พิษโควิดฉุด!! แบงก์-บล.ใช้จ่ายไอทีลดลง 1.7%

18 สิงหาคม 2563

การ์ทเนอร์ ชี้พิษโควิดฉุด แบงก์-บล. ไทยใช้จ่ายไอทีลดลง 1.7% เชื่อปี 64 จะกลับมาเติบโต 6.6%

    นายเจฟฟ์ เคซี่ย์ นักวิเคราะห์อาวุโสของการ์ทเนอร์ กล่าวว่า โควิด-19 ไม่เพียงเป็นสาเหตุที่ส่งผลให้มูลค่าการใช้จ่ายด้านไอทีในแวดวงธนาคารและหลักทรัพย์นั้นเกิดความผันผวน แต่ยังเป็นตัวกำหนดวิธีการทำธุรกรรมของลูกค้าต่อสถาบันการเงินให้เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย โดยมูลค่าการใช้จ่ายด้านไอทีของธุรกิจธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์ทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงราว 4.7% หรือคิดเป็นมูลค่า 5.14 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อาทิ ในหมวดพีซีและอุปกรณ์เคลื่อนที่จะเห็นการเติบโตลดลงมากที่สุด 12.1% ตามมาด้วยในหมวดของระบบดาต้าเซ็นเตอร์ 

      ขณะที่การใช้จ่ายด้านสินค้าและบริการทางเทคโนโลยี รวมไปถึงระบบไอทีสำหรับการดำเนินงานภายในองค์กรของธุรกิจธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์ของประเทศไทย ในปีนี้จะมีมูลค่าราว 4.89 หมื่นล้านบาท โดยลดลงจากปีที่แล้ว 1.7% และคาดว่าในปี 2564 จะกลับมาเติบโตที่ 6.6%

   ทั้งนี้ในระยะเริ่มแรกของการแพร่ระบาด ธนาคารได้ให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีใน 4 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

- การดำเนินงาน (Operations): เพื่อเข้าถึงบริการพื้นฐานได้อย่างต่อเนื่อง

- ซัพพลายเชน (Supply chain): เพื่อตอบสนองความต้องการซัพพลายเออร์และลูกค้ารายใหม่ 

- รายได้ (Revenue): ให้ธุรกิจสามารถดำเนินงานต่อไปได้ และ 

- แรงงาน (Workforce): สนับสนุนให้พนักงานทำงานจากระยะไกลท่ามกลางสถานการณ์การหยุดชะงัก

“ด้วยความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบของโควิด-19 ที่ดีขึ้น ตอนนี้ธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์ต่างกำลังเร่งผลักดันและริเริ่มการใช้ระบบอัตโนมัติ เช่น แชทบอทสื่อสารกับลูกค้า กระบวนการอัตโนมัติด้วยหุ่นยนต์ (RPA) และโซลูชันการสร้างบัญชีแบบ end-to-end นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นไปที่การออกแบบโครงสร้างองค์กรและขั้นตอนการทำงาน รวมถึงการหันมาจัดลำดับความสำคัญของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่ทันสมัย”

    อย่างไรก็ตามผลจาก โควิด-19 ทำให้มูลค่าการใช้จ่ายบริการไอทีลดลง ไม่ว่าจะเป็น ขนาด เงื่อนไข และประเภทของดีลในสัญญาทางการค้าล้วนได้รับผลกระทบ เนื่องจากโครงการขนาดใหญ่ ๆ ถูกตัดทอนหรือยกเลิกไป แต่ภาวะดังกล่าวนี้จะกินเวลาช่วงสั้น ๆ เท่านั้น เนื่องจากธนาคารต่างเริ่มปรับตัวตอบสนองต่อผลของการหยุดชะงักจาก โควิด-19 ซึ่งการใช้จ่ายด้านบริการไอทีจะเริ่มกลับมาดีดตัวสูงขึ้น เพราะธนาคารต่าง ๆ กำลังเร่งผลักดันและปรับปรุงเทคโนโลยีการให้บริการให้ทันสมัยขึ้นในปีหน้า”