‘เอสซีจี’ ประเมินเสี่ยงโควิด  ศึกยังไม่จบ อย่าเพิ่งพักรบ

04 ส.ค. 2563 | 05:25 น.

ผ่ามุมคิด

การเร่งทรานส์ฟอร์มธุรกิจด้วยความระมัดระวัง หลังผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลงสู่ระดับที่น่ากังวลน้อยลง ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องในหลายธุรกิจภายในประเทศ แต่กับธุรกิจขนาดใหญ่ระดับมหภาค อย่างบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี ผู้ประกอบการครอบคลุมวัสดุก่อสร้าง, ปิโตรเคมี และบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่โควิดพ่นพิษใส่เต็มๆนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย

โดยนายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการ ยอมรับว่า การทำธุรกิจยังคงมีความท้าทายอยู่รอบด้าน โดยเฉพาะสถานการณ์ในต่างประเทศ ประเด็นภาวะทางเศรษฐกิจ ที่เกี่ยวเนื่องกับการเปิดประเทศ กลายเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวในภาคการท่องเที่ยวและบริการ รวมถึงกับดักขวางการเติบโตของธุรกิจ ท่ามกลางรายได้จากการขายลดลงตลอดครึ่งปีแรกถึง 9% อย่างไรก็ตาม นอกจากกลยุทธ์แผนรับมือกับความไม่แน่นอนขั้นสูงสุด และผลักดันธุรกิจแพกเกจจิ้งให้เป็นดาวเด่นแล้ว ยังมีหวังในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง จากดีมานด์ความต้องการของโครงการรัฐ มั่นใจรัฐเดินต่อ หนุนกระตุ้นเศรษฐกิจ

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส

 

6 ด.รายได้หด-กำไรหาย

จากความท้าทายของตลาดโลก และมาตรการปิดประเทศของไทย เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การลงทุนของต่างประเทศ ซึ่งเป็นคู่ค้า และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวชะลอตัว หนักสุดในกลุ่มสินค้าเคมีภัณฑ์, ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง อย่างต่อเนื่อง 2 ไตรมาส ยกเว้นการเติบโตในกลุ่มธุรกิจแพกเกจจิ้ง จากการอุปโภคบริโภคที่ปรับขึ้นนั้น ทำให้ผลประกอบการของบริษัทตลอดช่วงครึ่งปีแรก รวมมีรายได้จากการขายอยู่ที่ 201,751 ล้านบาท ลดลง 9% เมื่อเทียบกับปีก่อน สำหรับกำไรงวดอยู่ที่ 16,355 ล้านบาท ลดลงราว 13% อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง บริษัทจึงยังคงเป้าหมายการลงทุนไว้ที่ 5.5-6.5 หมื่นล้านบาท

คาดศก.ดิ่งลากยาว 1 ปี

สำหรับภาพรวมธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลัง มองว่า ยังคงมีความน่ากังวลอยู่มาก แม้ขณะนี้ไทยเองและกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน พยายามบริหารจัดการควบคุมโรคในเฟสแรกได้ดีก็ตาม แต่ความเสี่ยงจากการเปิดประเทศ และโอกาสที่โรคจะกลับมาระบาดในเฟส 2 ยังมีสูง จากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นรายวัน ฉะนั้น การเปิดประเทศของไทย คงเป็นไปด้วยอุปสรรค เพราะรัฐเองต้องคงไว้ซึ่งมาตรการเข้มข้นป้องกันผลกระทบระลอกใหม่ ดังนั้น ความต้องการสินค้า หรือ การลงทุนใดๆ ที่มีส่วนตอบรับกับภาคการท่องเที่ยวจึงมีความท้าทายค่อนข้างมาก ขณะเดียวกัน ย่อมส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวม อาจชะลอตัวยาวนานกว่า 1 ปี ส่วนการดำเนินธุรกิจของบริษัทเอง ต้องจับตาถึงสถานการณ์ตลาดโลก ในแง่ต้นทุนสินค้า และความต้องการสินค้า ที่มีแนวโน้มไม่สู้ดี อีกทั้งยังมีปัจจัยเฝ้าระวังอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ภาวะน้ำท่วม-น้ำแล้ง ที่ส่งผลต่อการทำธุรกิจ

“เศรษฐกิจไทย เซ็กเม้นต์ใหญ่ คือ ภาคการท่องเที่ยว-บริการ แต่ขณะนี้โอกาสที่ไทยจะกลับมาเปิดประเทศ เพื่อรับการท่องเที่ยวใหม่ๆ ของต่างชาติ คงต้องใช้เวลาและระมัดระวังสูง เป็นภาวะที่ต้องทำใจ ประเมินต้องอยู่กับสถานการณ์เช่นนี้มากกว่า 1 ปี เพราะผลกระทบควบคุม สร้างสมดุลได้ยาก ระหว่าง สุขภาพ ความเป็นอยู่ และการดำเนินธุรกิจ”

 

 

วางแผนขั้นเลวร้ายสุด

ทั้งนี้ บริษัทได้เร่งปรับตัวและเตรียมแผนการรองรับไว้แล้ว ในกรณีที่เกิดสถานการณ์เลวร้ายสุด หากมีการปิดเมืองต่อเนื่อง เช่น เตรียมการขายและการขนส่งล่วงหน้า และผลักดันการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆมาช่วย อีกทั้ง ยังมองหาโอกาสใหม่ๆ ในกลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตดี อย่างธุรกิจแพกเก็จจิ้ง จากธุรกิจ e-commerce และการสั่งอาหารออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด

“แม้ความรู้ความเข้าใจของโลกเกี่ยวกับไวรัสมีมากขึ้น แต่คนติดเชื้อในหลายประเทศก็ยังมีมาก สถานการณ์เปลี่ยนได้ตลอดเวลา ไม่มีใครรู้อนาคต ขณะผลกระทบทางธุรกิจของเรา ต้องแยกเป็นรายตลาด และรายอุตสาหกรรม เพราะวันนี้กับช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ก็มีความแตกต่าง เช่นเดียวกับ 2-3 เดือนข้างหน้า ก็อาจเปลี่ยนไปได้อีก ทำได้แค่เฝ้าระวังและปรับตัวให้ไว”

 

หวังโครงการรัฐฟื้นก่อสร้าง

 

นายรุ่งโรจน์ ยังกล่าวถึงภาคธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ซึ่งไตรมาส 2 มีรายได้จากการขาย 42,506 ล้านบาท รวมครึ่งปีแรกลดลงประมาณ 1% ว่า ในช่วงที่เหลือของปี ยังเป็นตลาดที่มีความท้าทายสูง โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่อาศัย คอนโดมิเนียม ที่อยู่ในภาวะเหนื่อย ส่วนโครงการบ้านแม้มีแนวโน้มดีกว่า แต่การก่อสร้างในโครงการใหม่ๆ ยังมีข้อจำกัด เช่นเดียวกับการก่อสร้างในภาคคอมเมอร์เชียล หรือ รีเทลค้าปลีก ที่ได้รับผล
กระทบอย่างมาก ครึ่งหลังน่าจะชะลอตัวต่อ มีเพียงเซ็กเม้นต์ ภาคการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ที่ฉายแววเป็นพระเอก และความหวังของอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในปีนี้ เนื่องจากคาดว่า รัฐบาลเอง ต้องการขับเคลื่อนการลงทุนต่อเนื่อง เพื่อหวังให้เป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย 

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,597 วันที่ 2 - 5 สิงหาคม พ.ศ. 2563