TIJ เผยคดี“บอส อยู่วิทยา"ฉุดความเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรม

24 ส.ค. 2563 | 12:45 น.

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย เผยผลสำรวจคดี “บอส อยู่วิทยา” พบความเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรมลด ส่วนใหญ่รู้สึกไม่ดี ดูเหมือนถูกแทรกแซง ไม่พอใจก.ม.ไม่บังคับใช้เสมอภาค

วันที่ 24 ส.ค.63 ที่อาคารจีพีเอฟ ถนนวิทยุ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ได้เผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นกรณีการดำเนินคดีต่อนายวรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลัง ขับรถชนตำรวจเสียชีวิต จนเกิดกระแสความไม่พอใจต่อกระบวนการยุติธรรม โดยมีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามทางออนไลน์ทั้งสิ้น 4,008 คน ซึ่งในจำนวนนี้ 2,056 คน อ้างว่ามีประสบการณ์ในกระบวนการยุติธรรมด้วย

 

โดยค่าความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมก่อนคดีนี้อยู่ที่ 2.4 แต่หลังจากทราบรายละเอียดของคดีค่าเฉลี่ยลดลงอยู่ที่ 0.99 ซึ่งมี 45.78% แสดงความเห็นไม่เชื่อมั่น

 

ขณะที่เรื่องที่รู้สึกไม่ดีในคดีดังกล่าว 5 อันดับแรก พบว่า 65.59% รู้สึกไม่ดีกับการทำสำนวนคดีที่ยืดระยะเวลาออกไปอย่างไม่มีเหตุสมควร รองลงมา 65.29% รู้สึกไม่ดีกับการที่คดีนี้ดูเหมือนมีการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองและอิทธิพลของกลุ่มนายทุน 44.31% รู้สึกไม่ดีกับการพบสารเสพติดในเลือดของผู้ต้องหาแต่ไม่ได้ตั้งข้อกล่าวหาเกี่ยวกับสารเสพติดนั้น 41.39% รู้สึกไม่ดีกับการมีพยานบุคคลเพิ่มเติมหลังจากผ่านไปหลายปีมาหักล้างความผิดโดยไม่มีการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของพยานที่เหมาะสม และ 33.21% รู้สึกไม่ดีกับการที่สุดท้ายตำรวจไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการทำให้คดีสิ้นสุดอย่างรวดเร็ว

 

เมื่อถามถึงประเด็นที่ไม่พอใจมากที่สุด 56.76% กฏหมายไม่ได้บังคับใช้กับประชาชนทุกคนอย่างเสมอภาคเพราะกระบวนการยุติธรรมถูกซื้อได้ด้วยเงินและอำนาจ 24.88% การที่เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมดูเหมือนจะร่วมมือกันในการหาทางออกให้ผู้ต้องหา หรือหาคำอธิบายการกระทำของตนมากกว่าพยายามค้นหาข้อเท็จจริง 13.02% ทั้งตำรวจและอัยการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องในการอำนวยความยุติธรรม 2.3% ตำรวจปฏิบัติหน้าที่บกพร่องในการอำนวยความยุติธรรม 1.82% อัยการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องในการอำนวยความยุติธรรม และ 1.22% อื่นๆ

 

ขณะที่ 96.13% คาดหวังให้มีการสอบสวนผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และหากพบว่ามีการร่วมบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมต้องมีการดำเนินคดี 95.51% คาดหวังให้มีการสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการสั่งคดีว่ามีพฤติกรรมละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ 94.26% คาดหวังให้มีการนำตัวผู้ต้องหากลับมารับโทษได้ หากศาลพิจารณาแล้วว่ามีความผิดจริง 93.59% คาดหวังให้มีการรื้อสำนวนใหม่และนำคดีเข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาลให้ครบถ้วน ทั้งความผิดเกี่ยวกับการประมาทที่ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและการเสพยาเสพติด 89.05% คาดหวังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงของคดีให้ชัดเจนและโปร่งใสจนประชาชนเข้าใจ และ 71.31% คาดหวังให้ศาลตัดสินว่าผู้ต้องหามีความผิดจริง

 

ทั้งนี้ 94.56% เห็นว่าสังคมควรแสดงความเคลื่อนไหวในคดีนี้ โดย 77.7% ต่อต้านการคอร์รัปชันในกระบวนการยุติธรรมทุกรูปแบบ 68.42% เรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบจัดการกับความไม่โปร่งใสในกระบวนการยุติธรรม 65.09% หาทางเรียกร้องหรือสนับสนุนให้มีการปฏิรูปองค์กรตำรวจ และ 64.96% หาทางเรียกร้องหรือสนับสนุนให้มีการปฏิรูปองค์กรอัยการ

 

เมื่อถามถึงการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม 74.63% เชื่อว่าเป็นไปได้ที่คดีนี้จะทำให้ภาคประชาชนสนใจตรวจสอบกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น 61.81% เชื่อว่าเป็นไปได้ที่คดีนี้จะตีแผ่ให้เห็นอำนาจอื่นที่แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม 55.2% เชื่อว่าเป็นไปได้ที่คดีนี้จะทำให้ภาคประชาชนเข้าใจบทบาทของกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น 54.23% เชื่อว่าอาจเป็นไปได้ที่คดีนี้จะทำให้คนในกระบวนการยุติธรรมทำงานอย่างโปร่งใสขึ้น

 

52.33% เชื่อว่าอาจเป็นไปได้ที่คดีนี้จะทำให้มีการปฏิรูประบบงานบางอย่างในชั้นศาล 51.78% เชื่อว่าอาจเป็นไปได้ที่คดีนี้จะทำให้มีการปฏิรูประบบงานบางอย่างในชั้นอัยการ 48.5% เชื่อว่าอาจเป็นไปได้ที่คดีนี้กระบวนการยุติธรรมจะระมัดระวังไม่ให้มีการแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่จากบุคคลภายนอกได้ 48.46% เชื่อว่าอาจเป็นไปได้ที่คดีนี้กระบวนการยุติธรรมจะเปิดช่องให้ประชาชนมีส่วนในการตรวจสอบขั้นตอนต่างๆ ได้ง่ายขึ้น และ 47.46% เชื่อว่าอาจเป็นไปได้ที่คดีนี้จะทำให้มีการปฏิรูประบบงานบางอย่างในชั้นตำรวจ

 

เมื่อถามถึงบทลงโทษจำคุกและปรับกรณีขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายเหมาะสมแล้วหรือไม่ 64.19% มองว่าเหมาะสมแล้ว 29.83% มองว่าควรมีมาตรการลงโทษรูปแบบอื่น และ 5.98% อื่นๆ และเมื่อถามว่าการใช้โทษจำคุกอาจไม่จำเป็นสำหรับผู้ที่ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิตในกรณีใด 76.17% ผู้กระทำผิดรู้สึกสำนึกผิดอย่างแท้จริง แสดงความรับผิด ไม่หนีคดี ให้ความร่วมมือในกระบวนการยุติธรรม 66.91% ผู้กระทำผิดพยายามเยียวยาความเสียหายทุกวิถีทางจนเป็นที่พอใจแก่ครอบครัวผู้เสียหาย 19.4% ผู้กระทำผิดเป็นผู้เยาว์ ขับรถโดยประมาท 18.94% ผู้กระทำผิดมีฐานะยากจน มีภาระตองดูแลครอบครัวจึงทำงานหนักและเกิดอุบัติเหตุขับรถชนผู้อื่น 4.28% ไม่มีข้อยกเว้น และ 2.83% อื่นๆ

 

นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการ TIJ กล่าวว่า การสำรวจในครั้งนี้เพื่อสอบถามความรู้สึกของประชาชน และความคาดหวังของประชาชนต่อผู้มีอำนาจ ซึ่งกระบวนในคดีนี้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมไทยของประชาชนอย่างรุนแรง สังคมเคลือบแคลงสงสัยทั้งการแทรกแซงทางการเมืองหรืออำนาจเงิน จึงคาดหวังว่าจะเกิดการปรับปรุงให้ดีขึ้น