“เบลารุส” ระอุ ประชาชน 2 แสนร่วมชุมนุมขับไล่ผู้นำ

16 ส.ค. 2563 | 23:08 น.

ชาวเบลารุสราว 200,000 คนออกมาชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดวานนี้ (16 ส.ค.) เพื่อคัดค้านผลการเลือกตั้งที่ทำให้ปธน.อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ได้ครองตำแหน่งเป็นสมัยที่ 6 สถานการณ์ส่อเค้าระอุมากขึ้นเมื่อผู้นำรัสเซียเสนอให้ความช่วยเหลือทางการทหารแก่เบลารุส “หากจำเป็น”

 

สถานการณ์ในกรุงมินสค์ เมืองหลวงของ ประเทศเบลารุส ยังคงร้อนระอุและประชาชนยังคงหลั่งไหลออกมา ชุมนุมประท้วง ตามท้องถนนมากขึ้นถึง 200,000 คนโดยประมาณเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (16 ส.ค.) นับเป็น การชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุด หลังจากมีการประท้วงรายวันมาเป็นเวลา 1 สัปดาห์แล้วนับตั้งแต่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่ง นายอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก คว้าชัยชนะท่ามกลางข้อกังขาของประชาชนว่าการเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะมีการโกงเพื่อให้เขาครองตำแหน่งเป็นสมัยที่ 6 หลังจากที่กุมอำนาจบริหารประเทศมายาวนานถึง 26 ปี

นายอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก  ประธานาธิบดีเบลารุส

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า สัญญาณไม่ดีต่อผู้ชุมนุมมีเพิ่มขึ้นเมื่อมีรายงานข่าวว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ได้เสนอให้ความช่วยเหลือทางการทหารแก่ผู้นำเบลารุส หากมีความจำเป็น ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงทางการทหารที่มีระหว่างกัน

 

สถานการณ์ความตึงเครียดในเบลารุสเริ่มขึ้นเมื่อนายลูคาเชนโก ประธานาธิบดีเบลารุส ที่ครองอำนาจมายาวนานถึง 26 ปี คว้าชัยชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยเขาได้คะแนนอย่างท่วมท้นกว่า 80% แต่เป็นชัยชนะที่ค้านกับความรู้สึกของประชาชนส่วนหนึ่งที่ตั้งข้อกังขาว่าเขาโกงการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันฝ่ายค้านได้ออกมาเรียกร้องให้ประชาชนร่วมกันแสดงพลังขับไล่นายลูคาเชนโกด้วยโดยระบุว่า เขาโกงการเลือกตั้งเพื่อยึดครองอำนาจทั้ง ๆที่ได้รับคะแนนความนิยมจากประชาชนน้อยลง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัสเซีย เริ่มผลิตวัคซีนโควิด-19 ล็อตแรกแล้ว

‘Sputnik V’ ความหวังมนุษยชาติ​หรือฉากหน้าการเมือง

"วัคซีนโควิด"รัสเซียเนื้อหอม กว่า20ประเทศสนใจ

“เบลารุส” ระอุ ประชาชน 2 แสนร่วมชุมนุมขับไล่ผู้นำ

ในช่วงแรก ๆ ที่มีการประท้วง ฝ่ายรัฐบาลได้ใช้กำลังเข้าปราบปราม มีรายงานผู้ชุมนุมเสียชีวิตระหว่างถูกจับกุม 2 คน และถูกคุมขังอีกจำนวนหลายพันคน ข่าวผู้ชุมนุมเสียชีวิตจากการถูกจับกุมยิ่งทำให้ประชาชนออกมารวมตัวชุมนุมกันมากขึ้นเพื่อประณามการกระทำที่รุนแรงของเจ้าหน้าที่ ขณะที่นางมิเชล บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้ออกมาประณามการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่เบลารุสด้วยเช่นกัน เพราะได้รับรายงานว่า มีการละเมิดมาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชน และช่วง 3 วันแรกของการชุมนุม ก็มีประชาชนถูกควบคุมตัวกว่า 6,000 คน ซึ่งรวมถึงเยาวชน

 

นางสเว็ตลานา ซิคานอสกายา ฝ่ายค้านที่เป็นคู่แข่งของลูคาเชนโกในการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งหลังแพ้การเลือกตั้งได้หนีไปตั้งหลักที่ประเทศลิทัวเนียตั้งแต่เมื่อวันอังคาร (11 ส.ค.)ได้ออกมาเรียกร้องให้ประชาชนร่วมกัน“เดินขบวนเพื่อเสรีภาพ” ทั้งในเมืองหลวงและเมืองอื่น ๆ ของเบลารุสเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยการชุมนุมในเมืองมินสค์นับว่ามีผู้ร่วมชุมนุมจำนวนมากที่สุดที่ประมาณ 200,000 คน อย่างไรก็ตาม มีการชุมนุมรวมตัวของฝ่ายสนับสนุนนายลูคาเชนโกด้วยเช่นกัน ทำให้สถานการณ์เพิ่มความตึงเครียดเพราะสุ่มเสี่ยงต่อการปะทะของคนสองกลุ่มดังกล่าว

 

นอกจากการเผชิญหน้าภายในประเทศแล้ว นายลูคาเชนโกยังมีแรงกดดันจากต่างประเทศ โดยสหภาพยุโรป (อียู) ได้ออกมาคัดค้านการใช้กำลังเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงในเบลารุสพร้อมทั้งขู่คว่ำบาตร นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต (NATO) ได้ส่งรถถังและเครื่องบินเข้าประจำการใกล้ชายแดนเบลารุส โดยห่างจากชายแดนในระยะเดินทางราว 15 นาทีเท่านั้น โฆษกของนาโตระบุว่า กำลังจับตามองสถานการณ์ในเบลารุสอย่างใกล้ชิดแต่ไม่ได้เพิ่มกองกำลังใกล้แนวชายแดนด้านตะวันตกของเบลารุสแต่อย่างใด

 

นายลูคาเชนโกกล่าวว่า เบลารุสกำลังถูกกดดันโดยต่างชาติ และมีการสมคบคิดกันเพื่อโค่นอำนาจของเขา “กองกำลังของนาโตมาจ่ออยู่ที่ประตูรั้วของเราแล้ว และลิทัวเนีย แลตเวีย โปแลนด์ และยูเครน ต่างก็มาสั่งให้เราจัดการเลือกตั้งใหม่” เขากล่าวว่า ถ้ามีการเลือกตั้งใหม่ เบลารุสก็เท่ากับตายไปแล้วในฐานะประเทศที่มีเอกราช

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับรัสเซียถือเป็นพันธมิตรของนายลูคาเชนโก ระหว่างวันที่ 17-20 ส.ค.นี้ เบลารุสมีกำหนดการฝึกซ้อมรบร่วมกับรัสเซียทางภาคตะวันตกของประเทศ นอกจากนี้ ในทางภูมิรัฐศาสตร์ รัสเซียยังถือว่าเบลารุสเป็นพื้นที่แนวกันชนของรัสเซียในกรณีหากต้องเผชิญหน้ากับนาโต และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นในเชิงเศรษฐกิจ รัสเซียต้องพึ่งพาเบลารุสเป็นพื้นที่วางท่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพื่อลำเลียงจากรัสเซียไปขายให้กับประเทศในยุโรป  ดังนั้น การที่ประธานาธิบดีปูตินเอ่ยปากพร้อมให้ความช่วยเหลือทางการทหารแก่เบลารุสในยามที่ฝ่ายหลังกำลังถูกกดดันทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมาย

 

ข้อมูลอ้างอิง

 Russia offers Belarus military assistance as 200,000 gather in largest demonstration yet

Belarus: Tens of thousands protest in Minsk as Lukashenko rejects election rerun