มท.1 สั่งการผู้ว่าฯ รับมืออุทกภัย วาตภัย น้ำป่าไหลหลาก-น้ำท่วม

22 ส.ค. 2563 | 18:06 น.

มท.1 สั่งการผู้ว่าฯ รับมืออุทกภัย วาตภัย น้ำป่าไหลหลาก-น้ำท่วม ย้ำเร่งช่วยเหลือประชาชนในทันต่อสถานการณ์

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาพอากาศร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า ในหลายพื้นที่ได้เกิดสถานการณ์อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม ก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ตลอดจนทรัพย์สินของประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยในสวัสดิภาพและความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน จึงได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย โดย กอปภ.ก. ดำเนินการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยโดยเร่งด่วน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปภ.ประสาน 40 จังหวัด เตรียมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก

อุตรดิตถ์ อ่วมน้ำท่วมเดือดร้อนกว่า 1,000 ครอบครัว

GISTDA เปิดภาพดาวเทียมบางส่วน (สีฟ้า) พื้นที่น้ำท่วมในจังหวัดน่าน

สาวอำเภอ “เวียงสา” ร้องขอความช่วยเหลือน้ำท่วมบ้าน มีเด็กคนแก่อยู่ด้วย

  พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า เพื่อให้การรับมือผลกระทบจากสถานการณ์ข้างต้น เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงได้กำชับไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด ดำเนินการตามแนวทางแผนเผชิญเหตุ ได้แก่ 1) ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นตามแหล่งน้ำธรรมชาติ แหล่งกักเก็บน้ำขนาดต่าง ๆ รวมถึงวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ แนวโน้ม และแจ้งเตือนให้อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ป้องกันและแก้ไขปัญหา พร้อมแจ้งเตือนประชาชนทราบถึงแนวทางการปฏิบัติตนอย่างปลอดภัย และช่องทางการรับความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง  2) ตรวจสอบและเสริมความมั่นคงแข็งแรงเชิงโครงสร้างให้กับคันกั้นน้ำ สำหรับอ่างเก็บน้ำที่มีน้ำไหลเข้าในปริมาณมาก พร้อมหาทางปรับปรุงแก้ไขหากพบความผิดปกติโดยเร่งด่วน  3) ให้มีการประเมินสถานการณ์ครอบคลุมทุกมิติ หากพิจารณาแล้วเห็นว่าพื้นที่มีความเสี่ยงเกิดสถานการณ์อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม ให้แจ้งเตือนและประกาศให้ประชาชนรับรู้จุดปลอดภัยที่ชัดเจน หรืออพยพประชาชนไปยังจุดปลอดภัยที่กำหนด พร้อมจัดกำลังพล อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักรกลสาธารณภัย เข้าช่วยเหลือประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ ตามความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ พร้อมจัดให้มีสิ่งของจำเป็นในการดำรงชีพ การแจกจ่ายถุงยังชีพให้ครอบคลุมทั่วถึง และจัดตั้งโรงครัวพระราชทานเพื่อประกอบอาหารเลี้ยงประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ  4) ติดตั้งป้ายเตือน ป้ายแนะนำเส้นทางเบี่ยงบริเวณเส้นทางคมนาคมที่มีน้ำท่วมขัง และห้ามผ่านในเส้นทางที่เกิดน้ำหลาก หรือน้ำท่วมขังสูงโดยเด็ดขาด 5) ให้ความสำคัญกับการเร่งแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่เกิดอุทกภัยซ้ำ โดยบูรณาการทุกภาคส่วนช่วยเหลือประชาชนตามแผนเผชิญเหตุ และเร่งฟื้นฟู เยียวยาจิตใจผู้ประสบภัยที่ได้รับผลกระทบซ้ำ และเมื่อสถานการณ์ในพื้นที่คลี่คลายแล้ว ให้เร่งสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือและดำเนินการฟื้นฟูตามระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

 พลเอกอนุพงษ์ กล่าวเน้นย้ำว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุ และเร่งช่วยประชาชนให้ทันต่อสถานการณ์ โดยบูรณาการทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่องและเต็มกำลังความสามารถ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัย สามารถติดต่อสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง