ก.อ.เสนอ3ข้อ“อสส.”สอบใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้อง“บอส อยู่วิทยา”

01 ส.ค. 2563 | 04:21 น.

คดี“บอส อยู่วิทยา” ทาง“ประธานก.อ.”เสนออสส. 3 ประเด็น พบปัญหา-ข้อคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการสั่งคดีต้องแก้ไขทันที พิสูจน์ “การใช้ดุลพินิจ”ของรองอสส.ที่สั่งไม่ฟ้อง หากพบผิดพลาดต้องตั้งกก.สอบวินัย

กรณีอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดี นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ “บอส อยู่วิทยา” ทายาทเจ้าสัวเครื่องดื่มชูกำลังกระทิงแดง ที่ขับรถชนตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิต เมื่อปี 2555 จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง นำมาซึ่งการขาดวามน่าเชื้อถือในองค์กรอัยการนั้น

 

นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการ หรือ ก.อ. ให้สัมภาษณ์เครือเนชั่นว่า ตนในฐานะประธาน ก.อ.ได้ทำหนังสือถึงอัยการสูงสุด(อสส.) เมื่อวันที่ 29 ก.ค.2563 เพื่อให้คำแนะนำแนวทางแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว เชื่อได้ว่าคณะทำงานชุดที่ อสส.ตั้งขึ้นมาจะตรวจสอบข้อเท็จจริงจนเป็นที่กระจ่าง

 

สำหรับข้อเสนอคือ  1.สำนักงานอัยการสูงสุด ควรตรวจสอบการดำเนินคดี สำนวนคดีดังกล่าวทุกขั้นตอน ทั้งอำนาจหน้าที่พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อสามารถยืนยันความถูกต้องตามกฎหมายและหลักนิติธรรมโดยให้แล้วเสร็จเร็วที่สุด

 

2.ระหว่างดำเนินการตามข้อ 1 ควรมีกลไกที่เหมาะสม อธิบายทำความเข้าใจสาธารณชนทุกระยะเพื่อป้องกันการสื่อสาร เผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความจริง

 

และ 3.ควรแถลงผลการตรวจสอบตามข้อ 1 พร้อมข้อมูลหลักฐานทั้งหมดเท่าที่จะเปิดเผยได้ เพื่อให้สังคมคลายความข้องใจ ถึงการปฏิบัติหน้าที่พนักงานอัยการ รวมทั้งการแก้ไขทันที ในกรณีหากพบปัญหา หรือข้อคลาดเคลื่อน ในขั้นตอนใดเกี่ยวกับการสั่งคดี

 

สำหรับกระบวนการตรวจสอบการสั่งคดีของรองอัยการสูงสุด ที่ถูกสังคมตั้งคำถาม ประเด็นสำคัญอยู่ที่การใช้ดุลพินิจว่า มีความรอบคอบรัดกุมมากพอหรือไม่ หากไม่รอบคอบ ไม่รัดกุม ทำให้การสั่งคดีเกิดความเสียหาย ก็ต้องถือว่ามีความผิด ส่วนจะผิดระดับไหน ก็ค่อยว่ากันเมื่อผลออกมา

ข่าวเกี่ยวข้อง

อีกทั้งคณะทำงานฯ จะต้องตรวจสอบย้อนไปถึงกระบวนการ การยื่นร้องขอความเป็นธรรมเข้ามาด้วย เพราะแม้จะเป็นการร้องเข้ามาตามกระบวนการ ขั้นตอนที่ถูกต้อง แต่ก็ต้องตรวจสอบว่า พยานหลักฐานที่นำมาร้องนั้น เป็นอย่างไร และกระบวนการพิจารณาคำร้องของ “สำนักงานคดีกิจการอัยการสูงสุด” ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบเรื่องร้องขอความเป็นธรรม ก่อนสรุปเสนอส่งให้รองอัยการสูงสุดมีคำสั่งนั้น สอดคล้องกัน หรือขัดกับ “คำสั่งไม่ฟ้อง” ของรองอัยการสูงสุด

 

“หากคณะทำงานฯ สรุปว่ามีการใช้ดุลพินิจที่ไม่ถูกต้อง ขั้นตอนหลังจากนั้น อัยการสูงสุดก็จะส่งเรื่องให้ ก.อ.ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยต่อไป”

 

ประธาน ก.อ.กล่าวว่า ยืนยันว่า กระบวนการตรวจสอบภายในของสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นอำนาจของ ก.อ. ถือเป็นระบบที่เชื่อถือได้ โดยที่ผ่านมาก็เคยมีการสอบสวนลงโทษข้าราชการอัยการที่กระทำผิดวินัย ทุจริตหรือประพฤติตนไม่เหมาะสมอยู่ตลอด แม้แต่ระดับอัยการจังหวัดก็เคยถูกสอบวินัยจนถูกไล่ออก และดำเนินคดีอาญา โดยยื่นคำร้องให้ ป.ป.ช.ไต่สวน จนต้องเข้าคุกมาแล้ว