“เอสเอ็มอี”รุกอุตฯการบินต่อยอดสู่มาตรฐานการบินโลก

19 ส.ค. 2563 | 06:30 น.

“สสว.” ร่วมมือ “กองทัพไทย” และ “ทีเอไอ” ยกระดับไทยเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยานระดับภูมิภาค พร้อมถ่ายทอดความรู้ให้ เอสเอ็มอี ผลิตชิ้นส่วนป้อนศูนย์ซ่อมบำรุง คาดช่วงแรกเอสเอ็มอีไทย ผลิตชิ้นส่วนได้ถึง 30% รองรับมูลค่างานซ่อมเครื่องบินปีละ กว่า 4.5 พันล้านบาท

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ “สสว.” เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ สสว. ได้ร่วมกับ บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด (ทีเอไอ) ซึ่งเป็นหน่วยงานซ่อมบำรุงอากาศยานของกองทัพอากาศและหน่วยงานอื่นๆ นำสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (Thai Subcon) เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานของศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานตาคลี จ.นครสวรรค์ เพื่อแสวงหาความร่วมมือให้ผู้ประกอบการ "เอสเอ็มอี" (SMEs) ที่ผลิตชิ้นส่วนให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ ปรับตัวหันมาผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ เพื่อซ่อมบำรุงอากาศยาน และยังเป็นการยกระดับเอสเอ็มอีไทยเข้าสู่อุตสาหกรรมการบิน ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม New S-Curve ที่รัฐบาลให้การสนับสนุน เพื่อช่วยลดการพึ่งพาต่างชาติ และประหยัดงบประมาณในการซ่อมบำรุงอากาศยานได้มหาศาล

              ทั้งนี้  ได้มีการนำผู้ประกอบการจากสมาคม Thai Subcon เข้าเยี่ยมชมศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานลพบุรี จ.ลพบุรี ซึ่งศูนย์นี้เป็นแหล่งซ่อมบำรุงเฮลิคอปเตอร์ที่สำคัญของประเทศไทย มีขีดความสามารถในการซ่อมบำรุงระดับโรงงาน ตรวจซ่อมโครงสร้าง รวมทั้งปรับปรุงระบบเอวิออนิกส์ของเฮลิคอปเตอร์ เพื่อหาแนวทางการยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทยในการผลิตอะไหล่สนับสนุนการซ่อมบำรุงทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในการสร้างและผลิตสายไฟ ท่อทาง และสายเคเบิลที่ใช้กับระบบต่างๆ ของเฮลิคอปเตอร์

อย่างไรก็ดี  ผู้ประกอบการต้องปรับตนด้านมาตรฐานตามที่กำหนด เนื่องจากอุตสาหกรรมการบิน เป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง โดยคาดว่าในช่วงแรก ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถเข้าผลิตชิ้นส่วนป้อนให้กับ ทีเอไอ ไปได้ประมาณ 30% ของเครื่องบินทั้งลำ และสัดส่วนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากขีดความสามารถที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

“เอสเอ็มอี”รุกอุตฯการบินต่อยอดสู่มาตรฐานการบินโลก

นายวีระพงศ์ กล่าวต่อไปอีกว่า หลังจากนี้ สสว. จะร่วมมือกับ ทีเอไอ จัดทำโรดแมปเพื่อดำเนินแนวทางความร่วมมือตามมาตรการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยนำร่องสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเจาะตลาดชิ้นส่วนอากาศยาน อุปกรณ์ ตลอดจนการให้บริการด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการซ่อมบำรุงอากาศยาน  โดยมาตรการดังกล่าวจะกำหนดสัดส่วนงบประมาณการจัดซื้อจัดจ้างจากเอสเอ็มอี คิด 30% ของงบประมาณจัดซื้อจัดจ้าง และการกำหนดแต้มต่อด้านราคา เพื่อให้เอสเอ็มอี ที่เสนอราคาสูงกว่าราคาต่ำสุด 10% สามารถเป็นผู้ชนะการแข่งขันได้

ซึ่ง ทีเอไอ ได้รับสัญญาการซ่อมบำรุงอากาศยานจากกองทัพอากาศปีละ 4.5 พันล้านบาทต่อปี ทำให้ผู้ประกอบการไทยที่ผลิตสินค้าได้ตามมาตรฐานที่กำหนด สามารถเข้ามามีส่วนแบ่งจากมูลค่างานของ ทีเอไอ จำนวนนี้ได้ และจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

“การพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานดังกล่าว ยังสามารถต่อยอดไปผลิตอากาศยานในด้านอื่นๆ เช่น การผลิตโดรนเพื่อใช้ในการขนส่ง และโดรนด้านการเกษตรต่างๆ ทั้งการฉีดยา การตรวจสอบสภาพพื้นที่การเกษตร เป็นต้น ซึ่งผลงานต่างๆเหล่านี้ จะนำมาจัดแสดงในงานของกองทัพอากาศเดือน ส.ค. นี้ รวมทั้งยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยต่างๆ ที่ผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตได้”
              พล.อ.อ. ศิริพล ศิริทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด กล่าวว่า ทีเอไอ และกรมช่างอากาศ จะถ่ายทอดเทคโนโลยีและประสบการณ์การผลิตให้กับเอสเอ็มอีไทย โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีสูงมากนัก เช่น  สายไฟ ท่อทาง สายเคเบิลต่างๆ แผงเครื่องวัด การผลิตจอเครื่องวัดต่างๆ  ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตได้เองทั้งหมดทั้งสำหรับเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ รวมทั้งนำกระบวนการวิศวกรย้อนกลับ เพื่อศึกษาผลิตอุปกรณ์อากาศยานรวมไปถึงโครงสร้างเทคโนโลยีคอมโพสิตต่างๆ ใช้เองภายในประเทศ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

“สสว.” เล็งรื้อร่างจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐซื้อสินค้าในประเทศไม่ต่ำกว่า 30%

“สสว.” ผนึก “กองทัพอากาศ” ผลิต “โดรน” หนุนงานกองทัพ

นอกจากนี้ ทีเอไอ ยังได้ร่วมมือกับ บริษัท แอร์บัส เฮลิคอปเตอร์ ในการเป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยอีกด้วย ทั้งนี้ ทีเอไอ ถือเป็นหน่วยงานหลักที่สนับสนุนการซ่อมบำรุง และการฝึกอบรมให้กับนักบินและช่างเครื่องให้กับเฮลิคอปเตอร์ทางทหารและหน่วยราชการต่างๆ ในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบัน ทีเอไอ ได้ดูแลและซ่อมบำรุงอากาศยานที่ประจำการอยู่ทั้งสิ้น 64 เครื่อง แบ่งเป็นเครื่องบินทางทหาร 53 เครื่อง และพลเรือน 11 เครื่อง รวมทั้งเตรียมการให้ ทีเอไอ เป็นศูนย์ประกอบเฮลิคอปเตอร์ในประเทศไทย เพื่อรองรับการพัฒนาเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงเฮลิคอปเตอร์ของแอร์บัสระดับโรงงาน ตลอดจนขยายความร่วมมือไปสู่ภาคอุตสาหกรรมการบินระดับโลก โดยสามารถซ่อมบำรุงเฮลิคอปเตอร์ให้กับภาคพลเรือนภายในประเทศ และประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนต่อไป

“การที่แอร์บัส เฮลิคอปเตอร์ เข้ามาร่วมมือกับ ทีเอไอ ในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อที่จะลดต้นทุนในการซ่อมบำรุงเฮลิคอปเตอร์ให้กับลูกค้าในภูมิภาคนี้ และเพิ่มศักยภาพในการเจาะตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้น  หากผู้ประกอบการไทยผลิตชิ้นส่วนเฮลิคอปเตอร์ผ่านมาตรฐานที่ แอร์บัส กำหนด ก็จะยิ่งทำให้มีศักภาพในการแข่งขันกับเฮลิคอปเตอร์บริษัทอื่นๆ ได้มากขึ้น”