หนุนแบงก์ปล่อยกู้เพิ่มหลังครบพักหนี้

23 ส.ค. 2563 | 02:00 น.

ธปท.มอง สินเชื่อแบงก์โตได้ 5% หนุนแบงก์ปรับโครงสร้างหนี้ ปล่อยกู้เพิ่ม หลังครบมาตรการพักหนี้  เผยไตรมาส2 ซอฟต์โลนถึงมือลูกหนี้แล้ว 1.3 แสนราย วงเงินรวม 2.22 แสนล้านบาท

ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 2 ของปี 2563 ที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ( สศช. ) แถลงออกมา แม้ว่าจะติดลบถึง 12.2% ตํ่าสุดในรอบ 22 ปี แต่ยังน้อยกว่าช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งที่ติดลบถึง 12.5% และยังน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่า จะติดลบ 13-15% ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย ธปท. )เองยังคาดการณ์ว่า จะติดลบ 12-13% แต่จะไม่เกิน 15% 

 

นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แม้ จีดีพี ไตรมาส 2 จะติดลบ 12.2% แต่ภาพรวม สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ กลับสวนทาง โดยยังขยายตัวได้ 5% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนและเพิ่มขึ้น 4.1% จากไตรมาสก่อนหน้า  ส่วนหนึ่งมาจากสินเชื่อขนาดใหญ่ ที่ไม่สามารถระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ได้เหมือนในอดีต ส่วนช่วงที่เหลือมองว่า สินเชื่อยังมีโอกาสจะขยายตัวได้ 5% 

 

ขณะที่คุณภาพสินเชื่อในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 แม้ตัวเลข หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จะทรงตัว แต่จะเห็นหนี้ใน Stage2 หรือ หนี้ที่ค้างชำระเกิน 30-60 วันเพิ่มขึ้นชัดเจน จากผลกระทบของโควิด-19 ดังนั้นสถาบันการเงินจะต้องมีแนวทางเข้าไปช่วยเหลือ โดยการปรับโครงสร้างหนี้ หรือเติมสภาพคล่อง ก่อนที่หนี้กลุ่มนี้จะไหลกลับไปเป็น Stage หรือ หนี้เอ็นพีแอล 

หนุนแบงก์ปล่อยกู้เพิ่มหลังครบพักหนี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“ผ่อนเป๊ะ รับปั๊บ"สูงสุด 10,000 บาท สู้ภัยโควิด-19

สมาคมธนาคารไทยขานรับมาตรการแบงก์ชาติ-แก้หนี้ธุรกิจ ณ จุดเดียว "DR BIZ"

ธปท.ผนึกสถาบันการเงินเปิดโครงการ DR BIZ การเงินร่วมใจ ธุรกิจไทยมั่นคง

บสย.เตรียมออกวงเงินค้ำประกันสินเชื่อใหม่ 1.5 แสนล้านบาท

ส่วนหนี้คุณภาพดีที่มีประมาณ 90% ของพอร์ตก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นกลุ่ม Stage1 คาดว่าจะยังอยู่ในสถานะที่ดี หลังโควิดคลี่คลายลง แต่ในส่วนของลูกหนี้ที่ได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการของธนาคารพาณิชย์ 4.55 ล้านล้านบาท คิดเป็น 31% ของสินเชื่อรวม กลุ่มนี้หากได้รับความช่วยเหลือที่ดี จะทำให้การกลับมาเป็นเอ็นพีแอล หรือต้องกลับเข้ามาขอรับความช่วยเหลือ น่าจะปรับลดลงหลังสถานการณ์คลี่คลายแต่ขณะนี้ยังไม่เห็นตัวเลข ภาพน่าจะชัดเจนในไตรมาส 3 

 

ทั้งนี้ แนวทางให้ความช่วยเหลือนั้น รูปแบบต้องให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกหนี้ โดยที่คุณภาพหนี้ไม่เสื่อมลงแต่ที่กังวลว่า สิ่งที่ลูกหนี้ต้องการคือ การเพิ่มรายได้ แต่สถาบันการเงินสามารถให้ความช่วยเหลือได้โดยการเพิ่มหนี้ หรือ สภาพคล่องเพิ่มเติม ทำให้มีความกังวลว่าหากสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวกลับมา จะกระทบกับลูกหนี้กลุ่มนี้ที่ไม่สามารถสร้างรายได้ให้กลับมา

 

“เอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นมาจากธุรกิจขนาดใหญ่คือ สายการบินขนาดใหญ่ ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอีเอ็นพีแอลลดลงทั้งจากมาตรการภาครัฐช่วยและการตัดหนี้สูญเพิ่ม สินเชื่อรายย่อยเอ็นพีแอลทรงตัว แต่การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้หรือการให้สภาพคล่องเพิ่มเติมยังเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย”

 

สำหรับสินเชื่อที่ขยายตัว มาจากสินเชื่อธุรกิจ ซึ่งมีสัดส่วน 65.2% ของสินเชื่อรวม ขยายตัวที่ 5.1% เติบโตต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา โดยพบว่า สินเชื่อขนาดใหญ่ที่มีวงเงินเกินกว่า 500 ล้านบาท เติบโตในระดับสูงที่ 22%  ส่วนหนึ่งมาจากสินเชื่อของภาครัฐบวกกับการระดมทุนของธุรกิจขนาดใหญ่ ที่หันมาใช้เทอมโลนกับสถาบันการเงิน 

 

ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอี (SMEs) ที่มีวงเงินสินเชื่อตํ่ากว่า 500 ล้านบาท ติดลบต่อเนื่องนับจากปี 2562 (-5.4%) สะท้อนความอ่อนแอของเอสเอ็มอีบางกลุ่มที่ปรับตัวในการแข่งขัน โดยเห็นได้จากสินเชื่อที่ติดลบ 4.7% ในไตรมาส 1 และติดลบแค่ 3.5% ในไตรมาสสอง เพราะได้รับแรงสนับสนุนจากสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยตํ่า(ซอฟต์โลน) ซึ่งหากไม่มีซอฟต์โลน สินเชื่อเอสเอ็มอีจะติดลบ 5.7% 

“ซอฟต์โลนจะเป็นหนึ่งในตัวช่วยในการปล่อยเม็ดเงินกับเอสเอ็มอี ซึ่งนอกจากซอฟต์โลนจากธปท. แล้วยังมีซอฟต์โลนของธนาคารออมสิน หรือธนาคารแต่ละแห่งปล่อยเองและสินเชื่อคํ้าประกันโดย บรรษัทประกันนเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เบ็ดเสร็จมีลูกหนี้ที่ได้รับสินเชื่อ 1.3 แสนราย หรือได้ใช้ประโยชน์แล้ว 2.22 แสนล้านบาท”

 

ทั้งนี้แบ่งเป็น สินเชื่อซอฟต์โลนธปท. 1.12 แสนล้านบาท จำนวนลูกหนี้ 6.72 หมื่นราย ออมสิน วงเงิน 5.5 หมื่นล้านบาท จำนวนลูกหนี้ 9.1 พันราย ออมสินปล่อยเองอีก 1.5 พันล้านบาท จำนวนลูกหนี้ 3.2 พันรายและสินเชื่อเพิ่มของธนาคารพาณิชย์ที่ให้บสย.คํ้าประกันอีก 4.1 หมื่นล้านบาท ลูกหนี้ 5.3 หมื่นราย โดยกระจายในหลากหลาย ทั้งสินเชื่อธุรกิจที่พักแรมปล่อยสินเชื่อแล้วตั้งแต่ 13-22% สินเชื่อธุรกิจท่องเที่ยวรายใหญ่จะหดตัว กลุ่มผลิตยานยนต์ และชิ้นส่วนทั้งหดตัวสลับกันตามขนาดและขนส่งผู้โดยสาร 

 

ด้านสินเชื่อส่วนบุคคลพบว่า สินเชื่อที่อยู่อาศัยยังเติบโต 4.4% สูงกว่า 3.4% ในไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปในลักษณะเดียวกันในกลุ่มสินเชื่อรายย่อย สินเชื่อรถยนต์ แม้การเติบโตปรับลดลงบ้าง แต่การปรับเพิ่มขึ้นของยอดขายรถยนต์ จะเป็นแรงหนุนการเติบโตของสินเชื่อในระยะต่อไป เช่นเดียวกับสินเชื่อบัตรเครดิต แม้จะปรับลดแต่แนวโน้มการใช้จ่ายผ่านบัตรเพิ่มสูงขึ้นรวมทั้งสินเชื่อส่วนบุคคล 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ 3,602 วันที่ 20 - 22 สิงหาคม พ.ศ. 2563