เศรษฐกิจไทยติดหล่ม ‘Over Saving’ เสี่ยงเติบโตช้าเป็นรูปตัว L อาจลากยาว

19 เม.ย. 2559 | 02:30 น.
แบงก์ซีไอเอ็มบี ไทย เตือนเศรษฐกิจไทยเสี่ยงเติบโตช้าเป็นรูปตัว L อาจลากยาว ชี้จับตาภาวะ "Over Saving" คนไทยระดับกลาง-บนเก็บเงินสด กดดันการบริโภคไทยต่ำ ลั่นหากลากยาวจีดีพีไทยโตไม่เกิน 3% พร้อมเผยธนาคารลดดอกเบี้ย ไม่ช่วยการลงทุน เหตุติดกับดักสภาพคล่อง-ขาดดุลความเชื่อมั่น แนะรัฐออกมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ดึงคนใช้จ่าย-ปรับไส้ในหนี้ครัวเรือน เน้นคุณภาพสินทรัพย์ ทางแก้ปัญหา

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า สิ่งที่ต้องจับตามองนับจากนี้จนถึงปี 2560 คือการที่ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาการบริโภคที่เติบโตช้ามาต่อเนื่องหลายปี โดยขยายตัวต่ำกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขยายตัว 3% แต่ตัวเลขการบริโภคมีอัตราต่ำกว่า 3% รวมถึงการลงทุนที่ไม่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากภาวะที่เรียกว่า "Over Saving"

ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงมาจากคนระดับกลางและบนที่พอมีรายได้เหลือ แต่ไม่นำมาใช้ในการบริโภคหรือลงทุน แต่เป็นการเก็บเงินออมไว้ แม้ว่าจะมีหลายประเทศที่มีลักษณะนี้เกิดขึ้นมาก่อน เช่น ประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ ที่มีการออมค่อนข้างเยอะ แต่ประเทศเหล่านี้ยังมีการลงทุนอยู่ และมีการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง หากเทียบกับไทยที่มีการลงทุนบ้าง แต่ยังเป็นการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน และเป็นสัดส่วนที่ยังน้อย ภายใต้จีดีพีที่ขยายตัวไม่มากนัก ทำให้เงินออมยังอยู่ในประเทศ จนเกิดเป็นภาวะ "กับดักสภาพคล่อง"

ดร.อมรเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายใต้ "กับดักสภาพคล่อง" ที่เกิดขึ้น เกิดจากสภาพคล่องที่ล้นระบบ แม้ว่าจะเห็นธนาคารพาณิชย์ทยอยปรับลดดอกเบี้ยลง เชื่อว่าจะยังไม่มีผลต่อการเติบโตของสินเชื่อ เนื่องจากคนก็ยังมองว่าเศรษฐกิจไม่ดี และไม่มีความมั่นใจที่จะใช้จ่ายหรือลงทุน ส่งผลให้ยิ่งออมเงินไว้กับตัวเอง ตลอดจนธนาคารพาณิชย์เองก็ให้ความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ เพราะปัญหาหนี้เสียที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ทำให้ธนาคารให้ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยลดลง ทำให้ต้นทุนการเงินปรับลดลง แต่ยังไม่มีแรงจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุน หรือเรียกว่า "ขาดดุลความเชื่อมั่น" เพราะสิ่งที่นักลงทุนเอกชนต้องการ คือ เรื่องของตลาดการส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัวจากสภาพเศรษฐกิจต่างประเทศ และปัญหาการผลิตของไทยที่อาจจะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างได้ในอนาคต ดังนั้น การปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้ ถือเป็นการประคับประคองเศรษฐกิจในระยะสั้น ไม่ได้เป็นการกระตุ้นในระยะยาว

ดังนั้น หากสถานการณ์ที่การบริโภคยังไม่มา การลงทุนไม่เกิด ภายใต้ภาวะเกินดุลบัญชีเดินสะพัด เป็นสถานการณ์ที่ต้องจับตามอง เพราะเป็นความไม่สมดุลของระบบเศรษฐกิจ และหากสถานการณ์ลากยาวต่อเนื่อง จะเห็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในลักษณะรูปตัวแอล (L) ที่ไม่รู้ว่าเศรษฐกิจจะสามารถฟื้นตัวได้เมื่อไร ซึ่งน่ากลัวกว่าการฟื้นตัวในลักษณะตัววี (V) ที่เจ็บตัวหรือดิ่งตัวเพียงชั่วครู่และฟื้นตัวได้เร็ว แต่ขณะที่ตัวแอลจะมีลักษณะลากยาว ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจไทยอย่างแน่นอน เพราะหากลากยาวจนเกินไป คนหยุดบริโภค ภาคเอกชนหยุดลงทุน จะก่อให้เกิดเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่จะแก้ไขได้ยากในอนาคต อาจทำให้ประเทศไทยถูกตัดออกจากวงจรห่วงโซ่ของโลกได้ และจะกดดันให้เศรษฐกิจไทยไม่สามารถขยายตัวได้เกินระดับ 3% ได้ในอนาคต

"เราเริ่มเห็นสัญญาณการบริโภคที่ต่ำ การลงทุนไม่ขยาย และเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาประมาณ 3 ปีแล้ว นับตั้งแต่ปี 2556 เพราะปกติในอดีตหากแบงก์ลดดอกเบี้ยจะเห็นการลงทุนที่มากขึ้น แต่ปัจจุบันสถานการณ์ไม่ได้ส่งสัญญาณแบบนั้น ซึ่งเป็นภาวะ Saving Investment Gap เกิดภาวะไม่ลงทุน และสภาพคล่องล้น ความเชื่อมั่นลดลง แต่คาดว่าภายในครึ่งหลังของปี 2560 สถานการณ์จะดีขึ้น หลังจากมีการเลือกตั้ง เสถียรภาพทางการเมืองดีขึ้น การส่งออกฟื้นตัว ทำให้นักลงทุนเกิดการลงทุนมากขึ้น แต่หากความเชื่อมั่นยังไม่เกิดยังจะเห็นคนเก็บเงินไว้ในมืออยู่ ซึ่งไม่ดีนัก" ดร.อมรเทพกล่าวและว่า

อย่างไรก็ดี การแก้ไขปัญหา "Over Saving" ที่เกิดจากคนระดับกลางและระดับบนที่มีเงินเหลือแต่ไม่นำออกมาใช้จ่าย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งการแก้ปัญหาจะต้องหาวิธีการงัดเงินของกลุ่มคนเหล่านี้ให้นำออกมาใช้ โดยผ่านมาตรการภาครัฐช่วยเข้ามาสนับสนุน โดยเฉพาะมาตรการด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ยังสามารถกระตุ้นได้และไม่ก่อให้เกิดเป็นความเสี่ยงต่อระบบ เพราะหากดูข้อมูลหนี้ครัวเรือนของไทยแม้ว่าจะน้อยกว่าประเทศมาเลเซีย แต่คุณภาพหนี้มีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก โดยไทยมีหนี้คุณภาพที่เป็นในส่วนของสินทรัพย์ที่อยู่อาศัยยังค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นหนี้ที่เกิดจากสินเชื่อรถยนต์จากโครงการรถคันแรก และสินเชื่อส่วนบุคคลหรือบัตรเครดิต ซึ่งเมื่อเทียบคุณภาพของสินเชื่อ จะเห็นว่าหนี้ด้านอสังหาริมทรัพย์จะมีคุณภาพดีกว่า

ดังนั้น ไทยจะต้องมีการปรับเปลี่ยนไส้ในของหนี้ครัวเรือนให้มาเป็นอสังหาริมทรัพย์ โดยที่สัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือนไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากนัก เพื่อกระตุ้นให้คนนำเงินออกมาใช้จ่ายมากขึ้นแทนการเก็บไว้ โดยมาตรการที่จะมาช่วยกระตุ้นด้านอสังหาริมทรัพย์ เช่น การต่ออายุมาตรการโอนหรือลดค่าธรรมเนียมและปรับภาษีพร็อพเพอร์ตี้ ตลอดจนภาครัฐจะต้องเร่งการลงทุนในโครงการต่างๆ ให้ทันเวลา ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นการบริโภคใช้จ่าย ลดการเกิด Over Saving ได้โดยไม่เป็นความเสี่ยง ทั้งนี้ ปัจจุบันสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ 81% คาดว่าสิ้นปีจะเพิ่มขึ้นเป็น 82-83% แต่การปรับขึ้นจะใช้เวลา 1-2 ปี

"ตอนนี้คนระดับล่างมีปัญหาหนัก ไม่ควรกระตุ้นมาก แต่ควรหันไปกระตุ้นคนระดับกลางและระดับบนที่มีการออมมากเกินไป ทำให้การบริโภคลดต่ำลง รัฐบาลจึงควรกระตุ้นกลุ่มนี้มากขึ้น โดยเฉพาะกระตุ้นในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสินทรัพย์คุณภาพ ซึ่งนอกจากกระตุ้นให้เกิดการบริโภคและยังไม่เป็นความเสี่ยงต่อหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น เพราะเป็นสินทรัพย์ที่มีคุณภาพและราคามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เมื่อเทียบกับสินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อส่วนบุคคลที่คุณภาพเสื่อมถอยลง"

Photo : Pixabay

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,148 วันที่ 14 - 16 เมษายน พ.ศ. 2559