ส่องชีพจร ‘เศรษฐกิจไทย’ ในวันที่ลมหายใจรวยริน ผ่านนักเศรษฐศาสตร์ มธ. 

07 ส.ค. 2563 | 08:05 น.

ส่องชีพจร ‘เศรษฐกิจไทย’ ในวันที่ลมหายใจรวยริน จากมุมมองของดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว นักเศรษฐศาสตร์ มธ.

แม้ว่า “ประเทศไทย” จะได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่รับมือกับโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี  แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “โควิด-19” ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศ เฉกเช่นกับอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก ล่าสุด “ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว” คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) สะท้อนมุมมองในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ เมื่อเศรษฐกิจไทยตกอยู่ในสภาพ “เคราะห์ซ้ำกรรมซัด”

 

“ดร.เกียรติอนันต์” กล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยยังต้องแบกรับปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการส่งออก และโครงสร้างเศรษฐกิจที่ยังไม่ปรับเปลี่ยน ยังอยู่ในยุค 3.0 ไม่ได้ก้าวผ่านสู่ยุค 4.0 ที่จะช่วยเสริมแกร่งด้านการแข่งขัน และการเข้ามาของโควิด-19 จึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เหมือนคนที่ป่วยอยู่แล้ว พอติดเชื้อซ้ำ ก็เจ็บหนักกว่าคนอื่น

 

“ในอดีต ถึงแม้จะส่งออกไม่ได้แต่ก็ยังมีภาคการท่องเที่ยวเข้ามาช่วยได้ หรือส่งออกไม่ได้แต่ก็ยังพอมีรายได้จากรัฐเข้ามาบ้าง คนในประเทศช่วยซื้อของบ้าง มีการลงทุนบ้าง แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นการหยุดโลก หยุดการค้า หยุดการเดินทาง หยุดการท่องเที่ยว เรียกได้ว่าเป็นการหยุดทุกอย่างและบังคับให้ทุกประเทศพึ่งตนเอง”

 

นักเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ จำแนกผลกระทบที่เกิดขึ้นออกเป็น 3 กลุ่ม คือผลกระทบต่อประชาชน ต่อภาคธุรกิจ และต่อรัฐบาล โดยทั้งหมดมีความเชื่อมโยงกัน เริ่มจาก “ภาคธุรกิจ” ซึ่งมีความเชื่อมโยงกันในฐานะแหล่งรายได้ หากมองเป็นรายภาคจะพบว่าภาคส่งออกที่ว่าลำบากแล้ว ภาคบริการ-ภาคท่องเที่ยว ยิ่งลำบากกว่า เพราะเราไม่เคยมีครั้งไหนเลยที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวกลายเป็นศูนย์

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

 “ที่น่าห่วงคือเราไม่รู้ว่าอีกกี่เดือนที่จะเปิดประเทศได้อีกครั้ง จะพึ่งคนในประเทศเที่ยวกันเอง คนในประเทศโดนล็อกดาวน์จนตกงานเหมือนกัน จากตัวเลขหลายๆ แหล่งพบว่ามีคนตกงานราว 8-10 ล้านคนแล้ว ถึงคนจะเที่ยวก็เที่ยวแบบไม่ยาวเหมือนก่อน เที่ยวแล้วไม่จ่ายเยอะ พอภาคท่องเที่ยวลำบากปุ๊บก็โยงไปถึงร้านค้าปลีก ค้าส่ง ภาคเกษตร ขายของ ร้านค้าในเมือง ทุกแห่งเงียบหมด เชียงใหม่ตอนนี้กลายเป็นเมืองร้าง นี่คือภาพของภาคเศรษฐกิจภาคท่องเที่ยวที่มีปัญหา”

 

เมื่อพิจารณา “ขนาดของธุรกิจ” จะพบว่าธุรกิจใหญ่ที่มีสายป่านยาว มีเงินสะสมเยอะก็ยังพอประคับประคอง  ตัวเองไปได้ หรือถ้าเขาลำบากจริงๆ ก็ยังสามารถขอกู้เงินจากธนาคารได้ง่าย  ทว่าในส่วนของธุรกิจขนาดกลางและเล็ก หรือเอสเอ็มอี โดยเฉพาะไซส์เอส (ขนาดเล็ก) ปกติเขาจะมีเงินสดอยู่ในมือถืออยู่ได้ประมาณ 45-60 วัน แต่ในสถานการณ์ขณะนี้ที่ 90 วัน ไม่มีเงินเข้ามาเลย ธุรกิจพวกนี้จะล้มลง

 

“กลุ่มธุรกิจพวกนี้จะมีการจ้างงาน 30% จากคนในประเทศ คนก็จะตกงานมากขึ้น เป็นภาพที่ว่าธุรกิจแย่ไปหมดทุกหย่อมหญ้า และที่บอกว่า 18 บาทที่เหลือ คนก็ไม่ได้ใช้จ่าย 18 บาทนะ คนจะคิดมากขึ้น คือจะใช้จ่ายแค่ 8 บาท เก็บไว้ 10 บาท เศรษฐกิจมันเลยหมุนช้าลงๆ น้อยลงๆ พอภาคธุรกิจที่มีจำนวนถึง 3 ล้านรายในประเทศไทย ต้องมาแย่งเงินที่เหลืออีกแค่ 10 บาทเนี่ย ก็เลยมีการฟาดฟันที่ดุเดือดมาก”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯย้ำ "ปรับ ครม." ดึง "นักเศรษฐศาสตร์ การเงิน การธนาคาร" ร่วมทีม

ธปท.ย้ำ เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว

 

ดร.เกียรติอนันต์ บอกว่า ประเด็นก็คือ เมื่อธุรกิจกำลังจะตาย ทุกอย่างก็จะวิ่งกลับมายังภาครัฐว่ามีมาตรการช่วยเหลืออย่างไร ดังนั้นมาตรการช่วยเหลือในขณะนี้จำเป็นต้องช่วยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว   แต่ในระยะสั้นก็ต้องให้เงินเขาก่อน จะ 3,000 บาท 5,000 บาท หรือเท่าไรก็ว่ากันไป แต่ต้องเข้าใจด้วยว่าเงินพวกนี้พอใส่เข้าไปแล้วมันไม่ได้ก่อนให้เกิดรายได้กลับมาสู่ภาครัฐทันที

 

ประเด็นต่อมาก็คือเงินที่รัฐบาลเอามาช่วยเหลือนั้นมาจากไหน ซึ่งแน่นอนว่าต้องมาจาก “ภาษี”     แต่เมื่อธุรกิจล้มหายตายจาก คนไม่มีรายได้ ส่งออกไม่ได้ ท่องเที่ยวไม่ได้ ภาษีก็ไม่เข้ารัฐ

 

“ตอนนี้รัฐบาลเลยต้องนำเงินสำรองออกมาใช้จนหมด แล้วก็ต้องกู้ ไม่มีทางเลือกมันต้องกู้ แต่ภาระหนี้ก้อนนี้จะถูกวางลงในประเทศไทยที่ธุรกิจง่อนแง่น ประชาชนกำลังลำบาก เงินชักหน้าไม่ถึงหลัง และรัฐบาลเองก็ไม่รู้จะหาเงินที่ไหนมาเสริม

ส่องชีพจร ‘เศรษฐกิจไทย’ ในวันที่ลมหายใจรวยริน ผ่านนักเศรษฐศาสตร์ มธ. 

ขณะที่หลายฝ่ายหวั่นวิตกต่อ “โควิด-19” ระลอก 2  ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวว่า ถ้าเจอโควิด-19 ระลอก 2 จะเหมือนคนอยู่ในไอซียูแล้วโดนฟ้าผ่า ถ้าไม่แข็งแรงจริงๆ หรือหมอไม่เก่งจริงๆ ต้องอาศัยบุญเก่าถึงจะรอด เพราะหากเกิดการระบาดระลอก 2 จนถึงขั้นมีการล็อกดาวน์ปิดบ้านปิดเมืองอีกครั้ง ประเทศเราจะจบสิ้นทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน

 

มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ที่กลายมาเป็น New Normal ในยุคโควิด-19 แพร่ระบาด  มองว่าไม่ใช่นิวนอร์มอลที่แท้จริง เพราะเมื่อใดที่มีวัคซีนคนก็จะกลับมากอดกัน นี่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่อยากจะอยู่ใกล้ชิดกัน เมื่อปลอดภัยคนจะกลับมาใกล้ชิดกันอีกครั้งหนึ่ง ฉะนั้น Social Distancing จะเป็นแค่ปรากฏการณ์ชั่วคราว

 

“นิวนอร์มอลที่แท้จริงมันซ่อนอยู่ข้างหลัง คือการใช้ระบบออนไลน์มากขึ้น สถานการณ์บังคับให้เราวิ่งเข้าสู่ 4.0 หรือที่เรียกว่า disruption ตอนนี้ขายไม่ได้ ต้องปิดหน้าร้าน ต้องส่ง ต้องใช้ไลน์ให้เป็น ทุกคนถูกบังคับให้ดิจิทัลเข้ามาเป็นวิถีชีวิต โดยเฉพาะภาคธุรกิจมันทำให้เกิด Digital Transformation เร็วกว่าที่ควร”

 

สำหรับธุรกิจในอนาคต “ดร. เกียรติอนันต์” มองว่า ไม่ใช่เพียงแค่ขายเก่ง หรือวางคอนเทนต์เป็นแล้วจะขายของได้ แต่จะต้องมี “ลูกค้ากลุ่มเฉพาะ” ที่สนใจสินค้า แต่เฉพาะนี้ต้องพิจารณาอีกว่าเฉพาะขนาดไหน

 

“นักธุรกิจในยุคหน้า นอกจากจะใช้ไอทีเป็นแล้ว ต้องรู้จักควานหาลูกค้ากลุ่มที่เป็นลิสต์ของเรา  เข้าใจเขา สร้างคอนเทนต์ เจาะกลุ่มได้ มันหมดยุคของการเวียงแหแล้ว ถ้าเราสังเกตฟีดในเฟซบุ๊กตอนนี้ก็จะมีโฆษณาเยอะกว่าช่วงก่อน แต่ความน่ากลัวคือลักษณะเฉพาะของคนไทยชอบแห่ตามๆ กันอะไรที่มองว่าคนอื่นทำได้ดีเราก็จะทำตาม ยิง ads คล้ายๆ กัน สุดท้ายกลายเป็นกินกันเอง”

ส่องชีพจร ‘เศรษฐกิจไทย’ ในวันที่ลมหายใจรวยริน ผ่านนักเศรษฐศาสตร์ มธ. 

ภาคธุรกิจยุคหน้าเป็นยุคที่ “ช้าตาย” คือทำอะไรช้ากว่าชาวบ้านตาย แต่เร็วก็ตาย คือคิดไม่ดีก่อนก็ตาย อ้วนก็ตาย อุ้ยอ้ายแบกต้นทุนไว้เยอะก็ตาย และถึงประหยัดเกินไปคุณภาพไม่ดีก็ตาย ทางตายมันมีสี่แพร่ง ธุรกิจต้องสมดุลให้ได้ว่าฉันจะอยู่ยังไง

 

“คนที่ขายของคนแรกไม่ใช่คนที่ขายของได้ดีที่สุด เพราะลูกค้าจะรอคนต่อๆ ไป ชั่งน้ำหนักแล้วตัดสินใจ เพราะฉะนั้นไม่ต้องคิด commercial speed ลูกค้าจะมองจนครบสิ่งที่ต้องการ ไม่ต้องช้าแต่ไม่ใช่อืดเป็นเรือเกลือ โดยเฉพาะช่วงโควิด คะแนนความพึงพอใจของผู้ให้บริการธุรกิจหลายอย่างตกพรวดเพราะลูกค้าจะคุยกับคน ตัวอย่างง่ายๆ คือจองตั๋วไว้ก่อน พอโควิดอาจจะเลิก แล้วพอติดต่อไปปุ๊บ AI ตอบไม่เหมือนกับคน ฉะนั้นเราจะบาลานซ์ยังไงให้เอาเทคโนโลยีมาเพิ่มความเก่งแต่ไม่ทิ้งมิติของการดูแลมนุษย์ ทั้งในด้านการเรียน การสอน การทำธุรกิจ หรือว่านโยบายอะไรก็ตาม”