คล้องแขนผนึก “พลังอีสาน” เอกชน“อุดร-ขอนแก่น” จับมือปลุกเที่ยวทั้งภาค

02 ส.ค. 2563 | 05:20 น.

ภาคเอกชนอุดร-ขอนแก่น ผนึกกำลังสร้าง “พลังอีสาน” รับยุทธ ศาสตร์ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC) สู่ฮับภูมิภาค ประเดิมด้วยแผนส่งเสริมท่องเที่ยวฟื้นเศรษฐกิจ

 

สร้าง“พลังอีสาน” ภาคเอกชนอุดร-ขอนแก่น ผนึกกำลัง รับยุทธศาสตร์การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC) มุ่งบริการเศรษฐกิจทุกสาขาเพื่อเป็นฮับภูมิภาค ประเดิมด้วยแผนส่งเสริมท่องเที่ยวฟื้นเศรษฐกิจ ตั้งการ์ดสูงป้องกันปัญหาในอนาคต

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ศูนย์ประชุมมณฑาทิพย์ ศูนย์การค้ายูดี ทาวน์ อ.เมืองอุดรธานี นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย  ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี และประธานหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในฐานะแกนนำภาคเอกชนประธานหอการค้าจังหวัดและประธานหอการค้าภาคอีสาน ได้ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานจังหวัดอุดรธานี ขอนแก่น และนครราชสีมา ตลอดจนสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดอุดรธานี  ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ได้จัดประชุมปรึกษาหารือ เพื่อหาแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกลุ่มจังหวัดภาคอีสานทั้งหมด  

 

นายสวาท เปิดเผยว่า  เป็นการพูดคุยปรึกษาหารือวงเล็ก  เพื่อสรุปเป็นความคิดเห็นของภาคเอกชนต่อนโยบายของภาครัฐในเรื่องของการพัฒนาจังหวัดต่างๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  เนื่องจากเร็วๆ นี้จะมีการประกาศแผนพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ NeEC ที่ครอบคลุมเมืองใหญ่ที่มีศักยภาพ อาทิ อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา เมื่อเข้ามาอยู่ในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาหนึ่งเดียวร่วมกัน จะไม่มีการมาแข่งขันกันอีก แต่จำเป็นในเรื่องของการร่วมมือในลักษณะบูรณาการเฉลี่ยศักยภาพแต่ละจังหวัดแล้วนำมารวมกันก่อให้เกิดศักยภาพที่มีพลานุภาพในทุกด้านอย่างเข้มแข็งและเป็นหนึ่งเดียว  คล้องแขนผนึก “พลังอีสาน”  เอกชน“อุดร-ขอนแก่น”  จับมือปลุกเที่ยวทั้งภาค

ทำให้ NeECเป็นเขตเศรษฐกิจการบริการ ที่จะเอื้อไปยังทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจทั้งภาคการอุตสาห กรรม การบริการทางด้านสุขภาพ การเดินทางท่องเที่ยว ด้านการขนส่งโลจิติกส์ การบริการอื่นๆ ทุกระดับกระจายไปทุกพื้นที่ให้จังหวัดต่างๆของภาคอีสานได้รับผลประโยชน์ และจะรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรกับจังหวัดของตนเองให้เกิดการสอดรับกัน จนกลายเป็นพลังอีสาน

 

เหตุนี้ภาคเอกชนทั้ง หอการค้าภาคอีสาน สภาอุตสาหกรรมทุกจังหวัด สมาคมธุรกิจท่องเที่ยว ททท.ทุกสำนักงานของภาคอีสาน และหน่วยงานเอกชนทุกแห่ง ได้มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความติดเห็นกัน โดยมีเป้าหมายว่าจะขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจ NeEC โดยภาคเอกชน ให้มากกว่าที่ทางสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำหนดกรอบเอาไว้ โดยมีหน่วยงานของรัฐมีบทบาทคอยให้การสนับสนุน  ในการพัฒนาเมืองในภาคอีสาน  และเพื่อให้เกิดการสอดรับกับความเปลี่ยนของภาคอีสาน โดยเฉพาะเรื่องของโครงการรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว-ไทย ที่กำลังมีความก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว 

 

ในด้านการท่องเที่ยวนั้น ได้หารือถึงแผนการส่งเสริมการท่องเที่ยวหลังจากจะมีการเปิดประเทศเพื่อการเดินทางในอนาคตข้างหน้า  ตลอดจนการใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.การท่องเที่ยวอย่างเข้มข้น และให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อดูแลการทำทัวร์ศูนย์เหรียญที่อาจจะเกิดกับการท่องเที่ยวของภาคอีสานในอนาคต ซึ่งแต่ละพื้นที่ต้องประสานความร่วมมือกัน เนื่อง จากแต่ละจังหวัดมีศักยภาพที่ไม่เหมือนกัน อาทิเช่น ขอนแก่น โคราช เป็นเมืองแห่งการประชุมสัมมนา หรือ MICE ส่วนจังหวัดอื่นมีจุดแข็งต่างออกไป เช่น อุดรธานี มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวหลากหลายมิติ เช่น ธรรมะ ธรรมชาติ ท่องเที่ยวเชิงศักดิ์สิทธิ์และศรัทธา และเป็นศูนย์กลางการเดินทางทั้งทางบก ทางอากาศ มีสนามบินที่มีผู้ใช้บริการมากกว่าปีละ 2 ล้านคนเศษ สร้างได้สูงที่สุดในภาคอีสาน เป็นศูนย์กลางอนุภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) เป็นต้น ฯลฯ ฉะนั้น ต้องแลกเปลี่ยนเฉลี่ยศักยภาพของกันและกัน ต้องมีแกนในการจับมือกันเป็นพลังอีสานหนึ่งเดียวกัน

 

แนวความคิดดังกล่าวนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิค 19 ทำให้ฝ่ายเอกชนได้มีเวลาในการหันมาทบทวนว่า ที่ผ่านมานั้นพวกเราไม่ค่อยมีเวลาในการที่จะมานั่งพูดคุยถึงปัญหาต่างๆ เช่น เรื่องของการท่องเที่ยวว่า จะขายความเป็นอีสานที่แต่ละพื้นที่มีประเพณีวัฒนธรรม มีวิถีชีวิตที่มีความหลากหลาย มีแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพครบทุกมิติ ได้อย่างไร การริเริ่มของเอกชนครั้งนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเที่ยวไทยตามนโยบายรัฐ และเตรียมรับการกลับมาของการท่องเที่ยวระหว่างประเทศในอนาคต

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

หอการค้าอีสานหนุนNEEC ฮับภูมิภาคเชื่อมเพื่อนบ้าน

 

คล้องแขนผนึก “พลังอีสาน”  เอกชน“อุดร-ขอนแก่น”  จับมือปลุกเที่ยวทั้งภาค  

คล้องแขนผนึก “พลังอีสาน”  เอกชน“อุดร-ขอนแก่น”  จับมือปลุกเที่ยวทั้งภาค

นายทินกร  ทองเผ้า  นายกสมาคมสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวักอุดรธานี เปิดเผยว่า ในการประชุมส่งเสริมการท่องเที่ยวครั้งนี้นั้น มีสาระที่สำคัญในการวางแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้เกิดการเชื่อมโยงกันทุกๆ พื้นที่ หลังการผ่อนปรนจากเชื้อโควิค-19 และตามนโยบายกระตุ้นไทยเที่ยวไทยของภาครัฐ เพื่อฟื้่นเศรษฐกิจที่ซบเซาและต้องหยุดการเดินทางท่องเที่ยวไปเป็นเวลานานหลายเดือน แต่ยังไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ จึงต้องมาร่วมกันวางแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ

 

อีกประเด็นคือ หารือเตรียมแผนล่วงหน้าการป้องกันปัญหาท่องเที่ยวศูนย์เหรียญ ที่เกิดขึ้นมาแล้วในเมืองท่องเที่ยวใหญ่ๆ มาก่อน และเกิดภาพลบแก่วงการท่องเที่ยวไทย ไม่มีการกระจายรายได้ลงสู่ผู้ประกอบการ ตลอดจนแหล่งท่องเที่ยว เพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์ดังกล่าวขึ้นกับการท่องเที่ยวอีสาน โดยให้ตั้งศูนย์เฝ้าระวังที่ขอนแก่น เรียกว่าศูนย์ตาสับปะรด คอยเฝ้าติดตามผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั้งเก่าใหม่ ว่ามีพฤติกรรมเป็นนอมินีให้ใครหรือไม่ และจะกระจายศูนย์ดังกล่าวออกไปยังพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ต่อไป

 

นอกจากนี้ที่ประชุมได้หารือการวางแผนเส้นทางท่องเที่ยวใหม่เชื่อมโยงระหว่างจังหวัด กลุ่มจังหวัดในภาคอีสาน จนถึงการเชื่อม โยงระหว่างภาค อาทิ การท่องเที่ยว เชื่อมโยงของท้องถิ่นกับประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น การท่องเที่ยวเชิงธรรมะ ที่ภาคอีสานก็มีแหล่งท่องเที่ยวธรรมะจำนวนมาก  การท่องเที่ยวเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเก่าแก่ ปราสาทโบราณ และอื่นๆ 

นายทินกรฯกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ได้เสนอให้กำหนดมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาคอีสานในอนาคต เพื่อป้องกันปัญหาที่เคยเกิดกับหัวเมืองท่องเที่ยวสำคัญอื่นๆ โดยมาตรการดังกล่าวต้องมีการบังคับใช้มาตรการและกฎหมายอย่างเข้มงวด เช่น กรุ๊ปทัวร์ทุกกรุ๊ปต้องใช้ไกด์ท้องถิ่น ต้องกำจัดบุคคลหรือผู้ประกอบการที่ทำตัวเป็นนอมินี หรือมาเฟียการท่องเที่ยว และตรวจสอบผู้ประกอบการทุกรายตามเงื่อนไขในพ.ร.บ.ท่องเที่ยว เป็นการตั้งการ์ดสูงเพื่อป้องกันปหัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเอาไว้ก่อน ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดแล้วถึงมาคอยแก้ปัญหาภายหลัง เพราะเชื่อว่าอนาคตจะมีคนจีนเดินทางเข้าในภาคอีสานเพิ่มมากขึ้น ต้องเร่งสร้างมัคคุเทศก์ภาษาจีนเพิ่ม

 

“การประชุมเตรียมตัวส่งเสริมการท่องเที่ยวครั้งนี้ ถือว่าเป็นการเริ่มต้นสำหรับการเตรียมรับปัญหาจากการท่องเที่ยวในอนาคตข้างหน้า โดยการริเริ่มของททท.อุดรธานี ขอนแก่น และเอกชนผู้ประกอบการท่องเที่ยว และจะมีการจัดการประชุมในลักษณะนี้ที่จังหวัดขอนแก่นอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมชัดเจนโดยเร็ว” นายทินกรฯกล่าว

 

หน้า 17 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,597 วันที่ 2 - 5 สิงหาคม พ.ศ. 2563