เปิดผลสอบคดี "บอส อยู่วิทยา" อ่านฉบับเต็มได้ที่นี่

04 ส.ค. 2563 | 07:54 น.

เปิดรายละเอียด ผลตรวจสอบคดี "บอส อยู่วิทยา" ของคณะทำงานอัยการสูงสุด รื้อ 2 คดี โคเคน-ขับรถเร็ว ยัน คำสั่งไม่ฟ้อง "เนตร นาคสุข" เป็นไปตามกม. 

วันที่ 4 ส.ค.63 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด มีการแถลงข่าวผลการตรวจสอบ การสั่งไม่ฟ้องคดี นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ “บอส อยู่วิทยา ที่มี นายสมศักดิ์ ติยะวานิช รองอัยการสูงสุด (อสส.) เป็นหัวหน้าคณะทำงานฯ หลังใช้เวลาตรวจสอบคดีดังกล่าวเป็นเวลา 1 สัปดาห์  

เปิดผลสอบคดี "บอส อยู่วิทยา" อ่านฉบับเต็มได้ที่นี่

โดยมี นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงรายละเอียดผลการตรวจสอบว่า หน้าที่ของคณะทำงานคณะทำงานชุดนี้มีหน้าที่ตรวจสอบสำนวนการสั่งไม่ฟ้องบอส อยู่วิทยา ว่าการสั่งดังกล่าว 1.การสั่งดังกล่าวเป็นตามข้อกฎหมายและ ระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างไร 2.คนที่สั่งมีเหตุผลในการพิจารณาสั่งคดีนี้อย่างไร 3.ความเห็นของคณะทำงานมีข้อเสนอแนะและแนวทางเกี่ยวกับคดีนี้อย่างไร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จากนั้น นายประยุทธ แถลงถึงผลการตรวจสอบคดีนี้โดยย้อนที่มาของคดีนี้ว่า พนักงานอัยการ สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 ได้รับสํานวนจากพนักงานสอบสวน สถานีตํารวจทองหล่อ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2556 คดีระหว่าง 1.พ.ต.ท.วิรดล ทับทิมดี ผู้กล่าวหา 2.นายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ผู้ต้องหาที่ 1 และ 3.ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผู้ต้องหาที่ 2

โดย นายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ผู้ต้องหาที่ 1 ถูกกล่าวหา 5 คดีว่า

1. ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนรถอื่นเสียหาย 

2. ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย

3. ขับรถในทางก่อความเสียหายแก่บุคคล ไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควรและไม่แจ้งเหตุต่อเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที

4. ขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

5.  ขับรถเร็วกว่าอัตราที่กฎหมายกําหนด 

 

ส่วน "ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผู้ต้องหาที่ 2 ถูกกล่าวหาว่า ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย เหตุเกิด เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2555 เวลา 05.20 น. ที่แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ

 

นายประยุทธ กล่าวอีกว่า พนักงานสอบสวนส่งสํานวนคดีดังกล่าวให้พนักงานอัยการพร้อมสรุปสํานวนเสนอความเห็น ควรสั่งฟ้อง นายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ใน 3 ข้อหา คือ 

1. ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนรถอื่นเสียหาย 

2. ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย

3. ขับรถไปในทางเสียหายแก่บุคคลไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือตามสมควรและไม่แจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที

 

และเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง 2 คดี คือ 

1. ขับรถขณะเมาสุรา เป็นเหตุให้ชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย 

2. ขับรถเร็วกว่าอัตราที่กฎหมายกําหนด

 

สําหรับ ด.ต.วิเชียร เสนอเห็นควรสั่งไม่ฟ้องในข้อหาขับรถโดยประมาทชนรถอื่นได้รับความเสียหาย เนื่องจากผู้ต้องหาที่ 2 ถึงแก่ความตาย

 

รองโฆษกฯ กล่าวอีกว่า ความเห็นและคําสั่งของพนักงานอัยการสํานักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ "สั่งฟ้อง" นายวรยุทธ ใน 4 ข้อหา ได้แก่ 

1. ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนรถอื่นเสียหาย 

2. ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย 

3. ขับรถไปในทางเสียหายแก่บุคคลไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือตามสมควร

4. ขับรถเร็วกว่าอัตราที่กฎหมายกําหนด (แย้งความเห็นพนักงานสอบสวน)

 

แต่สั่งไม่ฟ้องข้อหาขับรถขณะเมาสุรา เป็นเหตุให้ชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย (ตามพนักงานสอบสวน เสนอ และ ผบ.ตร. เห็นชอบแล้ว)

 

นอกจากนี้ พนักงานอัยการสํานักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ สั่งยุติดําเนินคดี ด.ต.วิเชียร เสนอเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง ในข้อหาขับรถโดยประมาทชนรถอื่นได้รับความเสียหาย เนื่องจากผู้ต้องหาถึงแก่ความตาย

 

"ภายหลังจากพนักงานอัยการมีคําสั่งฟ้องนายวรยุทธ 4 ข้อหา แต่นายวรยุทธไม่มาพบพนักงานอัยการตามกําหนดนัด ทําให้ไม่สามารถยื่นฟ้องได้และต่อมาทําให้ข้อหา ขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้ชนรถอื่นเสียหาย ขับรถไปในทางเสียหายแก่บุคคลไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือตามสมควรและ ขับรถเร็วกว่าอัตราที่กฎหมายกําหนด ขาดอายุความ"

รองโฆษกฯ กล่าวต่อว่า ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563 นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด มีคําสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ ในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนผู้อื่นถึงแก่ ความตาย ซึ่งเสนอ ผบ.ตร. แล้ว ไม่แย้งคําสั่งไม่ฟ้อง เป็นผลให้คําสั่งไม่ฟ้อง เสร็จเด็ดขาด ซึ่งผลการตรวจสอบของคณะทํางานในประเด็นนี้ มีดังนี้

 

1. การพิจารณาสั่งสํานวนคดีดังกล่าวเป็นไปตามหลักกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องหรือไม่ อย่างไร คณะทํางานเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 7  วรรค 4 กําหนดให้มีการแบ่งหน่วยงานราชการและอํานาจหน้าที่ของหน่วยงานราชการภายในสํานักงาน อัยการสูงสุด เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจขององค์กร ต่อมาสํานักงานอัยการสูงสุดได้มีประกาศของ คณะกรรมการอัยการ เรื่อง การแบ่งหน่วยงานและกําหนดอํานาจหน้าที่ของหน่วยงานภายในสํานักงานอัยการสงสุด พ.ศ. 2554 โดยแบ่งหน่วยงานภายในสํานักงานอัยการสูงสุด แยกตามภารกิจรวม 60 ประเภท สํานักงาน เช่น สํานักงานคดีอาญา สํานักงานคดียาเสพติด สํานักงานคดีศาลแขวง สํานักงานชี้ขาดคดีอัยการ สูงสุด เป็นต้น 

 

ซึ่งในการปฏิบัติราชการของหน่วยงานของสํานักงานอัยการสูงสุดดังกล่าวอัยการสูงสุดจะมีคําสั่ง มอบหมายหน้าที่รับผิดชอบและมอบอํานาจให้รองอัยการสูงสุดเป็นผู้รับผิดชอบดําเนินการ ซึ่งการออกคําสั่ง มอบหมายหน้าที่รับผิดชอบให้ รองอัยการสูงสุดดังกล่าว อัยการสูงสุดทุกคนถือเป็นแนวทางปฏิบัติมา อย่างต่อเนื่อง

 

ล่าสุดเมื่อปี 2562 ถึงปี 2563 ได้มีคําสั่งสํานักงานสํานักงานอัยการสูงสุดที่ ๑๕๑๕/๒๕๖๒ เรื่อง การมอบหมายและมอบอํานาจให้รองอัยการสูงสุดปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2562 โดยมอบอํานาจให้รองอัยการสูงสุดทั้ง 8 คน ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด 

 

เช่น มอบอํานาจและ มอบหมายให้นายสมศักดิ์ ติยะวานิช รองอัยการสูงสุด เป็นผู้รับผิดชอบงานคดีอาญา นายสมโภชน์ ลิมประยูร รองอัยการสูงสุด เป็นผู้รับผิดชอบงานชี้ขาดความเห็นแย้งของพนักงานอัยการ ภาค 1 , 2 , 3 , 4 , 5 และ 6  นายไพบูลย์ ถาวรวิจิตร รองอัยการสูงสุด เป็นผู้รับผิดชอบงานชี้ขาดความเห็นแย้งของพนักงานอัยการภาค 7 , 8  และ 9  และนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด เป็นผู้รับผิดชอบงานคดีอัยการสูงสุด งานคดีกิจการอัยการสูงสุด เฉพาะงานคดีร้องขอความเป็นธรรมและงานคดีศาลสูง เป็นต้น 

 

และตามพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและ พนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 27 กําหนดให้อัยการสูงสุดมีอํานาจหน้าที่ในการกําหนดนโยบาย และรับผิดชอบการปฏิบัติราชการของสํานักงานอัยการสูงสุด ซึ่งอาจมอบหมายให้รองอัยการสูงสุด หรือข้าราชการฝ่ายอัยการปฏิบัติแทนก็ได้ ซึ่งการที่อัยการสูงสุดมอบหมายให้รองอัยการสูงสุดแต่ละท่านปฏิบัติราชการแทนดังกล่าวเป็นไปตามกรอบและบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว และตามมาตรา 15 ของ พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 ยังบัญญัติให้อัยการสูงสุดเป็นผู้มีอํานาจ ดําเนินคดีในทุกศาล ทั่วราชอาณาจักร 

 

นอกจากนี้ตามระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดําเนินคดีอาญา ของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547  ข้อ 51, 52 ยังได้กําหนดอํานาจหน้าที่ของพนักงานอัยการแต่ละชั้นให้มี อํานาจหน้าที่สั่งคดีไว้โดยชัดเจนซึ่งพนักงานอัยการแต่ละคนจะมีความเป็นอิสระในการสั่งคดีภายใต้ระเบียบ ซึ่งกําหนดให้เป็นอํานาจหน้าที่ดังกล่าว ทั้งนี้เป็นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปีพุทธศักราช 2560 มาตรา 248 ที่บัญญัติรับรองให้พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและปฏิบัติหน้าที่โดยเที่ยงธรรมและ ปราศจากอคติทั้งปวง

 

รองโฆษกฯ กล่าวอีกว่า เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อนายวรยุทธ ร้องขอความเป็นธรรมซึ่งมีข้อเท็จจริง และพยานบุคคลที่ระบุแจ้งชัด กรณีจึงเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131 ซึ่งกําหนดให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถจะทําได้ เพื่อประสงค์จะทราบ ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อที่จะรู้ตัวผู้ที่กระทําความผิดและพิสูจน์ ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา 

 

และยังเป็นไปตามระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดําเนิน คดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547 ข้อ 48 ที่ให้ผู้ต้องหาหรือผู้เกี่ยวข้องในคดีสามารถร้องขอความเป็นธรรมได้ พนักงานอัยการจึงมีการสอบสวนเพิ่มเติมตามที่ร้องขอความเป็นธรรม 

 

"การที่นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดในการกํากับดูแลและรับผิดชอบงานคดีร้องขอความเป็นธรรม การพิจารณาสั่งสํานวนคดีนี้ของนายเนตร นาคสุข จึงเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องดังกล่าว"

 

ส่วนประเด็นผู้สั่งคดีมีเหตุผลในการพิจารณาสั่งคดีอย่างไร นายประยุทธ์ แถลงว่า คณะทํางานพิจารณาข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานในสํานวนการสอบสวน จากนั้นได้พิจารณาความเห็นและคําสั่งของนายเนตร นาคสุข แล้วมีความเห็นว่า นายเนตร นาคสุข ได้มีความเห็นและคําสั่งคดีนี้ ไปตามพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนทําการสอบสวนและสอบสวนเพิ่มเติมซึ่งปรากฏอยู่ในสํานวน ไม่ได้ นําพยานหลักฐานนอกสํานวนหรือที่ไม่ได้ปรากฏในสํานวนการสอบสวนมาสั่งคดี หรือเป็นการใช้ดุลพินิจสั่งคดี ไปตามอําเภอใจรวมทั้งมีเหตุผลประกอบตามสมควร 

 

และภายหลังที่มีคําสั่งไม่ฟ้องแล้วได้มีการเสนอสํานวนให้ ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อพิจารณาอันเป็นการตรวจสอบ และถ่วงดุลการสั่งคดีของพนักงานอัยการ ซึ่งต่อมาผู้ช่วยผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติได้มีความเห็นไม่แย้งคําสั่ง ไม่ฟ้องดังกล่าว

 

"คณะทํางานเห็นว่าการสั่งคดีของนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด เป็นไปตามกฎหมายและ ระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว"

 

จากนั้น นายประยุทธ์ แถลงถึงข้อเสนอแนะของคณะทํางานว่า แม้คดีนี้จะมีคําสั่งเสร็จเด็ดขาดไม่ฟ้อง นายวรยุทธ ในข้อหาขับรถโดยประมาท เฉี่ยวชนผู้อื่นถึงแก่ความตายแล้วก็ตาม แต่มิได้หมายความว่าจะไม่สามารถทําอะไรได้อีกแล้ว คณะทํางานตรวจพบว่า คดียังไม่ถึงที่สุด กล่าวคือ เมื่อมีพยานหลักฐานใหม่อันสําคัญแก่คดีซึ่งน่าจะทําให้ ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้ ก็สามารถสอบสวนต่อไปได้ โดยคณะทํางานมีความเห็นว่า

 

คณะทํางานตรวจพบว่า ในสํานวนการสอบสวนมีการตรวจเลือดของนายวรยุทธในวันเกิดเหตุ และพบสารประเภท Cocaine (โคเคน) ในเลือด แต่พนักงานสอบสวน ยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนผู้ต้องหาในข้อหาเสพยาเสพติดให้โทษประเภท 2 Cocaine (โคเคน) ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา 58 ประกอบกับมาตรา 91 ซึ่งมีอัตราโทษจําคุก 6 เดือนถึง 3 ปี ซึ่งอายุความตามกฎหมาย 10 ปี 

 

ส่วนในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย แม้พนักงานอัยการจะมีคําสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ และผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติไม่แย้งคําสั่งไม่ฟ้องดังกล่าว อันเป็นผลให้คําสั่งไม่ฟ้องเสร็จเด็ดขาดตามกฎหมาย และห้ามมิให้ทําการสอบสวนอีกก็ตาม 

 

แต่ปรากฏ พยานหลักฐานสําคัญ คือ ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจําภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ได้ให้ข้อเท็จจริงผ่านสื่อว่า ขณะเกิดเหตุ ดร.สธนฯ ทําหน้าที่ เป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการให้กับกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สํานักงานตํารวจแห่งชาติ เมื่อเกิดเหตุคดีนี้ได้รับการ ประสานงานจาก พ.ต.ท.ธนสิทธิ แตงฉัน ให้ไปร่วมตรวจที่เกิดเหตุ และดูกล้องวงจรปิด วัตถุพยาน ที่บันทึกภาพรถของนายวรยุทธ พร้อมกับคิดคํานวณความเร็วของรถที่แล่นไปขณะเกิดเหตุ 

 

โดย ดร.สธนฯ ได้ทํารายงานการคิดคํานวณส่งให้กับกองพิสูจน์หลักฐานเพื่อใช้ประกอบคดีโดยยืนยันว่า ขณะเกิด เหตุรถของนายวรยุทธแล่นไปด้วยความเร็วประมาณ 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ปรากฏในสํานวนการสอบสวน 

 

นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงผ่านสื่อ จากการให้สัมภาษณ์ของดร.สามารถ ราชพลสิทธิ ให้ข้อเท็จจริงผ่านสื่อว่าเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน คิด คํานวณ หาความเร็วของรถ และได้คิด คํานวณ พร้อมกับให้ความเห็นทางวิชาการว่า ขณะเกิดเหตุ รถที่ผู้ต้องหาขับขี่ไปน่าจะมีความเร็วไม่ต่ำกว่า 126 กิโลเมตรต่อชั่วโมง  ซึ่งข้อมูลดังกล่าวถือเป็นพยานหลักฐานใหม่และเป็นพยานสําคัญที่จะทํา ให้ศาลลงโทษนายวรยุทธได้ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147 

 

"ทั้งสองประเด็นดังกล่าว คณะทํางานจึงมีความเห็นและนำกราบเรียนอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณา แจ้งพนักงานสอบสวนเพื่อดําเนินคดีนายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา ต่อไป