งบฟื้นฟูศก. 4 แสนล้าน ความหวังสกัดตกงานพุ่ง

31 ก.ค. 2563 | 09:40 น.

งบฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้าน ความหวังสกัดตกงานพุ่ง

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมา ส่งสัญญาณถึงอัตราการว่างงานหลังจากนี้ไป มีโอกาสที่จะพุ่งทยานไปหลายล้านคน  จากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเดือนมีนาคม ที่ผ่านมาสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจพบว่ามี ผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 3.92 แสนคน ขณะที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่าทั้งปี 2563 จะมีผู้ตกงานอยู่ที่ 8.4 ล้านคน

 

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ชี้ให้เห็นว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้กระทบต่อการจ้างงานภาคบริการและการผลิตมากที่สุด เป็นการตกงานแบบที่ไม่ได้ตั้งตัว และเมื่อสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 คลี่คลายแล้ว แรงงานจำนวนมากจะไม่สามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้

 

ทั้งนี้ มีปัจจัยมาจากทั่วโลกมีกำลังการผลิตส่วนเกินที่ยังสูงอยู่มาก ภาคการท่องเที่ยวจะหายไป จำนวนนักท่องเที่ยวไม่เหมือนแต่ก่อน ส่งผลให้ทั้ง 2 ภาคส่วนนี้จะลดการจ้างงานแรงงานลงไป กระทบแรงงานกลับเข้าระบบ ซึ่งจะส่งผลให้แรงงานที่มีฝีมือ มีศักยภาพ หรือประสบการณ์ใช้เทคโนโลยี กลับคืนสู่ชนบทเพิ่มมากขึ้น 

 

จึงเป็นโจทย์ให้กับรัฐบาลว่า จะช่วยเหลือกับแรงงานเหล่านี้ได้อย่างไร ที่จะเข้าไปแก้ปัญหาให้มีงานทำสร้างเศรษฐกิจในท้องถิ่นได้ โดยไม่ต้องเข้ามาทำงานในเมืองหรือในภาคอุตสาหกรรม

 

การแก้ปัญหาการตกงานนี้ ที่ทำได้เร็วสุด รัฐบาลจะต้องเร่งอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้รวดเร็วและได้มากที่สุด โดยเฉพาะความหวังจากงบแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ภายใต้กรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาท ที่จะมาช่วยเยียวยาผู้ตกงานในเวลานี้ได้

งบฟื้นฟูศก. 4 แสนล้าน ความหวังสกัดตกงานพุ่ง

 

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาโครงการตามแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 รอบแรก ที่ผ่านการวิเคราะห์กลั่นกรองเบื้องต้น จำนวน 186 โครงการ วงเงิน  92,400 ล้านบาท เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาอนุมัติของคณะรัฐมนตรี ยังมีความล่าช้า โดยเฉพาะแผนงานสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก กรอบวงเงินประมาณ 50,000 ล้านบาท คณะรัฐมนตรี ได้กำชับเป็นพิเศษว่า โครงการหรือแผนงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างงาน สร้างอาชีพ จะต้องให้ความสำคัญกับการส่งเสริมตลาดสำหรับผลผลิต และผลิตภัณฑ์ของธุรกิจชุมชนที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวหรือภาคบริการอื่น, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน, การจัดหาปัจจัยการผลิตและสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น สำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชน, รวมทั้งการเข้าถึงช่องทางการตลาด พร้อมทั้งยกระดับมาตรฐานคุณภาพและมูลค่าเพิ่มของสินค้าและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชนเท่านั้น หากข้อเสนอโครงการที่หน่วยงานเสนอไม่ตรงกับเงื่อนไขที่กำหนดไว้ให้นำกลับไปพิจารณาทบทวนใหม่ปัจจุบันมีโครงการที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วจำนวน 10 โครงการ วงเงิน 41,944 ล้านบาท และหลังจากนี้จะมีการอนุมัติโครงการออกมาเป็นระยะ ๆ

 

 

ทั้งนี้ หากโครงการตามแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 รอบแรก ทุกโครงการสามารถผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีได้ทั้งหมด มีการประเมินว่าจะช่วยให้เกิดการจ้างงานในท้องถิ่นได้กว่า 410,415 ราย เกษตรกรสามารถเลี้ยงตนเอง กว่า 95,000 ราย จากการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและนํ้า เกษตรกรได้รับประโยชน์จากการยกระดับเกษตรแปลงใหญ่ 5,450 แปลง จำนวน 262,500 ราย และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มไม่น้อยกว่า 11,000 ล้านบาทต่อปี เป็นต้น  ซึ่งภาครัฐหวังว่าจะช่วยประคองไม่ให้จีดีพีของประเทศไทยหดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ และจะช่วยขับเคลื่อนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ กลับมาฟื้นตัวและเดินหน้าต่อไปได้

 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้า 8 ฉบับที่ 3,596 วันที่ 30 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม พ.ศ. 2563