"สคร.-สภาพัฒน์" ห่วงสัญญาร่วมทุน  ‘โอแอนด์เอ็ม’  มอเตอร์เวย์ 2 สาย

17 ส.ค. 2563 | 11:15 น.

มอเตอร์เวย์ 2 สาย สคร.-สภาพัฒน์  ห่วงสัญญาร่วมทุนโอแอนด์เอ็มมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมาและสายบางใหญ่-กาญจนบุรี  กระทบค่าใช้จ่ายตอบแทนเอกชน หลังทล.ดึงกลุ่มกิจการร่วมค้าบีจีเอสอาร์ร่วมทุนพีพีพี โกรสคอส แนะปรับค่าธรรมเนียม หนุนสภาพคล่องให้เพียงพอ

 

ผลประมูลโอแอนด์เอ็ม มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมาและสายบางใหญ่-กาญจนบุรี  ที่รัฐเร่งผลักดันให้เกิดขึ้นนั้น ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ในส่วนเอกชนร่วมลงทุนการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M โอแอนด์เอ็ม) 2 โครงการ  รวมมูลค่า 7.62 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย มอเตอร์เวย์หมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา มูลค่า 4.14  หมื่นล้านบาท และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี มูลค่า 3.48 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้กรมทางหลวง (ทล.) ได้มีการเจรจากับเอกชน เบื้องต้นเอกชนเสนอขอรับผลตอบแทนจากภาครัฐในโครงการ O&M มอเตอร์เวย์หมายเลข 6 อยู่ที่ 21,308 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง โดยค่าตอบแทนที่เอกชนจะได้รับ อยู่ที่ 33,258 ล้านบาท ส่วนมอเตอร์เวย์หมายเลข 81 เอกชนเสนอขอรับค่าตอบแทนที่ 17,801 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง โดยค่าตอบแทนที่เอกชนจะได้รับ อยู่ที่ 27,828 ล้านบาท

"สคร.-สภาพัฒน์" ห่วงสัญญาร่วมทุน   ‘โอแอนด์เอ็ม’  มอเตอร์เวย์ 2 สาย

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล   ระบุว่า สำหรับร่างสัญญาโครงการมอเตอร์เวย์ทั้ง 2 เส้นทางที่กระทรวงคมนาคมเสนอนั้นเป็นลักษณะให้เอกชนเป็นผู้รับผิดชอบการออกแบบและการก่อสร้างงานระบบ รวมทั้งรับผิดชอบการดำเนินงานในการบำรุงรักษาโดยที่รัฐเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์สิน รวมถึงรายได้ค่าธรรมเนียมผ่านทาง โดยเข้าข่ายการร่วมลงทุนรูปแบบพีพีพี โกรสคอส  ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการจ้างเอกชนดำเนินงาน  ขณะเดียวกันด้านค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเป็นค่าตอบแทนให้แก่เอกชน  ทาง ทล.จะจ่ายให้กับเอกชนโดยใช้เงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทาง หลังจากที่ทล.ประเมินแล้วว่าเพียงพอ ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีความเห็นเกี่ยวกับภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวอาจเกิดปัญหากรณีเงินไม่เพียงพอ ในการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่เอกชน  เนื่องจากวิธีการร่วมลงทุนที่ ทล.เลือกใช้ในโครงการมอเตอร์เวย์ทั้ง 2 สายนั้น รัฐต้องจ่ายค่าตอบแทนการบริการให้แก่เอกชนตลอดระยะเวลาที่ร่วมลงทุนไม่เกิน 30 ปี นับตั้งแต่เปิดให้บริการ จึงควรกำหนดกลไกการปรับอัตราค่าธรรมเนียมในอนาคตและแนวทางในการกำกับการจ่ายค่าตอบแทนเพื่อให้มีกระแสเงินสดเพียงพอ ทั้งนี้ควรมีกลไกการตรวจสอบการปฏิบัติงานของเอกชนและการยืนยันความถูกต้องของยอดรายได้ค่าธรรมเนียมผ่านทางที่ชัดเจน

สำหรับคู่สัญญาทั้ง 2 โครงการนั้น ได้แก่ ทล.และกลุ่มบริษัทกิจการร่วมค้า BGSR ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ชิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ยื่นข้อเสนอขอรับค่าตอบแทนต่ำสุดหรือกว่าราคากลาง 35%  จะต้องจัดตั้งนิติบุคคลขึ้นใหม่เพื่อลงนามสัญญา โดยระยะแรกเป็นการออกแบบและการก่อสร้าง ระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี โดย ทล.จะส่งมอบพื้นที่ให้กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR  ทำสัญญาประกันภัยโครงการของงาน หลังจากนั้นจะออกหนังสือแจ้งให้เริ่มดำเนินงานของกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR โดยกำหนดวันเริ่มงานไม่น้อยกว่า 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ให้ออกหนังสือ ทั้งนี้ต้องออกแบบรายละเอียดให้แล้วเสร็จภายใน 9 เดือน นับตั้งแต่วันเริ่มต้นงาน รวมทั้งต้องจัดทำรายงานแสดงความก้าวหน้าของงานออกแบบและก่อสร้างให้ทล.ทุกเดือน ซึ่งกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายการดำเนินงานในระยะแรก  

ขณะเดียวกันระยะที่สอง กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR เป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินงานและบำรุงรักษา เพื่อให้การบริการเส้นทางมอเตอร์เวย์เป็นไปอย่างต่อเนื่องและไม่หยุดชะงัก ในกรณีกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR  ไม่ดำเนินการตามข้อตกลงของทล. ทาง ทล.จะมีหนังสือแจ้งเพื่อดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จตามที่กำหนด หากไม่สามารถดำเนินการตามข้อตกลงระดับการให้บริการ (SLA) และผลการบริหารไม่เป็นไปตามตัวชี้วัดประสิทธิภาพของการดำเนินงานและบำรุงรักษา (KPIs) ทางกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR ต้องยินยอมให้ ทล.ปรับลดค่าตอบแทนและรับผิดชอบในการส่งมอบค่าธรรมเนียมผ่านทางเต็มจำนวนให้ ทล.ซึ่งมีระยะเวลารวมทั้งสิ้น 30 ปี นับตั้งแต่วันที่เปิดให้บริการ

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุอีกว่า  ทั้งนี้ ทล.จะส่งมอบงานโยธาและพื้นที่โครงการให้กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR ตามสัญญา หากงานโยธาเกิดความเสียหาย ซึ่งมาจากแบบหรือการก่อสร้างภายในระยะยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่เปิดให้บริการ ทล.จะรับผิดชอบในการจ่ายค่าตอบแทนการบริการให้แก่กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR รายไตรมาส

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

ดันอีก 6 เส้นทาง ‘มอเตอร์เวย์’3แสนล้าน

นำร่อง 3 มอเตอร์เวย์ “อีสาน-ใต้” เชื่อม “ทางคู่”

 

อัพเดท ความคืบหน้า "มอเตอร์เวย์" ความหวังคนโคราช (คลิป)

 

ส่วนการยกเลิกสัญญาก่อนกำหนดระยะเวลาตามสัญญานั้น  ในกรณีที่กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR ไม่สามารถจัดหาเงินทุนได้ภายใน 120 วัน นับตั้งแต่วันที่ลงนามสัญญา รวมทั้งหากมีเงินค่าปรับสะสมเกิน 10% ของมูลค่าสัญญางานในระยะแรกและกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR ไม่ผ่านการประเมินรอบ 5 ปี โดยทล.มีสิทธิบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญา ขณะเดียวกันหากทล.ค้างชำระค่าตอบแทนติดต่อกัน 2 งวด โดยไม่ใช่เหตุสุดวิสัย ทางกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR มีสิทธิบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาเช่นกัน

ทั้งนี้หากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นของ 2 โครงการดังกล่าวระหว่างกัน คู่สัญญาสามารถเจรจาระหว่างกันเพื่อให้ได้ข้อยุติ หากไม่สามารถหาข้อยุติลงได้ภายใน 60 วัน ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถดำเนินการฟ้องร้องข้อพิพาทดังกล่าวต่อศาลได้ 

 

 

 

อย่างไรก็ตามสำหรับค่าผ่านทางโครงการโอแอนด์เอ็มมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง  196 กม. ขนาด 4-6 ช่องจราจร ทางแยกต่างระดับ 10 แห่ง ด่านเก็บค่าผ่านทาง 9 แห่ง  เชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  กำหนดอัตราค่าผ่านทางสำหรับรถยนต์ 4 ล้อ อยู่ที่ 15-240 บาท ซึ่งจะมีการปรับค่าผ่านทางทุกๆ 5 ปี  ขณะที่โครงการโอแอนด์เอ็มมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี  ระยะทาง 96 กม. ขนาด 4-6 ช่องจราจร ทางแยกต่างระดับ 8 แห่ง ด่านเก็บค่าผ่านทาง 8 แห่ง เชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมสู่ภาคตะวันตก และโครงการท่าเรือนํ้าลึกทวาย โดยกำหนดอัตราค่าผ่านทางสำหรับรถยนต์ 4 ล้อ อยู่ที่  10-150 บาท ซึ่งจะมีการปรับค่าผ่านทางทุกๆ 5 ปี 

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศราฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,601 วันที่ 16 - 19 สิงหาคม พ.ศ. 2563