"เคอรี่ เอ็กซ์เพรส"ยื่นไฟลิ่งขาย IPO 300 ล้านหุ้น

26 ส.ค. 2563 | 03:31 น.

"เคอรี่ เอ็กซ์เพรส"ยื่นไฟลิ่งขาย IPO 300 ล้านหุ้น เข้า SET ใช้ขยายเครือข่ายจัดส่งพัสดุ-คืนหนี้

 บมจ.เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน (Filling) ฉบับแรกต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 300,000,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 17.2% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO และจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) โดยมี บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) และ ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

 เคอรี่ เอ็กซ์เพรส เป็นผู้ให้บริการจัดส่งพัสดุครบวงจรและครอบคลุมในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการให้บริการลูกค้าในกลุ่มภาคธุรกิจการจัดส่งพัสดุแบบบุคคล-ส่งถึง-บุคคล (C2C) ภาคธุรกิจการจัดส่งพัสดุแบบธุรกิจ-ส่งถึง-บุคคล (B2C) และภาคธุรกิจการจัดส่งพัสดุแบบธุรกิจ-ส่งถึง-ธุรกิจ (B2B) บริษัทให้บริการจัดส่งพัสดุด่วนภาคเอกชนผ่านเครือข่ายทั่วประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ราคาทอง" ร่วง 2 วันติด ลดลงอีก 16.1 ดอลลาร์

ดาวโจนส์ ปิดลบ 60.02 จุด ขณะที่ Nasdaq ทำนิวไฮรับแรงซื้อหุ้นเทคโนโลยี

ตลาดหุ้นเอเชีย เปิดผันผวน นักลงทุนผิดหวังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ        

ทั้งนี้ พัสดุที่จัดส่งโดยทั่วไปจะมีน้ำหนักไม่เกิน 25 กิโลกรัม สามารถจัดส่งได้ภายในวันเดียวกันหรือภายในวันถัดไป โดยพัสดุหลัก ได้แก่ สินค้าที่มีการสั่งซื้อผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ และผู้ค้าปลีกออนไลน์ พัสดุที่ส่งระหว่างบุคคล และพัสดุและเอกสารของบริษัทต่าง ๆ ปริมาณรวมของพัสดุที่จัดส่งประจำปีของบริษัทมีอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) ตั้งแต่ปี 57 ถึงปี 62 เท่ากับ 134.9% และปริมาณพัสดุที่จัดส่งสูงกว่าผู้ให้บริการภาคเอกชนรายใหญ่สุดอันดับ 2 และอันดับ 3 ที่ 3.9 เท่า และ 11.0 เท่า ตามลำดับ (ไม่รวม บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด)

การระดมทุนครั้งนี้ บริษัทมีวัตถุประสงค์นำเงินไปใช้ขยายเครือข่ายจัดส่งพัสดุด่วน โดยมีแผนการลงทุนเพื่อรองรับการขยายตัวทางธุรกิจ ได้แก่ การเช่าพื้นที่เพื่อเพิ่มจำนวนศูนย์คัดแยกพัสดุ จุดให้บริการ และศูนย์กระจายพัสดุแห่งใหม่ รวมถึงการซื้อและติดตั้งอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบกิจการ เพื่อตอบสนองความต้องการของการบริการจัดส่งพัสดุด่วนที่เพิ่มขึ้น ส่วนที่เหลือจะใช้ชำระหนี้คืนแก่ธนาคาร และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
          

บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 30% ของกำไรสุทธิของงบการเงินเฉพาะกิจการ หลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และหลังหักเงินสำรองต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนดในแต่ละปี โดยจำนวนเงินปันผลที่จ่ายจะต้องไม่เกินกว่ากำไรสะสมของงบการเงินเฉพาะกิจการ