IPOปัง หลังโควิด

22 ส.ค. 2563 | 07:10 น.

ไอพีโอครึ่งปีหลังคึกคัก ทยอยเสนอขายต่อเนื่อง เผย 4 บจ. ระดมทุนรวมกว่า 16,767.92 ล้านบาท และมาร์เก็ตแคป ณ ราคาไอพีโอ รวมอยู่ที่ 55,614.52 ล้านบาท พร้อมเปิดซื้อขายเหนือจองทุกบริษัท

การระดมทุนใน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ผ่านการเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) ในช่วงครึ่งหลังปี 2563 ยังคงได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน แม้ช่วงครึ่งปีแรกจะชะลอลงจากสถานการณ์ ไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อกระบวน การต่างๆ ต้องชะงักลง โดยมีเพียง 2 บริษัทเท่านั้น ที่เสนอขายในช่วงก่อนจะเกิดมาตรการ Lock down  และเริ่มกลับมาทยอยเสนอขายอีกครั้งหลังสถานการณ์คลี่คลายลง

 

รายงานข่าวจากตลท. เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง ปี 2563 มีบริษัทจดทะเบียน(บจ.) เสนอขายหุ้นไอพีโอ จำนวน 4 บริษัท คือบริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) (SICT), บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (STGT), บริษัท ไอแอนด์ไอ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (IIG) และบริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด (มหาชน) (ETC) โดยมีมูลค่าระดมทุนรวม 16,767.92 ล้านบาท และมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ณ ราคาไอพีโอ รวมอยู่ที่ 55,614.52 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นของทั้ง 4 บริษัท เปิดซื้อขายวันแรกเหนือจองทั้งหมด โดยปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดคือ SICT เพิ่มขึ้น 2.76 บาท หรือ 200% จากราคาไอพีโอ และ IIG เพิ่มขึ้น 13.20 บาท หรือ 200% จากราคาไอพีโอ ส่วน STGT เพิ่มขึ้น 21.25 บาท หรือ 62.50% และ ETC เพิ่มขึ้น 1.40 บาท หรือ 53.84% ขณะที่ ณ วันที่ 17 สิงหาคม 2563 หุ้นที่ยังคงปรับขึ้นต่อเนื่องสูงกว่าราคาเปิดซื้อขายวันแรก คือ STGT อยู่ที่ 65.50 บาท เพิ่มขึ้น 31.50 บาท หรือ 92.64% อีกทั้งเคยปรับขึ้นสูงสุดที่ 90.00 บาท หรือ 164.70% จากราคาไอพีโอ 

 

IPOปัง หลังโควิด

นางสาวจริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ STGT เปิดเผยว่า ในไตรมาส 2 ปี 2563 สามารถทำผลการดำเนินงานเติบโตก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสแรกที่ผ่านมา หลังจากการเร่งเดินเครื่องจักรผลิตถุงมือยางอย่างเต็มที่ เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ถุงมือยางแก่ลูกค้าที่มีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา โดยมีรายได้รวม 4,885.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 69.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 2,876.2 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1,056.8 ล้านบาท เติบโต 350.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 328.4 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ ปัจจัยการเติบโตของผลการดำเนินงานมาจากการเปลี่ยนวิถีชีวิตแบบ New Normal ที่ต้องรักษาความสะอาดและสุขอนามัยเพิ่มขึ้น ภายหลังเกิดโรคระบาดไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก รวมถึงจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในหลายประเทศทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์อย่างแพร่หลายจากเดิมที่มีฐานลูกค้าหลักในกลุ่มการแพทย์และอุตสาหกรรมต่างๆ ขณะที่

 

แนวโน้มผลการดำเนินงานครึ่งปีหลังคาดว่าจะเห็นการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง จากคำสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้า (แบ็ก ล็อก) ที่ต้องผลิตและส่งมอบไปจนถึงปี 2564

ด้านนายเอกรินทร์ เหลืองวิริยะ กรรมการผู้จัดการ ETC กล่าวว่า เงินที่ได้จากการระดมทุนไอพีโอครั้งนี้ จะนำไปชำระหนี้สถาบันการเงิน ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และใช้ลงทุนเข้าประมูลโครงการของภาครัฐ โดยโครงการที่จะเข้าไปร่วมประมูล ได้แก่ โรงไฟฟ้าขยะจากภาครัฐ เช่น โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน 700เมกะวัตต์ เป็นโครงการแรก มีรูปแบบ Quick Win 100 เมกะวัตต์ และแบบปกติ 600 เมกะวัตต์ รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม 44 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้งหมดคาดว่าจะเปิดประมูลปลายปีนี้

 

ทั้งนี้ คาดว่าผลการดำเนินงานในไตรมาส 3 และ 4 ปี 2563 คาดว่าจะดีมากกว่า ไตรมาส 2 เนื่องจากบริษัทสามารถบริหารควบคุมต้นทุนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีโอกาสรับซื้อไฟที่สูงขึ้นตามอัตราตัวเลขเงินเฟ้อ จากปัจจุบันมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed-in Tariff  (FiT) จากการไฟฟ้าภูมิภาคอยู่ที่ 6.83 บาทต่อหน่วย นอกจากนี้ ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างศึกษาร่วมกับพันธมิตร ในการสร้างโรงไฟฟ้าขยะร่วมกันในประเทศเวียดนามโดยปัจจุบันมีการบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกันแล้ว แต่เกิดความล่าช้าจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 

 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ 3,602 วันที่ 20 - 22 สิงหาคม พ.ศ. 2563