โตเกียวยังยืนหนึ่งยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19ในญี่ปุ่น

06 ส.ค. 2563 | 13:56 น.

ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19ในญี่ปุ่นยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โตเกียวครองอันดับ1 ส่วนอันดับ 2 โอซากา สร้างสถิติใหม่มากสุดเป็นประวัติการณ์ ด้านผู้ว่าราชการโตเกียวและหลายจังหวัดงัดมาตรการเฝ้าระวังและขอความร่วมมืองดเดินทางในช่วงเทศกาลโอบ้งหรือเทศกาลไหว้บรรพบุรุษ

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด -19 ( COVID-19)  ในประเทศญี่ปุ่น ประจำวันที่ 6 สิงหาคม 2563 ณ เวลา 18.00 น. ญี่ปุ่นมียอดผู้ติดเชื้อใหม่ทั่วประเทศ 1,305 คน โดยจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากมีดังนี้ กรุงโตเกียว 360 คน นับเป็นวันที่ 10 ติดต่อกันที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 200 คน/วัน โดยประมาณร้อยละ 64 เป็นผู้ติดเชื้ออายุระหว่าง 20-39 ปี


จังหวัดโอซากา 225 คน มากที่สุดเป็นประวัติการณ์,จังหวัดฟูกูโอกะ 137 คน นับเป็นวันที่ 2 ติดต่อกันที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 100 คน/วัน ,จังหวัดไอจิ 140 คน นับเป็นวันที่ 10 ติดต่อกันที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 100 คน/วัน ,จังหวัดโอกินาวา 73 คน และยังมีผู้ติดเชื้อใหม่ในฐานทัพสหรัฐฯ อีก 10 คนและ จังหวัดเฮียวโกะ 61 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ในประวัติการณ์

โตเกียวยังยืนหนึ่งยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19ในญี่ปุ่น
ขณะที่ข้อมูลสรุปของวันที่ 5 สิงหาคม ผู้ติดเชื้อใหม่ทั่วประเทศญี่ปุ่นจำนวน 1,357 คน รวมยอดผู้ติดเชื้อสะสมในญี่ปุ่น 42,813 คน  โดยเป็นผู้ป่วยอาการรุนแรง 104 คน , ผู้เสียชีวิต 1,028 คน (เพิ่มขึ้น 5 คนจากวันก่อนหน้า) ,จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากที่สุด ได้แก่ (1) กรุงโตเกียว 263 คน (2) จังหวัดโอซากา 196 คน (3) จังหวัดไอจิ 147 คน (4) จังหวัดฟูกูโอกะ 123 คน (5) จังหวัดคานากาวะ 81 คน 
 

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ผู้ว่าราชการกรุงโตเกียว ได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า สถานการณ์โดยรวมไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมามากนัก แต่ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดเป็นพิเศษ โดยขอเน้นย้ำการปฏิบัติตนสำหรับผู้สูงอายุ เช่น การสวมหน้ากากอนามัยการล้างมือเป็นประจำ ระวังการเป็นลมแดด หลีกเลี่ยงการไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตในช่วงที่ผู้คนไม่หนาแน่น รวมทั้งขอให้ซูเปอร์มาร์เก็ตจัดช่องจ่ายเงินพิเศษและจัดเวลาการซื้อของพิเศษสำหรับผู้สูงอายุ 


ขณะเดียวกัน ขอให้ครอบครัวที่มีผู้สูงอายุสวมใส่หน้ากากหากมีการสนทนาเป็นเวลานาน ไม่รับประทานอาหารเวลาเดียวกัน ต่างคนต่างรับประทานอาหารของตนเองแยก ไม่ใช้ผ้าเช็ดหน้า แก้วและยาสีฟันร่วมกัน


ส่วนในช่วงเทศกาลโอบ้ง (เทศกาลไหว้บรรพบุรุษ)ขอให้ประชาชนงดเดินทางออกจากกรุงโตเกียว โทรศัพท์หรือคุยออนไลน์กับญาติพี่น้องในต่างจังหวัดแทน และงดการกินเลี้ยงสังสรรค์ยามค่ำคืน  ซึ่งหากสถานการณ์แย่ลง อาจจะต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงขอให้ประชาชนร่วมมือกันไม่ให้สถานการณ์แย่ลงไปมากกว่านี้


ขณะที่จังหวัดต่าง ๆ ขอความร่วมมือประชาชนในช่วงเทศกาลโอบ้ง ดังนี้

1. การขอให้พิจารณางดการเดินทาง ได้แก่ จังหวัดไอจิ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคมเป็นต้นไป ขอความร่วมมือประชาชนไม่ออกจากบ้านหากไม่มีเหตุจำเป็นและเร่งด่วน พิจารณางดเดินทางข้ามจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีอาการป่วย และขอความร่วมมือกินเลี้ยงสังสรรค์เป็นกลุ่มเล็ก ไม่เกิน 5-6 คน
 

จังหวัดคุมาโมโตะ ยกระดับความเสี่ยงของการแพร่ระบาดในจังหวัดเป็นระดับสูงสุด “เฝ้าระวังสถานการณ์เป็นพิเศษ” โดยขอความร่วมมือชาวเมืองเตือนไม่ให้ครอบครัว ญาติพี่น้อง หรือเพื่อน เดินทางไปเยี่ยมที่จังหวัด


จังหวัดโอกินาวา ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและขอความร่วมมือประชาชนในทุกพื้นที่ในจังหวัดงดออกจากบ้านหากไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน รวมทั้งงดการเดินทางเข้าไปในจังหวัด ถึงแม้จะเป็นการเดินทางกลับภูมิลำเนาก็ตาม


จังหวัดอิบารากิ ขอให้ชาวกรุงโตเกียวงดเดินทางกลับจังหวัดอิบารากิเพื่อเยี่ยมครอบครัวและขอความร่วมมือชาวเมืองไม่ออกจากบ้านหากไม่มีเหตุจำเป็นหรือเร่งด่วน


จังหวัดฟุคุอิ ขอให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงโตเกียวและจังหวัดที่มีสัดส่วนผู้ติดเชื้อต่อประชากรสูงงดเดินทางไปยังจังหวัด


จังหวัดยามานาชิ มิได้ห้ามการเดินทางไปยังจังหวัดเพื่อเยี่ยมภูมิลำเนา แต่ขอให้พิจารณาตัดสินใจร่วมกับครอบครัวอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวที่มีคนชรา


2. การขอให้เพิ่มความระมัดระวังในการป้องกันตนเองและการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น ได้แก่ จังหวัดวาคายามะ จังหวัดอาโอโมริ และจังหวัดฟูกูโอกะ


ด้านนายกรัฐมนตรีอาเบะได้แถลงข่าวจากเมืองฮิโรชิมาว่า ช่วงเทศกาลโอบ้งมิใช่ช่วงที่จะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยทันที เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในขณะนี้ต่างจากสถานการณ์ในช่วงเดือนเมษายนเป็นอย่างมาก เช่น มีผู้ป่วยอาการหนักจำนวนไม่มาก และรัฐบาลได้เตรียมเตียงผู้ป่วยไว้เพียงพอ ทั้งนี้ ขอให้ทุกคนเพิ่มความระมัดระวังในการป้องกันตนเอง หลีกเลี่ยงการเข้าร่วมกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันจำนวนมาก และระมัดระวังการแพร่เชื้อไปยังผู้สูงอายุ