“สุริยะ” เดินหน้าขับเคลื่อนอุตฯอ้อยและน้ำตาลด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ

10 ส.ค. 2563 | 07:45 น.

กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ ดันเข้าสู่โมเดลประเทศไทย 4.0

นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักมีหน้าที่กำกับดูแลอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย มีความมุ่งมั่นตั้งใจมาอย่างต่อเนื่องที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งความหวานนี้ให้มีเสถียรภาพ แม้ในช่วงเวลาที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยต้องเผชิญกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งเงื่อนไขทางการค้าระหว่างประเทศ และปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

                ทั้งนี้  เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่เพิ่มขึ้นและรองรับกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป ตั้งแต่การปรับแก้กฎหมายให้ครอบคลุมกับการนำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอล และผลิตภัณฑ์อื่นๆ รวมถึงการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตไปพร้อมกับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และการที่จะก้าวไปสู่โมเดลประเทศไทย 4.0 อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตจากเดิมที่ขับเคลื่อนด้วยการพัฒนาประสิทธิภาพ ในการผลิตภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม ไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Innovation Drive Economy) โดยมีเทคโนโลยีชีวภาพเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน

                “รัฐบาลโดยการนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมที่จะสนับสนุน ส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมยกระดับเป็นเกษตรปลอดการเผา”

“สุริยะ” เดินหน้าขับเคลื่อนอุตฯอ้อยและน้ำตาลด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ

                นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ปรับบทบาทการทำงานในรูปแบบเน้นการบูรณาการโดยการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมกับการสร้างความเป็นธรรม รักษาผลประโยชน์ ในระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และผลักดันอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้เติบโตไปพร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อม

ในฤดูการผลิต ปี 2562/2563 ที่ผ่านมาถือเป็นก้าวแรกของความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ที่มีมาอย่างยาวนาน มีปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบคิดเป็น 49.65% จากปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด และในปี พ.ศ. 2563 ถือเป็นปีที่ท้าท้ายของระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในประเทศไทย เพราะฉะนั้นการดำเนินการเพื่อพัฒนา และส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ต้องสอดคล้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งในฤดูการผลิตปี 2563/2564 จะหาแนวทางเพื่อกำหนดมาตรการจูงใจที่คุ้มค่าเพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด

                และการที่จะไปถึงเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ได้สำเร็จนั้น บุคคลที่สำคัญเห็นจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก พี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อย โดยการแก้ไขฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ผ่านมาเกษตรกรชาวไร่อ้อยถือเป็นกลุ่มเกษตรกรกลุ่มแรกที่ได้ให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง รวมถึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมกันรณรงค์แก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้อย่างจริงจังมาโดยตลอด

                นายเอกภัทร  วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า สำหรับพิธีมอบรางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นและโรงงานน้ำตาลดีเด่น ประจำปี 2563 เป็นเสมือนการยืนยันถึงความรู้ ความสามารถ และความวิริยะอุตสาหะในการพัฒนาตนเอง และการประกอบธุรกิจ เพื่อสรรสร้างสิ่งที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยอย่างแท้จริง และแสดงให้เห็นถึงการส่งเสริมสนับสนุนของภาครัฐ เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีการร่วมมือร่วมใจ ในการพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมนี้ให้มีความเข้มแข็งและเจริญก้าวหน้าต่อไป

เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติและเป็นกำลังใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยและผู้บริหารโรงงานน้ำตาล ที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายอย่างสม่ำเสมอตลอดมา สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายจึงคัดเลือกเกษตรกรชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล ที่มีผลงานการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพการผลิตดีเด่น เพื่อเข้ารับถ้วยเกียรติยศและโล่ประกาศเกียรติคุณจากกระทรวงอุตสาหกรรม โดยในปีนี้ สำนักงานได้คัดเลือกเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่มีผลงานการพัฒนาด้านอ้อยดีเด่น และโรงงานน้ำตาลที่มีประสิทธิภาพการผลิตสูงสุด รวม 89 รางวัล ประกอบด้วย
                1. รางวัลโรงงานน้ำตาลดีเด่น จำนวน 3 รางวัล และระดับดี จำนวน 11 รางวัล ,2. รางวัลอ้อยรักษ์โลก จำนวน 4 รางวัล ,3. รางวัลโรงงานน้ำตาลที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาประสิทธิภาพและคุณภาพอย่างต่อเนื่อง 4 ปี ติดต่อกัน จำนวน 1 รางวัล ,4. รางวัลชาวไร่อ้อยแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์พระราชา จำนวน 5 รางวัล ,5. รางวัลชาวไร่อ้อยที่มีผลผลิตและคุณภาพอ้อยดีเด่น จำนวน 5 รางวัล ,6. รางวัลชาวไร่อ้อยที่มีการบริหารจัดการปัจจัยการผลิตที่มีประสิทธิภาพด้านการจัดการพันธุ์อ้อย น้ำ ดินและปุ๋ย จำนวน 16 รางวัล

                ,7. รางวัลชาวไร่อ้อยที่มีการบริหารจัดการไร่อ้อยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จำนวน 6 รางวัล ,8. รางวัลชาวไร่อ้อยตัวอย่าง จำนวน 4 รางวัล และ9. รางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นของสถาบันชาวไร่อ้อย จำนวน 34 รางวัล

                “การมอบรางวัลดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างกำลังใจ และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของเกษตรกรชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล ให้มีผลผลิตที่ดี รักษามาตรฐาน และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้เติบโตอย่างยั่งยืนพร้อมแข่งขันในเวทีสากลต่อไป”