท มีศูนย์ราชการที่เป็นสมาร์ทซิตี้ อาคารพาณิชย์ เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อการค้า และการเงินนานาชาติ

              ด้านโครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรมที่สนับสนุนการขนส่ง ท่าเรือน้ำลึก ที่อำเภอจะนะ จะกลายเป็นท่าเรือน้ำลึกแห่งที่สองของจังหวัดสงขลา มีทั้งแบบ Container แบบเทกองและเชื้อเพลิงเหลว ซึ่งจะช่วยรองรับการขนส่งวัตถุดิบต่าง ๆ เข้ามา รวมถึงการส่งออกวัตถุดิบหรือสินค้าสำเร็จรูปไปยังพื้นที่อื่น ๆ รองรับการเติบโตในอนาคต และในส่วนอุตสาหกรรมขนส่งระบบราง ซึ่งในอนาคตจะเชื่อมต่อประเทศไทยไปยังอาเซียน และจะต้องมีอุตสาหกรรมรองรับการพัฒนาทั้งรางหัวรถจักร เป็นต้น ซึ่งประเทศไทยยังต้องนำเข้าอุปกรณ์อยู่ทั้งที่มีความต้องการในประเทศและในอาเซียนสูง

              การพัฒนาอุตสาหกรรมทุกรูปแบบจะต้องมีพลังงานสะอาดมารองรับ ทั้งพลังงานจากขยะ ลม โซล่าร์ รวมถึงการผลิตแบตเตอรี่ จากข้อมูลปัจจุบันพบว่า พื้นที่ภาคใต้เป็นพื้นที่ที่ยังต้องนำเข้าพลังงานจากส่วนกลางหรือจากประเทศมาเลเซีย เนื่องจากยังไม่มีโรงไฟฟ้าเพียงพอ ทั้ง ๆ ที่ศักยภาพของภาคใต้มีอยู่มหาศาลประกอบกับเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้า (EV cars) ที่มีแนวโน้มจะเข้ามาแทนที่รถยนต์น้ำมัน เนื่องจากมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่ามาก ซึ่งด้วยปัจจัยทั้งหลายทำให้ความต้องการไฟฟ้าในภาคใต้ต้องโตอย่างก้าวกระโดด โดย TPIPP พร้อมจะเป็นผู้ลงทุนพัฒนาธุรกิจพลังงานสะอาดทุกชนิดและเชิญผู้ร่วมลงทุนจากประเทศต่าง ๆ เข้ามาช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต เพื่อความอยู่ดีมีสุขพร้อมเสถียรภาพและความมั่นคงของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามนโยบายความมั่นคงของรัฐบาล

              ในช่วงที่ผ่านมา ครม.มีมติอนุมัติเห็นชอบกับโครงการดังกล่าวข้างต้นแล้ว และเร่งรัดให้หน่วยราชการ และรัฐวิสาหกิจ ให้ความร่วมมือกับ ศอ.บต. เพื่อให้โครงการเหล่านี้สัมฤทธิ์ผลโดยเร็วตามนโยบายความมั่นคงของรัฐบาล โดย ศอ.บต. ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นใน “โครงการจะนะ เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” พร้อมนำเสนอทิศทางการพัฒนา และกรอบแนวทางการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะกิจฯ แผนการลงทุน และกำหนด (ร่าง) ผังการใช้ประโยชน์ที่ดินตามแผนการลงทุนของภาคเอกชน

พร้อมเปิดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและข้อเสนอแนะของประชาชน เกี่ยวกับการขับเคลื่อนโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะกิจฯ เพื่อให้คนในพื้นที่ได้รับรู้และเข้าใจถึงสิ่งที่ภาครัฐและเอกชน ตั้งใจพัฒนาให้เกิดความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งในงานดังกล่าว มีตัวแทนชาวบ้านและชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่จริงเข้ามารับฟังกว่าสองพันราย และได้ยืนยันร่วมสนับสนุนโครงการ เนื่องจากต้องการเห็นการพัฒนาพื้นที่เพื่อลูกหลานในอนาคต อันได้แก่โครงการต้นแบบเมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าในอนาคต ซึ่งประกอบด้วย

โครงการโรงไฟฟ้า 3,700 MW, 1,700 MW จาก LNG นำเข้า 1,000 MW จากพลังงานลม 800 MW จากพลังแสงอาทิตย์ 200 MW จากชีวมวลและหรือขยะเทศบาล ท่าเทียบเรือน้ำลึก LNG และเชื้อเพลิงเหลวท่าเทียบเรือแบบเทกอง และ Container สวนอุตสาหกรรม 16,753 ไร่ และสมาร์ทซิตี้