“สุพัฒนพงษ์” ตอบครม.ล้มแผนพีดีพี ฉบับปรับปรุงใหม่ รอรื้อใหญ่หลังโควิด

20 ส.ค. 2563 | 10:32 น.

“สุพัฒนพงษ์” ตอบกลับคณะรัฐมนตรี(ครม.) ล้มแผนพีดีพี ฉบับปรับปรุงใหม่ ยันยังไม่มีความจำเป็น ให้ใช้ฉบับปัจจุบันไปก่อน ชี้สถานการณ์เปลี่ยน ต้องรอไวรัสโควิด-19 ให้จบก่อน ถึงจะมา รื้อใหม่อีกครั้ง

นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงทิศทางการบริหารนโยบายพลังงานวันนี้( 20 ส.ค.63) ว่า แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงใหม่ครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีการประชุมและเห็นชอบไปแล้ว เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 นั้น อาจจะต้องต้องยกเลิกหรือล้มเลิก ไปก่อน เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่ผ่านการพิจารณาอนุมัติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

 

ประกอบกับล่าสุดทางสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ส่งกลับแผนพีดีพี ฉบับปรับปรุงใหม่ ครั้งที่ 1 มายัง มายังกระทรวงพลังงานให้พิจารณาว่ายังมีความจำเป็นที่จะต้องประกาศให้หรือไม่ ซึ่งจากการพิจารณาแล้วเห็นว่า แผนพีดีพี ฉบับปรับปรุงใหม่ ดำเนินการก่อนที่จะเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 การประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีของประเทศ ยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

“สุพัฒนพงษ์” ตอบครม.ล้มแผนพีดีพี ฉบับปรับปรุงใหม่ รอรื้อใหญ่หลังโควิด

                                                  นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์  

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

กพช. ไฟเขียว 4 แผนหลักด้านพลังงาน

กพช. ไฟเขียว! "แผนพีดีพี 2018"

“สุพัฒนพงษ์” ลั่น ประกาศรับซื้อไฟฟ้า จากโรงไฟฟ้าชุมชน ได้ภายใน 30 วัน นำร่อง 200 เมกะวัตต์

เมื่อการแพร่ระบาทดไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้น ส่งผลต่ออัตราการขยายตัวของจีดีพี ล่าสุดไตรมาส 2 ของปีนี้ ติดลบ 12.2 % ส่งผลต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ ของประเทศปรับลดลงตามด้วย และส่งผลให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศพุ่งมาอยู่ในระดับ 40 % เกินกว่าปกติที่ประมาณ 25 % โดยปัจจุบันไทยผลิตไฟฟ้าได้ 50,300 เมกะวัตต์ แต่มียอดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค)ในปีนี้อยู่เพียงประมาณ 30,000 เมกะวัตต์ ส่งผลให้มีปริมาณไฟฟ้าเหลือประมาณ 20,000 เมกะวัตต์

 

ดังนั้น เมื่อปริมาณสำรองไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้น สวนทางกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ลดลง การจะนำแผนพีดีพี ฉบับปรับปรุงใหม่ ครั้งที่ 1 มาประกาศใช้ จะต้องล้มเลิกหรือยกเลิกออกไปก่อน และให้ใช้แผนพีดีพี ฉบับปัจจุบัน ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 และระหว่างนี้คงต้องรอให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ให้นิ่งก่อน ว่าจะมีผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจระยะยาวเป็นอย่างไร เพื่อนำมาพยากรณ์ ความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคตที่จะเกิดขึ้น นำไปสู่การทบทวนหรือรื้อแผนพีดีพีใหม่ของประเทศให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

“สุพัฒนพงษ์” ตอบครม.ล้มแผนพีดีพี ฉบับปรับปรุงใหม่ รอรื้อใหญ่หลังโควิด

สำหรับแผนพีดีพี ฉบับปรับปรุงใหม่ ครั้งที่ 1 มีเป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ไว้ตลอดแผน ที่ 56,431 เมกะวัตต์  มีสัดส่วนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ 53% พลังงานหมุนเวียน 21%(เดิม 20%) ถ่านหินและลิกไนต์ 11%(เดิม12%) พลังน้ำต่างประเทศ 9% และจากการอนุรักษ์พลังงาน 6% และลดเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ลง และเพิ่มเป้าหมายโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) 69 เมกะวัตต์ การเพิ่มนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก กำลังผลิตรวม 1,933 เมกะวัตต์ การปรับแผนโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐภาคใต้ เริ่มจ่ายไฟเข้าระบบออกไปเป็นปี 2565–2566 ปีละ 60 เมกะวัตต์ รวมถึงเร่งรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลม จากเดิมปี 2577 มาเป็นปี 2565