ส่อง 8 คดีดัง ‘อัยการสูงสุด’ สั่งไม่ฟ้อง-ผู้ต้องหารอด

01 ส.ค. 2563 | 07:25 น.

 

ทำเอาสะเทือนเลื่อนลั่นกันไปทั้ง สำนัก งานอัยการสูงสุด (อสส.) และสำนักงาน ตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สำหรับคดี วรยุทธ อยู่วิทยา หรือตามที่สื่อมวลชนจะเรียกทั้ง “บอส อยู่วิทยา” บ้าง “บอส กระทิงแดง” บ้าง ซึ่งเป็นทายาทเจ้าสัวเครื่องดื่มชูกำลังกระทิงแดง

 

เมื่อ อัยการสูงสุด โดย เนตร นาคสุข อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูง ขณะรักษาการรองอัยการสูงสุด (รองอสส.) มีคำสั่งไม่ฟ้องทุกข้อหา “บอส อยู่วิทยา” ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291

 

ขณะที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็ได้ลงนามไม่แย้งคำสั่งของพนักงานอัยการแต่อย่างใด หลังพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีอาญานี้ พร้อมทั้งมีการถอนหมายจับในทุกคดีของ “บอส อยู่วิทยา” สร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้กับสังคม นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ว่า “คุกมีไว้ขังคนจน” อันเป็นการสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดขึ้นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมของไทยเป็นอย่างมาก

 

นำไปสู่การตั้ง “คณะกรรมการ” ขึ้นมา 3 ชุด เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ และคำตอบเพื่อชี้แจงกับสังคม ทั้งในส่วนของ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ตั้งขึ้น ว่ากันว่า เป็นการ “ซื้อเวลา” เพื่อลดกระแสร้อนแรงของสังคมหรือเปล่าไม่รู้นะ

 

อย่างไรก็ตาม “ฐานเศรษฐกิจ” จะขอพาท่านผู้อ่านไป พลิกดูคดีความดังๆ ที่ “อัยการสูงสุด” ไม่ฟ้องคดีบ้าง ไม่สั่งฟ้องบ้าง อย่างน้อย 8 คดี ดังนี้

 

ยุค“รัฐบาลสมัคร” 

 

• ชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด ในขณะนั้นเคยอยู่ในบัญชีนายกฯลำดับที่ 3 ของพรรคเพื่อไทย มีคำสั่งไม่ฟ้อง เบญจา หลุยเจริญ อดีตรมช.คลัง ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขณะดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาฐานภาษี (ซี 10) ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากรกับพวกรวม 5 คน กรณี คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ชี้มูลความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ขณะดำรงตำแหน่งเอื้อประโยชน์ พานทองแท้ และ พิณทองทา ชินวัตร ขายหุ้นไม่ต้องเสียภาษี ต่อมา ป.ป.ช.


ยื่นฟ้องในปี 2558 กระทั่งวันที่ 27 ธ.ค. 2562 ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ปัจจุบันถูกคุมขังในเรือนจำ

 

• ไม่ฟ้องคดีหวยบนดิน จนกระทั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต้องฟ้องเอง และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก วราเทพ รัตนากร อดีตรมช.คลัง 2 ปี (รอลงอาญา) และเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2562 ศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุก ทักษิณ ชินวัตร 2 ปี ความผิดในคดีเดียวกัน

 

ส่อง 8 คดีดัง ‘อัยการสูงสุด’ สั่งไม่ฟ้อง-ผู้ต้องหารอด

 

 

ยุคยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

 

จุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุดในขณะนั้น 

 

• ไม่ฟ้อง ทักษิณ ชินวัตร ในความผิดฐานสนับสนุนการก่อการร้ายจากการวีดีโอลิงก์โฟนอิน หรือทวิตเตอร์เข้ามายังสถานที่ชุมนุมของกลุ่ม ผู้ชุมนุม นปช. เมื่อปี 2553

 

• ไม่ยื่นฎีกาคดี พจมาน ชินวัตร และ บรรณพจน์ ดามาพงษ์ เลี่ยงภาษีหุ้นชินคอร์ป ทำให้คดีถึงที่สุด โดยคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก พจมาน และ บรรณพจน์ คนละ 3 ปี ต่อมาศาลอุทธรณ์ยกฟ้องพจมานจำคุกบรรณพจน์ 2 ปี รอลงอาญา 1 ปี ปรับ 1 แสนบาท แต่คดีไปไม่ถึงศาลฎีกาเพราะอัยการสูงสุดในขณะนั้นไม่ยื่นฎีกา

 

อรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุด ในขณะนั้น

 

• ไม่ยื่นฎีกาคดี พล.อ. ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตรมว.กลาโหม กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย กับเจ้าหน้าที่กกต. คดีจ้างพรรคเล็กลงสมัครเลือกตั้งปี 2549 คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก พล.อ.ธรรมรักษ์ และเจ้าหน้าที่กกต. 3 ปี 4 เดือน ต่อมาศาลอุทธรณ์ยกฟ้องเฉพาะ พล.อ.ธรรมรักษ์ ลงโทษเจ้าหน้าที่ กกต. และอัยการสูงสุดไม่ยื่นฎีกา ทำให้คดีในส่วนของพล.อ.ธรรมรักษ์ ถึงที่สุดเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2559 ขณะที่ศาลฎีกา พิพากษายืนจำคุกเจ้าหน้าที่ กกต. 3 ปี 4 เดือน

 

 

ยุคพล.อ.ประยุทธ์ 

 

วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด คนปัจจุบัน

 

• สั่งไม่ฟ้อง คดี อนันต์ อัศวโภคิน เจ้าของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง ในคดีฐานร่วมกันสมคบฟอกเงินและฟอกเงิน ที่เกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินพัวพันถึงวัดธรรมกาย แม้เมื่อ พ.ย. 2562 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เจ้าของคดี จะแถลง ว่า “มีความเห็นแตกต่างจากพนักงานอัยการ โดยเห็นว่าข้อเท็จจริงยังฟังได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้กระทำความผิดตามที่ได้มีความเห็นควรสั่งฟ้องไปแล้ว จึงได้มีความเห็นแย้งความเห็นของพนักงานอัยการให้ฟ้องนายอนันต์ ตามข้อกล่าวหาที่ส่งพนักงานอัยการแล้ว”

 

• ไม่ยื่นอุทธรณ์ คดี พานทองแท้ ชินวัตร ร่วมกันฟอกเงินทุจริตเงินปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย จำนวน 10 ล้านบาท ในความความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน และสมคบคบกันฟอกเงิน ตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2563 ทำให้คดีถึงที่สุด 

 

โดยคดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง พานทองแท้ อัยการเจ้าของสำนวนไม่ยื่นอุทธรณ์ส่งกลับดีเอสไอ ดีเอสไอมีความเห็นแย้งให้ยื่นอุทธรณ์ แต่สุดท้ายมีการชี้ขาดไม่อุทธรณ์คดี

 

• มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง นายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา ทายาทกระทิงแดง ในทุกข้อหาอีก กรณีขับรถเฟอร์รารีชนตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิต ทั้งที่เวลาผ่านไปร่วม 8 ปี ทำให้คดีไปไม่ถึงศาล เมื่อ 3 มิ.ย. 2563 

 

ทั้ง 2 คดีหลังนี้เป็นการใช้ดุลยพินิจสั่งคดีโดยคนเดียวกัน คือ เนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,597 หน้า 10 วันที่ 2 - 5 สิงหาคม 2563