ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต?

19 ส.ค. 2563 | 08:10 น.

คอลัมน์ยังอีโคโนมิสต์ โดย ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS)

เป็นประโยคที่นักลงทุนหลายคนต้องเคยได้เห็นหรือได้ยินมาบ้าง และส่วนหนึ่งก็มักตั้งข้อสงสัยต่อว่า แล้วมีอะไรไหมที่ยืนยันผลตอบแทนได้ซึ่งถ้าจะให้ตอบตรงๆ ผมคงต้องบอกว่า “ไม่มี”

 

แต่ถ้า “มี” การลงทุนนั้น ก็จะกลายเป็นการลงทุนที่ “Fixed” ผลตอบแทนมีความเสี่ยงตลาดน้อยลง แต่มีความเสี่ยงเครดิตอยู่ โดยถ้าจะให้ “ยืนยันได้” และไม่ให้มีความเสี่ยงเลย ก็ต้องจ่ายเงินค่าประกันความเสี่ยงทุกอย่างให้หมด ท้ายที่สุดอาจไม่มีผลตอบแทนเหลือให้นักลงทุนเพราะมีค่าเท่าเงินสด (Risk-free)

 

ที่ชวนคุยประเด็นนี้ เพราะผมอยากให้นักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนเพิ่มไปกว่าเงินสด ให้ความสำคัญกับเหตุผลและที่มาของผลตอบแทนมากกว่าการยืนยัน 

 

เพราะแค่เราทำความเข้าใจและใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ “ไม่ได้ยืนยัน” อนาคตไม่ว่าจะเป็น ผลการดำเนินงานในอดีต แนวโน้มในปัจจุบัน และมุมมองในอนาคต เราก็สามารถคาดการณ์ผลการดำเนินงานอนาคตได้ดีมากขึ้น

 

เริ่มแรกต้องเข้าใจก่อนว่า อดีตมิได้ยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต แต่บอกองค์ประกอบของสินทรัพย์และจุดเริ่มต้นสำหรับปัจจุบันได้ 

 

“องค์ประกอบ” หมายถึง สิ่งที่รวมกับเป็นผลตอบแทน เช่น เงินหรือตราสารหนี้จะประกอบขึ้นจากดอกเบี้ยหรือคูปองที่เป็นยีลด์จากการถือ (Carry) และมูลค่า (Valuation) หรือราคาที่เปลี่ยนแปลงเป็นหลัก ขณะที่เมื่อเป็นหุ้น ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงของรายได้ (Earning)เป็นอีกตัวแปรที่ต้องพิจารณาเพิ่ม จุดสำคัญคือองค์ประกอบเหล่านี้จะไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต?

ต่อมาก็ต้องเข้าใจด้วยว่า การใช้อดีตมาคาดการณ์อนาคต โดยไม่สนใจแนวโน้มในปัจจุบัน มักให้ผลลัพธ์ที่อาจห่างจากความเป็นจริง

 

เพราะการคาดว่า อนาคตจะเหมือนอดีต เท่ากับมองว่า ทุกอย่างจะ “คงที่” ซึ่งไม่จริง

 

เช่นช่วงต้นปี 2010 ถ้าเราใช้เพียงผลตอบแทนในอดีตสิบปีที่ผ่านมา คาดการณ์ว่า ลงทุนในสินทรัพย์ไหนจะได้ผลตอบแทนดีที่สุดในอนาคต ก็คงไม่พ้นต้องเลือก “หุ้นจีนและทองคำ” ซึ่งให้ผลตอบแทนสูงถึง 13-17% เฉลี่ยต่อปีในช่วงทศวรรษ 2000s

 

แต่แท้จริงช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กลับเป็น “หุ้นสหรัฐ” ที่แทบไม่ไปไหนในทศวรรษก่อน ได้แรงหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังวิกฤติและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าผงาดขึ้นมาสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้ถึง 12% ต่อปีโดยเฉลี่ย ขณะที่หุ้นจีนและทองคำสร้างผลตอบแทนเพียง 3% ต่อปีเท่านั้น

 

และการพยากรณ์ตลาดการเงินอย่างมีเหตุผล แม้จะเป็นสิ่งที่อยู่ในช่วงการพัฒนา ไม่คงที่และเปลี่ยนไปมาได้ แต่นักลงทุนสถาบันทั่วโลกก็ใช้ในการมองอนาคต

 

ศาสตร์การคาดการณ์ผลตอบแทนเหล่านี้ถูกริเริ่มค้นคิดมาตั้งแต่ช่วงปี 1960sด้วยชื่อว่า Capital Asset Pricing Model (CAPM) โดยนักการเงินมากมายหลายท่านเช่น Treynor (1962) Sharp (1964) และ Lintner (1965) หลังจากนั้นก็มีการปรับสมมุติฐานให้ใกล้กับโลกความเป็นจริงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนมุมมองต่อความเสี่ยงของนักลงทุนในสมการเช่น Shiller (1981)

 

หรือเพิ่มตัวแปรที่หลากหลายเข้ามาในการวิเคราะห์เช่น Fama French (1993) ที่เริ่มนำประเด็นเรื่องมูลค่า (Value)หรือขนาด (Size)ของการลงทุนเข้ามาเพิ่มไปจนถึง Carhart (1997) ที่ใช้โมเมนตัม (Momentum)หรือการขึ้นลงของการลงทุนเข้ามาประกอบ จนในปัจจุบันพัฒนามาเรื่อย ๆ จน Harvey Lui (2019) เรียกว่าเป็น “สวนสัตว์”คุณลักษณะของการลงทุนในปัจจุบัน

 

หรือ “โลกใหม่” ของการพยากรณ์ผลตอบแทนเริ่มไกลออกจากแค่การมองผลตอบแทนในอดีตออกไปเรื่อยๆ และนักลงทุนไทยก็ควรตามให้ทันด้วย

รู้อย่างนี้แล้วต้องจัดการกับการลงทุนของเราอย่างไร?

 

ผมเชื่อว่า ขั้นแรก นักลงทุนต้องปรับแนวคิดของตัวเองก่อน โดยอย่าเลือกลงทุนเพียง เพราะว่ามีผลตอบแทนที่ดีในอดีต

 

ขั้นที่สอง ต้องกลับไปสำรวจสิ่งที่เรากำลังลงทุนอยู่ว่า มีองค์ประกอบ และคุณลักษณะ เหมาะสมกับสถานการณ์ในโลกการเงินและวัตถุประสงค์ของเราหรือไม่ ถ้าไม่ตรง ก็ไม่ควรลังเลที่จะเปลี่ยน

 

และสุดท้ายในอนาคตต้องตั้งคำถามการลงทุนให้ถูก ว่าสิ่งที่เราลงทุนนี้มี คุณลักษณะแบบไหน สถานการณ์อะไรคือโอกาสและความเสี่ยง และชั่งน้ำหนักเหตุผลเสมอ     

 

ถ้าเราทำตามนี้ ก็สามารถมั่นใจในการลงทุนแบบไม่ต้องให้ใครมายืนยันผลได้เหมือนกันครับ 

 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ 3,602 วันที่ 20 - 22 สิงหาคม พ.ศ. 2563