ศาลถอนคำสั่งปลด“อดีตผอ.สรรพากร”ปมโอนหุ้นชินคอร์ป 

06 ส.ค. 2563 | 10:57 น.

ศาลปกครองสูงสุดสั่งถอนคำสั่ง “คลัง”ปลดอดีตผอ.กฎหมายสรรพากร พ้นตำแหน่ง หลังให้ความเห็นปมโอนหุ้นชินคอร์ป ชี้ไม่มีหลักฐานได้รับประโยชน์-ไม่เข้าข่ายผิดวินัย ส่งผลให้คำสั่งปลดไม่ชอบก.ม.

วันนี้(6 ส.ค.63) ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในคดี ระหว่าง นายวิชัย จึงรักเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กรมสรรพากร ยื่นฟ้อง กระทรวงการคลัง กับพวก รวม 2 ราย กรณีกระทรวงการคลังมีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการตามมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และมีคำสั่งลดโทษจากไล่ออกเป็นปลดออกจากราชการ กรณีผู้ฟ้องคดีร่วมกันพิจารณาการรับโอนหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) ของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ โดยรับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่นั้น

 

ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 658/2551 ที่ลงโทษนายวิชัยจากไล่ออกจากราชการเป็นปลดออกจากราชการ โดยมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. 2549 ซึ่งเป็นวันที่คำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับ และมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา โดยควรคืนสิทธิประโยชน์ที่นายวิชัยพึงมีพึงได้ตามกฎหมายแก่นายวิชัยโดยเร็ว

 

เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า สำนักงานกฎหมาย กรมสรรพากร ไม่ได้เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและเรียกเก็บภาษีอากร แต่มีหน้าที่ให้คำปรึกษาและแนะนำเกี่ยวกับการวินิจฉัยตีความกฎหมาย ประกาศ คำสั่ง ระเบียบที่เกี่ยวกับภาษีอากร ซึ่งการจะพิจารณาว่าการให้ความเห็นในลักษณะใดเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการกระทำผิดวินัยฐานใดหรือไม่ ต้องพิจารณาเจตนาและพฤติการณ์ในขณะที่ผู้นั้นมีความเห็น ซึ่งกรณีที่นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ได้รับโอนหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) จากคุณหญิงพจมาน ชินวัตรนั้น สำนักตรวจสอบภาษีได้พิจารณาว่าการโอนหุ้นดังกล่าวเป็นการยกหุ้นให้โดยเสน่หา เนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ถือเป็นเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 (10)แห่งประมวลรัษฎากร

จากนั้นสำนักกฎหมายได้พิจารณาให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าว โดยอ้างอิงแนวความเห็นของกรมสรรพากร และคำพิพากษาศาลฎีกาที่มีความเห็นสอดคล้องกับกรณีที่สำนักตรวจสอบภาษี อีกทั้งไม่ปรากฏพยานใดในสำนวนคดีที่พิสูจน์ได้ว่า นายวิชัยได้รับประโยชน์ที่มิควรได้จากการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว

 

ดังนั้น จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าพฤติการณ์ของ นายวิชัย เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยมิชอบเพื่อให้ตนเอง หรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด และปลัดกระทรวงการคลังมีคำสั่งปลดออกจากราชการนั้น จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของ ป.ป.ช.ไม่อาจรับฟังได้

 

ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นดังกล่าว และกำหนดข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธรกสนดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา