“ประมง” ตั้งทีมเจรจารัฐบาลยุติปัญหา

25 ส.ค. 2563 | 13:35 น.

เปิด 11 อรหันต์ เจรจารัฐ หวังยุติปัญหาประมง ยื้อ 6 ปี โดยไม่สนใจความอยู่รอดของชาวประมง ชี้หากไม่สำเร็จ จำเป็นต้องเลิกอาชีพ

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2563 สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย มติเรียกร้องขอให้ปรับแก้ไขพระราชกำหนดการประมง ให้เป็นพระราชบัญญัติการประมง และนำเข้าสู่สภาโดยเร็ว โดยการมีส่วนร่วมของชาวประมงทุกภาคส่วน และขอให้มีการตั้งคณะทำงานโดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ไม่ใช่คณะทำงานชุดปัจจุบัน และจะเข้าพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในวันที่ 28 ส.ค.นี้  หาก 7 วัน หลังจากเข้าพบรัฐมนตรีแล้วยังไม่มีการตอบรับ จะเคลื่อนไหวขั้นต่อไป ด้วยการเดินเท้ามุ่งเข้าทำเนียบรัฐบาล ทันที

 

กำจร มงคลตรีลักษณ์

 

นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ในที่ประชุมการตั้งคณะทำงาน 11 คน เพื่อเป็นผู้กำหนดมาตรการขับเคลื่อน วางแผน และเจรจากับรัฐบาลภายใต้กรอบที่ประชุมได้วางไว้ ได้แก่ 1. ผม กำจร  มงคลตรีลักษณ์  2.นายมงคล สุขเจริญคณา 3.นายบุญชู แพใหญ่ 4.นายพรศักดิ์ แย้มกลิ่น  5. นายสุรเดช นิลอุบล 6.นายสมทรัพย์ จิตติธัม 7.นายธนกร ถาวรชินโชติ 8.นายพิชัย แซ่ซิ้ม 9.นายชินชัย สถิรยากร 10.นางอันน์เกตุ ลีลาไพบูลย์ และ 11. นายคเชนทร์ สุขเกษม

 

ทั้งนี้การแถลงการณ์เรื่องการ "เลิกอาชีพประมง" เนื่องจากรัฐบาลออกกฎหมาย ระเบียบต่างๆ มาบังคับใช้กับชาวประมงเพื่อแก้ไขปัญหา IUU มากว่า 6 ปี แล้ว แต่ปัจจุบันชาวประมงไปต่อไม่ไหวแล้วเพราะยังมีการออกกฎ ระเบียบ บังคับ ใช้มาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อใดก็ตามที่ต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป (อียู) หรือสหรัฐอเมริกา ให้ความเห็น ติเตียน หรือ ทักท้วงมา ทางรัฐบาลก็จะตื่นตัวและกลับมาสร้างกฎ เงื่อนไขต่างๆนานา เพื่อตอบสนองความต้องการของต่างชาติเสมอ

 

 

ดังนััน ชาวประมงจึงจำเป็นต้องเลิกอาชีพ และรัฐบาลต้องชดใช้ เยียวยา ด้วยการรับซื้อเรือประมงไปพร้อมทั้งเครื่้องมือทำประมงในราคา 100% เพราะมาตรการของรัฐได้ทำลายอาชีพของชาวประมงทั้งประเทศโดยไม่ได้รับการเหลียวแล แต่ถ้ารัฐบาลยังมองเห็นความสำคัญ ก็ขอให้แก้ไขกฎหมาย ผ่อนคลายกฎ ระเบียบที่ไม่เป็นธรรมโดยเร็ว