อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด “อ่อนค่า”

03 ส.ค. 2563 | 01:25 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น-ทั้งผู้นำเข้าและผู้ส่งออกนำเงินกลับเข้ามาด้านเงินไหลออกน้อยลง


อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด "อ่อนค่า"เหตุมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น-ทั้งผู้นำเข้าและผู้ส่งออกนำเงินกลับเข้ามาด้านเงินไหลออกน้อยลง

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.29 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่า”จากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 31.24 บาทต่อดอลลาร์ –เหตุมีสภาพคล่องในตลาดเพิ่มขึ้น กรอบเงินบาทวันนี้ 31.20-31.40 บาทต่อดอลลาร์- แนวโน้มเงินบาทมีสภาพคล่องในตลาดเพิ่มขึ้น เมื่อผู้นำเข้าธุรกิจพลังงานและผู้ส่งออกฝั่งยานยนต์กลับเข้ามา ขณะที่เงินทุนไหลออกน้อยลงเนื่องจากบอนด์ยีลด์สหรัฐปรับตัวลงต่ำกว่าผลตอบแทนในประเทศ สัปดาห์นี้ต้องจับตาทิศทางของตลาดหุ้น โดยมองว่าถ้าทิศทางโดยรวมอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk On) เงินบาทก็สามารถแข็งค่าได้เช่นกัน กรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 31.00-31.50 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS)ระบุว่า ระหว่างสัปดาห์นี้มีการรายงานตัวเลขผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อทั้งในและนอกภาคการผลิตสหรัฐ (ISM Manufacturing and Non-Manufacturing PMI) ซึ่งคาดว่าจะฟื้นตัวกลับมาในเดือนนี้ที่ระดับ 53.4 และ 55.3 ตามลำดับ เนื่องจากภาพการระบาดของไวรัสที่ลดลงในรัฐเศรษฐกิจส่วนใหญ่
 

ส่วนนโยบายการเงิน คาดว่ากนง. จะ "คง" อัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.50% ในการประชุมวันพุธ เช่นเดียวกับธนาคารกลางกฤษซึ่งคาดว่าจะ “คง” อัตราดอกเบี้ยที่ 0.10% ในวันพฤหัส โดยประเด็นสำคัญน่าจะอยู่ที่ภาพการใช้นโยบายซื้อสินทรัพย์ของธนาคารกลาง (QE) ที่ตลาดคาดว่าจะ “เพิ่มขึ้น” อีกหนึ่งแสนล้านปอนด์ รวมเป็น 8.45 แสนล้านปอนด์ เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจในวิกฤตโคโรนาไวรัส

ในวันศุกร์ คาดว่าการจ้างงานนอกภาคการเกษตรในสหรัฐ (US Non-farm Payrolls) จะฟื้นตัว 2 ล้านตำแหน่ง แม้จะน้อยกว่าเดือนก่อนที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นถึง 4.8 ล้านตำแหน่ง แต่ก็สะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐที่กลับมาเปิดทำการอยู่
 

ทิศทางของตลาดพันธบัตร และตลาดเงินในสัปดาห์นี้ เชื่อว่าจะแกว่งตัวในกรอบแคบ เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว คาดว่าบอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10 ปี จะเคลื่อนไหวในกรอบ 0.5-0.6% 

ส่วนตลาดเงิน ยังคงเห็นการทยอยคืนดอลลาร์ของเหล่าธนาคารกลางใหญ่จาก Fed’s Foreign Currency Swap Line ที่ลดลงจากระดับสูงสุดในรอบนี้ที่ 4.5 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนพฤษภาคม ลงมาอยู่ที่ระดับ 1.5 แสนล้านดอลลาร์ ในสัปดาห์นี้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวทำให้ดอลลาร์แข็งค่าได้ยาก มองกรอบดัชนีดอลลาร์ (DXY) สัปดาห์นี้ในช่วง 92.0-94.5 จุด จากระดับปัจจุบันที่ 93.3 จุด 
ฝั่งอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทมีสภาพคล่องในตลาดเพิ่มขึ้น เมื่อผู้นำเข้าธุรกิจพลังงานและผู้ส่งออกฝั่งยานยนต์กลับเข้ามา ขณะที่เงินทุนไหลออกน้อยลงเนื่องจากบอนด์ยีลด์สหรัฐปรับตัวลงต่ำกว่าผลตอบแทนในประเทศ สัปดาห์นี้ต้องจับตาทิศทางของตลาดหุ้น โดยมองว่าถ้าทิศทางโดยรวมอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk On) เงินบาทก็สามารถแข็งค่าได้เช่นกัน กรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 31.00-31.50 บาทต่อดอลลาร์