“ม็อบ-ว่างงาน” ศึกใหญ่ วิกฤติซ้อนวิกฤติ

20 ส.ค. 2563 | 04:20 น.

คอลัมน์อินไซด์สนามข่าว ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3602 หน้า 10 ระหว่างวันที่ 20-22 ส.ค.2563 โดย... จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง

 

“ม็อบ-ว่างงาน”ศึกใหญ่
วิกฤติซ้อนวิกฤติ

 

วงในของรัฐบาล ประเมินว่า สถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มมวลชนที่ใช้ชื่อว่า “คณะประชาชนปลดแอก” คงเป็นเรื่องที่รัฐบาลประยุทธ์ 2/2 ไม่ได้ประเมินว่าเป็นม็อบมุ๊งมิ๊งอย่างที่ปั่นกระแสกันในโซเชียล ตรงกันข้ามประเมินกันว่ากระพริบตาไม่ได้ เมื่อทัพใหญ่อย่าง “พรรคเพื่อไทย” โดดเข้ามาสนับสนุนอีกแรง

 

ดังนั้น การประเมินและหาทางออก มองเห็นแล้วว่าคงใช้ไม้แข็งในการไล่จับ หรือ สื่อสารตอบโต้ ปะ ฉะ ดะ ดุเดือด ของทุกระดับของรัฐบาลเพื่อโหมไฟการเมืองก็คงไม่ส่งผลดีกับประเทศแน่นอน

 

ตกผลึกกันว่า การใช้ไม้อ่อนในการเปิดพื้นที่ ตั้งโต๊ะหาช่องทาง พูดคุย เจรจา อาจจะเห็นได้ไม่นานจากนี้ ซึ่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)  หรือ สภาพัฒน์ รับโจทย์จากนายกฯลุงตู่ ไปออกแบบอยู่ว่าจะดำเนินการอย่างไร รูปแบบไหนดี

 

ก็ต้องบอกว่ารัฐบาลอ่านเกมล่วงหน้าเอาไว้แล้ว ว่าเลี่ยงไม่ได้กับสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง ที่จะกลับมาเมื่อสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ แต่ก็นั่นแหละ กลายเป็นว่ารัฐบาลต้องเจอ “ศึกหนัก” วิกฤติซ้อนวิกฤติ ที่ถาโถมเข้ามาให้แก่ปัญหาที่บอกว่าวิกฤติซ้อนวิกฤติ เพราะสภาพัฒน์ เพิ่งเปิดเผย “รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ปี 2563” มีหลากหลายเรื่องที่เป็นปัญหา ในแง่ของชีวิตความเป็นอยู่ความลำบากของผู้คนในสังคม เป็นตัวเร่งให้ผู้คนเหล่านั้น อาจจะออกมาเป็นแนวร่วมขย่มรัฐบาล

 

 

ปัญหาใหญ่ที่สุดคือ การจ้างงานลดลงอย่างต่อเนื่อง การว่างงานเพิ่มขึ้น ค่าจ้างแรงงานลดลง สถานการณ์การจ้างงานในไตรมาสสอง ปี 2563 ปรับตัวลดลง โดยผู้มีงานทำมีจำนวน 37.1 ล้านคน ลดลง1.9% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปี 2562 เป็นการลดลงทั้งผู้มีงานทำใน ภาคเกษตรกรรมที่ลดลง 0.3% และนอกภาคเกษตรกรรมลดลง 2.5% สาขาที่มีการจ้างงานลดลงมาก ได้แก่ สาขาก่อสร้าง สาขาการผลิต สาขาโรงแรม/ภัตตาคาร ลดลง 6.3 4.4 และ 2.8 % ตามลาดับ ส่วนสาขาการขายส่ง/ขายปลีก ลดลง 1 % เนื่องจากยังเปิดดำเนินการได้บางส่วน

 

สถานการณ์การว่างงาน มีจำนวนทั้งสิ้น 7.5 แสนคน คิดเป็นอัตรา 1.95% เพิ่มขึ้น 1 เท่าจากอัตราการว่างงานในช่วงปกติ และเป็นอัตราการว่างงานที่สูงสุดตั้งแต่ไตรมาสสอง ปี 2552 ซึ่งผู้ว่างงานกว่า 64.2 % เคยทำงานมาก่อน โดย 58.7% สาเหตุที่ว่างงานเกิดจากสถานที่ทำงานเลิก/หยุด/ปิดกิจการหรือหมดสัญญาจ้าง

 

ประเด็นที่ต้องติดตามคือ แนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี ที่ยังไม่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างชัดเจน จะส่งผลให้ธุรกิจซึ่งส่วนใหญ่ที่มีสภาพคล่องสำรองเพียงพอสำหรับรองรับวิกฤติได้ไม่เกิน 6 เดือน อาจเลิกจ้างงานและปิดกิจการ โดยเฉพาะสถานประกอบการที่ขอใช้มาตรา 75 ซึ่งเป็นกลุ่มที่ขอหยุดชั่วคราว แต่ยังต้องรับภาระในการจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างอยู่ และผู้จบการศึกษาใหม่ในปี 2563 ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน 5.2 แสนคน มีแนวโน้มจะหางานทำได้ยากขึ้น หรืออาจต้องใช้ระยะเวลาในการหางานนานกว่าปกติ

 

และปัญหาภัยแล้งที่ต่อเนื่องและสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก จะส่งผลต่อการจ้างงาน ในภาคเกษตร และกระทบต่อรายได้แรงงาน อีกทั้งภาคเกษตรอาจจะสูญเสียความสามารถในการดูดซับแรงงานจากนอกภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19

 

แต่ทั้งนั้น นี่คือบางส่วนของศึกหนักที่กำลังก่อตัว และแนมโน้มจะรุนแรงขึ้น รัฐบาลจะแก้โจทย์ใหญ่รอบนี้ยังไง ต้องติดตาม