“นิสสัน มิตซูบิชิ” ชูไทยฐานผลิตสร้างกำไร - ลุยรถยนต์ไฟฟ้า

14 ส.ค. 2563 | 01:15 น.

"นิสสัน มิตซูบิชิ" ปักธงอาเซียนเพื่อสร้างผลกำไร ยึดไทยเป็นฐานผลิตใหญ่ พร้อมแชร์ทรัพยาการร่วมกัน ทั้งการพัฒนา ปิกอัพ พีพีวี เอ็มพีวี ส่วน "รถยนต์ไฟฟ้า" รุ่นใหม่ๆ จะทยอยทำตลาดตั้งแต่ปี 2564

สองพันธมิตร “นิสสัน มิตซูบิชิ” ปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ ตามการประกาศแผนงานระยะกลาง โดยค่ายแรกกำหนดเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2566 ส่วนค่ายหลังวาง 3 ปี พ.ศ. 2563-2565 ซึ่งหลักใหญ่ใจความสำคัญคือ การรีดไขมัน ไม่ลงทุนฟุ้งเฟ้อ ย่อขนาดองค์กรลง แต่เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน หวังให้บริษัทกลับมามีกำไร เมื่อสิ้นสุดแผนธุรกิจดังกล่าว

สำหรับ นิสสัน มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้การนำของ “มาโคโตะ อูชิดะ” ประกาศเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า บริษัทต้องลดธุรกิจที่ไม่ทำกำไร และโรงงานที่เกินความจำเป็นลง ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างองค์กร พร้อมลดต้นทุนคงที่

นอกจากนี้ จะลดจำนวนรุ่นรถยนต์ทั่วโลกลง 20% หรือเหลือ 55 รุ่น จากเดิม 69 รุ่น ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าประเภท อีวี มีแผนเปิดตัว 8 รุ่นใหม่ภายใน 4 ปีข้างหน้า ประเดิมกับ Nissan Ariya ในปี 2564 เป็นโมเดลแรก (คาดว่าเมืองไทยนำเข้ามาขายปี 2565)

นายอูชิดะ เปิดเผยว่า หลังการปิดโรงงานผลิตในประเทศอินโดนีเซียแล้ว นิสสันจะมุ่งให้ความสำคัญกับโรงงานในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นฐานการ ผลิตแห่งเดียวในอาเซียนของนิสสัน

“นิสสัน มิตซูบิชิ” ชูไทยฐานผลิตสร้างกำไร - ลุยรถยนต์ไฟฟ้า

 

ฝั่ง มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น โดยนายทาคาโอะ คาโตะ ซีอีโอคนใหม่ (แทนนายโอซามุ มาสุโกะ ที่ลาออกไปด้วยปัญหาทางสุขภาพ) ประกาศกลยุทธ์ “Small but Beautiful” ของแผนงานระยะกลางว่า บริษัทจะมุ่งเน้นการบริหารจัดการทรัพยากรในอาเซียน และให้ความสำคัญกับการปรับปรุงต้นทุนให้มีความเหมาะสม และยกระดับความสามารถในการสร้างผลกำไร

มิตซูบิชิ มอเตอร์ส วางแผนลดต้นทุนคงที่ลง ไม่น้อยกว่า 20% เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2562 โดยมุ่งลงทุนในภูมิภาคหลัก (ที่มีโอกาสทำกำไร) เช่น อาเซียน แอฟริกา โอเชียเนีย อเมริกาใต้ และจีน  (ร่วมกับพันธมิตร) นอกจากนี้ ยังเตรียมถอนธุรกิจออกจากยุโรป โดยเริ่มจากการไม่เปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ในภูมิภาคนี้

“เราจะให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรในอาเซียน และเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดให้ได้มากกว่า 11% พร้อมเสริมความแข็งแกร่งด้วยการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งรถยนต์ปลั๊ก-อินไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้า ภายในปีงบประมาณ 2565 รวมถึงรถยนต์รุ่นใหม่ทั้งรถอเนกประสงค์ ปิกอัพ และเอ็มพีวี ในอาเซียน ตั้งแต่ปีงบ ประมาณ 2565 เป็นต้นไป” นายคาโตะ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในส่วน Mitsubishi Outlander PHEV มิตซูบิชิ ยืนยันเปิดตัวในไทยตามแผนเดิม (นายโมะริคาซุ ชกกิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย เคยเปิดเผยว่าเตรียมเปิดตัวเดือนมกราคม 2564) ซึ่งไทยจะเป็นประเทศแรกนอกญี่ปุ่น ที่ได้ผลิต รถปลั๊ก-อินไฮบริด มิตซูบิชิ

สำหรับ Mitsubishi Outlander PHEV ที่เตรียมผลิตและขายในไทยยังเป็นโมเดลปัจจุบันที่ขายในตลาดโลก ส่วน Mitsubishi Outlander โมเดลเชนจ์จะเปิดตัวในปีงบประมาณ 2564 และขุมพลังปลั๊ก-อินไฮบริด จะตามหลังมาอีก 1 ปี

ในปีงบประมาณ 2565 (เริ่มเมษายน 2565-มีนาคม 2566) มิตซูบิชิ ยังมีแผนเปิดตัว ปิกอัพเจเนอเรชันใหม่ หรือ Mitsubishi Triton โมเดลเชนจ์ อีกด้วย ซึ่งตามแผนงานของกลุ่มพันธมิตร นิสสัน เรโนลต์ มิตซูบิชิ จะนำแพลตฟอร์มของปิกอัพมิตซูบิชิ ไปพัฒนาเป็นโปรดักต์ของตนเอง ซึ่งรวมถึง พีพีวี (ปาเจโร่ สปอร์ต) ที่เตรียมเปิดตัวหลังปี 2566

ด้านรถยนต์ขายดี Mitsubishi Xpander โฉมปัจจุบันเตรียมเพิ่มทางเลือกด้วยรุ่นไฮบริด พร้อมเปิดตัวในปีงบประมาณ 2566 (ปัจจุบันวางเครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตร)

สำหรับ Mitsubishi Xpander ที่ทำตลาดในปัจจุบัน มีฐานการผลิตที่อินโดนีเซีย ซึ่งนิสสัน นำเอ็มพีวีรุ่นนี้ มารีดีไซน์ พร้อมแปะป้ายขายในชื่อ Nissan Livina ที่อินโดนีเซียแล้ว ถือเป็นโครงการที่แสดงให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์จากรถยนต์รุ่นเดียวกันได้อย่างชัดเจน ส่วนเมืองไทยยังไม่มีแผนนำเข้า Nissan Livina มาจำหน่ายในตอนนี้ 

 

หน้า  15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,600 วันที่ 13 - 15 สิงหาคม พ.ศ. 2563