ส่งออกไม้ดอกไม้ประดับรอคิวรุ่ง

18 ส.ค. 2563 | 03:50 น.

ส่งออกไม้ดอกไม้ประดับรอคิวรุ่งหลังโควิด จร.จี้เร่งใช้แต้มต่อเอฟทีเอดันส่งออก 17 ประเทศ แนะผู้ประกอบการขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ให้เข้าถึงผู้ซื้อมากขึ้น เตรียมแผนบุกสิงคโปร์

 

นอกจากสินค้าด้านอิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ดดิสก์ ถุงมือยาง ผลิตภัณฑ์ อาหารเพื่อสุขภาพ เครื่องมือแพทย์ของไทยจะตอบโจทย์ และยังส่งออกได้ดีท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ของโลกที่ยังไม่นิ่งแล้ว สินค้าไม้ดอกไม้ประดับเป็นอีกกลุ่มสินค้าหนึ่งที่ยังรอโอกาสจะส่งออกได้ดีขึ้นหลังโควิดคลี่คลาย

 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (จร.)  เปิดเผยว่า หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นกรมได้มีการสำรวจความต้องการไม้ดอกไม้ประดับในตลาดต่างๆ พบว่าสินค้าไม้ดอกไม้ประดับของไทยมีศักยภาพในการส่งออกและกลับมาขยายตลาดได้เพิ่ม และจะสามารถรักษาจุดแข็งและคงความเป็น 1 ใน 10 ผู้ส่งออกโลกในสินค้านี้ เพราะปัจจุบันนักปรับปรุงพันธุ์สามารถพัฒนาพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับใหม่ ๆ ที่มีความสวยงามออกมาสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก  

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ส่งออกไม้ดอกตลาดอาเซียนรุ่ง Q 1 ขยายตัว 5.05%

 

 

ส่งออกไม้ดอกไม้ประดับรอคิวรุ่ง

 

ขณะเดียวกันไทยมีข้อได้เปรียบจากมีความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับหลายประเทศที่ช่วยปลดล็อกข้อจำกัดทางการค้าต่างๆ โดยเฉพาะกำแพงภาษีศุลกากร ส่งผลให้สินค้าไม้ดอกไม้ประดับทุกรายการของไทยที่ส่งไปขายในประเทศคู่สัญญาเอฟทีเอ 17 ประเทศ (ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ  ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และเปรู) ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า มีเพียงอินเดียที่ยังคงภาษีนำเข้าสินค้าไม้ดอกไม้ประดับบางรายการไว้ เช่น ดอกกุหลาบและกิ่งชำ มอสและไลเคนในอัตราภาษีที่  5%  และดอกกล้วยไม้ในอัตราภาษีที่ 60% เป็นต้น

 

 “ดังนั้นผู้ประกอบการควรปรับเปลี่ยนช่องทางการทำตลาด โดยหันมาใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคโดยตรงมากขึ้น รวมทั้งใช้ข้อได้เปรียบทางภาษีโดยเจาะตลาดส่งออกไปยังประเทศที่ไทยมีความตกลงเอฟทีเอด้วย  ซึ่งกรมมีโครงการที่จะพาเกษตรกร ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกไม้ดอกไม้ประดับไทยไปสำรวจตลาดและสร้างเครือข่ายธุรกิจในต่างประเทศนำร่องที่สิงคโปร์หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย”

 

 

ส่งออกไม้ดอกไม้ประดับรอคิวรุ่ง

 

สำหรับการส่งออกไม้ดอกไม้ประดับและพันธุ์ไม้ของไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2563  มีมูลค่า 46.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงหรือติดลบ 31% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกไปตลาดหลักของไทยส่วนใหญ่หดตัว เช่น สหรัฐอเมริกา มูลค่า 8.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 46%, ญี่ปุ่น 8.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 17%, สหภาพยุโรป 5.67 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 40%  และเกาหลีใต้ 3.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 31%

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,601 วันที่ 16 - 19 สิงหาคม พ.ศ. 2563