“บขส” งัด3สถานีทำเลทองปักหมุด"โรงแรม-ออฟฟิศ"สร้างรายได้

29 ก.ค. 2563 | 04:41 น.

"บขส. "  มั่นใจมีศักยภาพบริหารองค์กรให้มั่นคงและยั่งยืน พร้อมรุกแผนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ปั้นมิกซ์ยูส 3สถานีขนส่งฯเอกมัย -ปิ่นเกล้า-สามแยกไฟฉาย สร้างรายได้

 

 

 

นายมาโนช สายชูโต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายธุรกิจเดินรถ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส. ) เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บขส. มุ่งมั่นฯ พัฒนาบริการด้านการขนส่งผู้โดยสารให้ได้รับความสะดวกสบายและสร้างความพึงพอใจสูงสุด โดยมีการพัฒนาและปรับปรุงรูปแบบการให้บริการทั้งการเดินรถ , รับ-ส่งพัสดุภัณฑ์ อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการอย่างสูงสุด รวมทั้งมีโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของ บขส.  เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีศักยภาพ อาทิ โครงการพัฒนาสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (เอกมัย) พื้นที่ประมาณ 7 ไร่ มีแผนจะพัฒนาเป็นสถานีขนส่งผู้โดยสาร ร้านค้า สำนักงาน โรงแรมและที่จอดรถ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (ปิ่นเกล้า) พื้นที่ประมาณ 15 ไร่ บขส. จะดำเนินการสรรหาเอกชนมาร่วมลงทุน ตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ส่วนสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (สามแยกไฟฉาย) พื้นที่ประมาณ 3 ไร่เศษ มีแผนให้เช่าที่ดิน พัฒนาเป็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ และอาคารที่พัก ทั้งนี้หาก บขส. สามารถพัฒนาพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ได้ตามแผน จะทำให้ บขส. มีรายได้

“บขส” งัด3สถานีทำเลทองปักหมุด"โรงแรม-ออฟฟิศ"สร้างรายได้

เพิ่มมากขึ้นด้านผลประกอบการด้านการเงินในช่วงที่ผ่านมา บขส.ถือว่ามีความสามารถในการบริหารจัดการ เป็นรัฐวิสาหกิจที่นำเงินรายได้เข้ารัฐและไม่ได้ขอรับสนับสนุนงบประมาณจากรัฐแต่อย่างใด และประกอบธุรกิจแข่งขันกับภาคเอกชนไม่ได้ผูกขาด อีกทั้งเป็นกลไกให้รัฐบาลดูแลประชาชนไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากภาคเอกชน เช่น การตรึงราคาค่าโดยสาร โดยแบกรับต้นทุนดังกล่าว เพื่อให้บริการประชาชน ทำให้ในปี 2559 บขส. ได้ปรับลดค่าโดยสาร 2 ครั้ง สูญเสียรายได้ 32.786 ล้านบาท อีกทั้งมีภาระค่าใช้จ่ายในการกำกับดูแลผู้ประกอบการรถร่วมฯ เช่น ค่าสาธารณูปโภคในการใช้พื้นที่สถานีขนส่ง การให้บริการห้องสุขาฟรี ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับคดีความ ภาพลักษณ์ต่างๆ และโดยเฉพาะการปรับลดค่าธรรมเนียมให้กับผู้ประกอบการรถร่วมฯ ทำให้ บขส. ต้องแบกรับค่าใช้จ่าย

รวมกว่า 121 ล้านบาท ส่งผลให้ปี 2559 บขส. ขาดทุนกว่า 150 ล้านบาท ซึ่งไม่ได้ขาดทุนจากการประกอบธุรกิจแต่อย่างใด แต่มีปัจจัยเชิงนโยบายเข้ามาส่งผลกระทบ นอกจากนี้จากผลสำรวจของประชาชนเกี่ยวกับการให้บริการห้องสุขาในสถานีขนส่ง พบว่า ประชาชนต้องการให้มีบริการห้องน้ำทางเลือกที่เสียค่าบริการและมีความสะดวกสบายมากขึ้น ซึ่ง บขส. มีแผนที่จะทำห้องน้ำทางเลือกให้กับประชาชนอีกกลุ่มที่ต้องการบริการที่มากขึ้น อย่างไรก็ดีแม้ บขส.ต้องแบกรับต้นทุนการกำกับดูแลผู้ประกอบการรถร่วม การตรึงราคาค่าโดยสาร ค่าใช้จ่าย

ด้านสาธารณูปโภคการใช้สถานีต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2559 แต่ก็ยังมีผลประกอบการที่เลี้ยงตัวเองได้ โดยปี 2560 บขส. สามารถทำกำไรได้ 53.934 ล้านบาท แต่จากมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบให้ปรับขึ้นเงินเดือนค่าจ้างให้พนักงาน ร้อยละ 5 ทำให้บขส. มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 16.136 ล้านบาท  

 

ปี 2561 บขส. สูญรายได้ค่าโดยสารจากที่ควรมีกำไร อยู่ที่ 129.163 ล้านบาท แต่เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ไม่สอดคล้องกับราคาค่าโดยสารในขณะนั้น ทำให้ บขส. ขาดทุน 94.609 ล้านบาท และเป็นการตรึงราคาเพื่อให้บริการประชาชน

 

 

 

 

ส่วนปี 2562 บขส. สามารถสร้างรายได้จากการเดินรถ และธุรกิจอื่นๆ มีกำไรจากการดำเนินงาน 168.35 ล้านบาท แต่เนื่องจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหลักการร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำสภาพการจ้างพนักงานรัฐวิสาหกิจ ให้ผู้ที่มีอายุงาน 20 ปีขึ้นไป เมื่อถูกเลิกจ้าง ได้รับเงินชดเชย 400 วัน อายุงาน 10-20 ปี ชดเชย 300 วัน มีผลต่อลูกจ้างที่ต้องพ้นจากตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. 2562 เป็นต้นไป ส่งผลให้ บขส. ต้องจ่ายเงินชดเชยผู้เกษียณอายุเพิ่มเติม จำนวน 166.94 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายโดยผลของกฎหมาย และไม่ได้ประมาณการค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไว้ จึงส่งผลให้ปี 2562 บขส. มีกำไรน้อยลงอยู่ที่ 1.410 ล้านบาท

 

รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. กล่าวด้วยว่า บขส.ยังไม่เข้าข่ายต้องทำแผนฟื้นฟูธุรกิจ และ บขส.พร้อมพัฒนาธุรกิจและบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นรัฐวิสาหกิจที่สามารถบริหารจัดการด้วยตนเองได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว นอกจากนี้ในอนาคตมีแผนปรับโครงสร้างองค์กรให้กระชับขึ้น รวมทั้งมีแผนพัฒนาธุรกิจรับ-ส่งพัสดุภัณฑ์ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตอบสนองความต้องการใช้ของลูกค้าต่อไป