ภาวะผู้นำนายกฯ "ลุงตู่" กับคดีบอส Red Bull

05 ส.ค. 2563 | 06:00 น.

ภาวะผู้นำนายกฯ "ลุงตู่" กับคดีบอส Red Bull : คอลัมน์ข้าพระบาท ทาสประชาชน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3598 ระหว่างวันที่ 6-8 ส.ค.2563 โดย...ประพันธุ์ คูณมี

ภาวะผู้นำนายกฯ"ลุงตู่"

กับคดีบอส Red Bull
 

     ทันทีที่สื่อต่างประเทศ รายงานข่าวว่า คดีของ นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส Red Bull ที่คนไทยรู้จักดีในฐานะทายาทตระกูลเศรษฐีเจ้าของเครื่องดื่มบำรุงกำลัง "กระทิงแดง" ขับรถเฟอรารี่ชนดาบตำรวจวิเชียร กลั่นประเสริฐ ถึงแก่ความตาย แล้วหลบหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศร่วม 8 ปี บัดนี้อัยการโดยรองอัยการสูงสุด นายเนตร นาคสุข ได้มีคำสั่งกลับคำสั่งตำรวจและอัยการคดีอาญากรุงเทพใต้ เป็นสั่งไม่ฟ้องโดยทุกข้อหา และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่โต้แย้งคำสั่งอัยการ ทำให้คดีนี้เป็นที่สุดโดยไม่ฟ้องผู้ต้องหา มีผลให้ นายบอส ต้องหลุดพ้นคดีไป
 

     ทั้งๆ ที่กระทำผิดในหลายข้อหา แต่ต้องลอยนวลหลุดรอดคดีไป ด้วยฝีมือสอบสวนและการสั่งไม่ฟ้องของอัยการ แบบหยามจิตใจและทำลายความรู้สึกของคนไทย ตอกย้ำความเชื่อว่า "คุกมีไว้ขังเฉพาะคนจน" ความยุติธรรมใครมีเงินก็ซื้อได้ ให้ฝังลึกลงไปในความเชื่อของผู้คน
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

     พลันเมื่อข่าวนี้แพร่กระจายไป ข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคำสั่งอัยการถูกแชร์กันว่อนเน็ต ความรู้สึกร่วมกันของคนไทยที่มีต่อเรื่องนี้ จึงลุกลามรวดเร็วเหมือนไฟลามทุ่ง ทุกคนล้วนมีข้อสงสัย อึดอัด คับข้องใจ และเสื่อมความศรัทธาอย่างรุนแรง ต่อการทำหน้าที่ของตำรวจและอัยการ ต้นทางของกระบวนการยุติธรรม จากที่มีความไม่ไว้ใจตำรวจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็ลุกลามมาถึงอัยการทนายความของแผ่นดิน กระทั่งไม่เชื่อถือไปถึงการบริหารงานของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีด้วยว่าปล่อยให้เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมตำรวจ อัยการ จึงตั้งตัวเป็นศาลตัดตอนกระบวนการยุติธรรมเสียเอง

     นายกรัฐมนตรีปกป้องให้ท้าย ข้าราชการตำรวจ อัยการที่ไม่ดีเหล่านี้หรือไม่ จึงกล้าหาญสั่งคดีเป่าเรื่องผิดให้เป็นถูก เมื่อกฎหมายและขื่อแปรของบ้านเมือง ถูกคนมีเงินมีอิทธิพลซื้อได้เช่นนี้ สังคมจะอยู่ได้อย่างไร ใครจะเคารพกฎหมาย สถาบันการศึกษาทางกฎหมายจะสอนลูกศิษย์กันอย่างไร
 

     เสียงเรียกร้องจากประชาชนทุกวงการ ต่างเรียกร้องให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะตำรวจ อัยการ ต้องตอบคำถามข้อสงสัยของสังคม และทำความจริงให้ปรากฎ ไม่ปล่อยคนผิดให้ลอยนวล ต้องจัดการเอาคนผิดกลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ให้ศาลเป็นผู้พิจารณาตัดสินคดีให้ได้ มิใช่ให้คนรวยใช้อำนาจเงินซื้อตำรวจ อัยการ จนหลุดรอดคดีพ้นคุกไปง่ายๆ เช่นนี้ได้
 

     ในฐานะที่นายกรัฐมนตรี เป็นผู้กำกับและบริหารราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และต้องบริหารบ้านเมืองให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบและหลักความยุติธรรมแก่ประชาชน จึงต้องตกอยู่ภายใต้กระแสกดดันของสังคมที่ถาโถมมายังรัฐบาลจากทุกทิศทาง โดยนายกรัฐมนตรีมิอาจนิ่งเฉยได้ แม้หน่วยงานของสำนักงานตำรวจ จะได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริง หรือ สำนักงานอัยการสูงสุด จะได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบข้อเท็จจริงเช่นกัน เพื่อจะนำข้อเท็จจริงเรื่องนี้มาแถลงต่อประชาชนก็ตาม
 

     แต่ผู้คนก็มิได้ให้ความเชื่อถือต่อหน่วยงานทั้ง 2 แต่อย่างใด ต่างมองว่าเป็นการซื้อเวลา เอาตำรวจมาสอบตำรวจด้วยกันเอง อัยการสอบอัยการด้วยกันเอง หนีไม่พ้นที่ต้องปกป้องพวกเดียวกัน คงไม่อาจเอาผิดใครได้ คนไม่เชื่อว่าจะเอาคนผิดมาดำเนินคดีได้หรือไม่ ความไม่พอใจของสังคมยังทวีสูงขึ้นไปอีก
 

     กระแสสังคมที่ไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศ อันเนื่องจากพฤติกรรมการกระทำของตำรวจและอัยการ ในการสั่งไม่ฟ้องคดี นายวรยุทธ อยู่วิทยา รุนแรงที่สุดจนสั่นคลอนต่อเสถียรภาพของรัฐบาล เหตุเพราะกระบวนการตำรวจ อัยการ ที่ช่วยผู้กระทำความผิด มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงไปถึงคณะกรรมาธิการด้านกฎหมายและการยุติธรรม ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ยุค คสช.แต่งตั้ง และด้วยความเชื่อของประชาชนว่า ผู้ต้องหามีทนายความใก้ลชิดฝ่ายการเมืองและใช้เงินวิ่งเต้นคดี

     ประกอบกับสำนวนการสอบสวนของตำรวจ และคำสั่งไม่ฟ้องคดีของอัยการ มีข้อพิรุธมากมายที่เริ่มมาจากผู้ต้องหาร้องขอความเป็นธรรมผ่านกรรมาธิการคณะนี้ ไม่ว่าเรื่อง ความเร็วรถยนต์ของผู้ต้องหาขณะเกิดเหตุ ที่อัยการอ้างในคำสั่งไม่น่าเชื่อถือ การตรวจสอบพบสารเสพติดโคเคน ประจักษ์พยานที่มาให้การภายหลังเหตุการณ์ผ่านพ้นไปถึง 7 ปี มีลักษณะปั้นพยานเท็จช่วยผู้ต้องหา รวมถึงการจงใจปล่อยให้คดีขาดอายุความในหลายข้อหา และไม่ตั้งข้อหาอื่นๆ เช่น การเสพยาเสพติดให้โทษประเภท 2 หรือข้อหาเจตนาฆ่าผู้อื่น เนื่องจากขับรถชนแล้วไม่ช่วยเหลือ ยังขับทับร่างผู้บาดเจ็บลากไปเป็นระยะทางกว่า 200 เมตร
 

     เหล่านี้ คือข้อเท็จจริงที่เป็นที่รับรู้ของผู้คนโดยทั่วไป โดยข้อมูลปรากฎทั้งในภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และบรรดาเอกสารในสำนวนสอบสวน และคำสั่งของรองอัยการสูงสุดเอง ที่เผยแพร่ในสื่อและโซเชียลในวงสัมมนา เวทีอภิปรายสาธารณะ หรือในสถาบันการศึกษาทางกฎหมาย ต่างนำมาเผยแพร่และวิจารณ์ จึงมีคำถามดังๆ ว่าคำสั่งของอัยการเป็นไปโดยชอบหรือไม่ รัฐบาลเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ จะรื้อคดีนี้ได้อย่างไร
 

     ด้วยเหตุนี้ คดีอาญาธรรมดาๆ โดยทั่วไป เมื่อผู้ต้องหาเป็นทายาทเจ้าของธุรกิจเครื่องดื่ม Red Bull ที่ขายอยู่ทั่วโลก จึงเป็นที่สนใจของสื่อต่างประเทศ เป็นคดีดังในเมืองไทยที่คนไทยทั่วไปรับรู้ เมื่อมีขบวนการพลิกคดีโดยมิชอบดังกล่าว จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำลายความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมของไทย สั่นคลอนต่อเสถียรภาพและความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีอย่างยิ่ง เป็นบททดสอบภาวะผู้นำลุงตู่อีกครั้ง ต่อวิกฤติด้านการยุติธรรม ที่อาจทำให้สังคมล่มสลายได้
 

     การตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี ในการออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ เป็นประธานกรรมการ และประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิอันเป็นที่ยอมรับและน่าเชื่อถือ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ในการสั่งไม่ฟ้องคดีของอัยการ แล้วรายงานต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อทราบภายใน 30 วัน แม้จะมีวัตถุประสงค์เพื่อการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหรือวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาองค์ความรู้ การปฏิบัติหน้าที่ และการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยไม่ก้าวล่วงหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ในคดีก็ตาม
 

     แต่เมื่อเป็นคำสั่งของนายกรัฐมนตรี โดยแต่งตั้งบุคคลที่สังคมให้การยอมรับและน่าเชื่อถือ ย่อมแสดงถึงภาวะผู้นำของนายกรัฐมนตรี ที่รับฟังเสียงของประชาชน และมีท่าทีต้องการเข้ามามีส่วนคลี่คลายและแก้ปมปัญหาที่คาใจประชาชน ให้ได้รับความกระจ่าง ลดความอึดอัดคับข้องใจของผู้คนในสังคม เพื่อรักษาและผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรมตามอำนาจหน้าที่ของตน โดยมิได้นิ่งเฉย
 

     และผลของการสอบข้อเท็จจริงนี้ ย่อมส่งผลสะเทือนและทำให้องค์กรที่มีหน้าที่เกี่ยวกับคดี ต้องตระหนักและรับฟังเพื่อนำไปสู่การแก้ไขที่ถูกต้องเป็นธรรม ทำให้หลักกฎหมายและขื่อแปรของบ้านเมืองยังดำรงอยู่ เพื่อให้ความยุติธรรมค้ำจุนสังคม ด้วยความเชื่อมั่นศรัทธาของผู้คนต่อไปได้ เพื่อแสดงว่า รัฐบาลไทย มิได้เห็นด้วยหรือยินยอมต่อพฤติกรรมที่ทำลายกฎหมายและความยุติธรรมดังกล่าวแต่อย่างใด และประเทศไทยจะไม่ปล่อยคนชั่วคนผิดลอยนวล
 

     การปักธงรื้อคดี เอาคนผิดมาดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น จึงจะเป็นการตัดสินใจฝ่าวิกฤติศรัทธาที่ถูกต้อง ทันต่อเวลาและเหตุการณ์ โดยการใช้คนที่ถูกต้องเหมาะสมกับงาน จึงเป็นบุคคลิกสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งของผู้นำที่พึงจะมี โดยแนวทางนี้ลุงตู่จึงจะฝ่าวิกฤติและพาประเทศรอดพ้นได้อีกครั้ง