“กสอ.” ปั้นต้นแบบธุรกิจลดต้นทุน - เพิ่มกำไรกว่า 3 พันล้านบาท

03 ส.ค. 2563 | 06:20 น.

“กสอ.” ปั้นต้นแบบธุรกิจลดต้นทุน - เพิ่มกำไรกว่า 3 พันล้านบาท หวังอุ้มตัวเลขอุตสาหกรรมปลายปี 63

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหรรม หรือ “กสอ.” เปิดเผยว่า กสอ. ได้ดำเนินการร่วมกับ สมาคมส่งเสริมคุณภาพแห่งประเทศไทย จัดงาน “มหกรรมคิวซีแห่งประเทศไทย” เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทั่วไปได้เข้าแข่งขันเพื่อพัฒนาองค์กรให้มีศักยภาพ โดยมีภาคเอกชน ภาครัฐวิสาหกิจ และภาคราชการและโรงพยาบาล ร่วมยกระดับคุณภาพของสินค้าและบริการตามหลักการของคิวซีจำนวนมาก ครอบคลุม 121 กลุ่ม ประกอบด้วย ภาคอุตสาหกรรม 52 กลุ่ม ภาครัฐวิสาหกิจ 8 กลุ่ม ภาคราชการและโรงพยาบาล 55 กลุ่ม และกลุ่มข้ามสายงาน 6 กลุ่ม

                ทั้งนี้ ที่ผ่านมาในแต่ละปีผลงานขององค์กรต่าง ๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มคิวซี สามารถลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าในภาพรวมได้กว่า 1 พันล้านบาท อาทิ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สามารถลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้ 3.47 พันล้านบาท บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด สามารถลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้ 1,510 ล้านบาท บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) สามารถลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้ 562 ล้านบาท เป็นต้น

“กสอ.” ปั้นต้นแบบธุรกิจลดต้นทุน - เพิ่มกำไรกว่า 3 พันล้านบาท

                สำหรับการดำเนินงานคุณภาพ หรือ คิวซี ภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพนั้น นอกจากการควบคุมมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอแล้ว จำเป็นต้องสร้างคุณภาพที่ควบคู่ไปกับความยืดหยุ่น เพื่อการเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดอยู่เสมอ จึงต้องเร่งให้เกิดการปรับตัว ซึ่ง กสอ. พร้อมเคียงข้างผู้ประกอบการในการรักษามาตรฐานของภาคการผลิต และผู้ประกอบการรายย่อย รวมทั้งพร้อมเป็นที่ปรึกษาสำหรับการปรับตัวให้สอดคล้องกับโครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง

นายณัฐพล กล่าวต่อไปอีกว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคอุตสาหกรรมจากการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” (Covid-19) ส่งผลให้ดัชนีอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งปีแรกติดลบ ซึ่ง กสอ. ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ทั้งในการสภาพคล่อง และ การส่งเสริมให้อุตสาหกรรมสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ ซึ่งที่ผ่านมา หลายกิจการใช้วิธีการลดต้นทุน ที่อยู่ในรูปแบบของแรงงาน ส่งผลให้เกิดการเลิกจ้าง และสถิติการว่างงานที่สูงขึ้น

                ขณะที่บริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้กระบวนการทำงานในการผลิตสินค้าหรือบริการในการดำเนินธุรกิจที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้า มุ่งเน้นไปที่การลดต้นทุนที่จะทำให้เกิดความประหยัดและลดความสูญเปล่าที่อันอาจจะเกิดขึ้นในกระบวนการการทำงานให้น้อยมากที่สุด อาทิ ความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการผลิต การขนส่ง คลังสินค้า ซึ่งหากสามารถลดความสูญเสียดังกล่าวได้ จะช่วยให้ศักยภาพในภาคการผลิตเพิ่มมากขึ้น และทำให้ดัชนีอุตสาหกรรมปลายปี 63 กลับมาสู่แดนบวกดังเดิม