คดี“บอส อยู่วิทยา” รสนา แนะ พึ่งศาลยุติธรรม

28 ก.ค. 2563 | 20:05 น.

คดี“บอส อยู่วิทยา” รสนา แนะ ทางออกพึ่งกระบวนการศาลยุติธรรม สอบปมควรเพิกถอนหมายจับ "บอสอยู่วิทยา" หรือไม่

ยังคงได้รับความสนใจจากสังคมต่อเนื่อง กรณีคดีของ ทายาทกระทิงแดง หรือ บอส อยู่วิทยา หรือ บอสกระทิงแดง ได้สร้างความตื่นตัวและเกิดความเคลื่อนไหวในสังคมอย่างต่อเนื่องจนถึงขณะนี้ สังคมยังคงจับจ้องความคืบหน้าจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงการทำงาน ทำหน้าที่ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งยังมีข้อเสนอแนะ คำแนะนำต่างๆจากหลายฝ่ายเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ที่ต่างทยอยออกมาให้เห็นตลอดหลายวันนี้  

 

นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพมหานคร ได้โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊กแฟนเพจ รสนา โตสิตระกูล ในหัวข้อ “ศาลยุติธรรมเป็นองค์กรเหมาะสมที่สุดที่จะตรวจสอบว่าคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการชอบด้วยกฎหมายและหลักนิติธรรมหรือไม่?” ใจความว่า

ดิฉันเคยถูกตั้งข้อหา ยุยงปลุกปั่นตามมาตรา116 ในปี2549 โดยที่นายพลตำรวจผู้ตั้งข้อหาดิฉัน ภายหลังได้รับเลือกเป็นสนช.ในปี 2557 และอยู่ในคณะกรรมาธิการกฎหมายและสิทธิมนุษยชนในยุค สนช.ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีบอส กระทิงแดง ตามที่เป็นข่าวอยู่ขณะนี้

 

ข้อหาที่ดิฉันได้รับรุนแรงกว่าความเป็นจริง รุ่นพี่ที่เป็นอัยการแนะนำดิฉันว่า ถ้าดิฉัน’กล้าลอง’ ไม่ต้องไปรับทราบข้อกล่าวหาของตำรวจ พอไม่ไปรับทราบข้อกล่าวหาครบ 3 ครั้ง ตำรวจจะไปขอหมายจับที่ศาลให้ดิฉันทำเรื่องขอความเป็นธรรมไปที่อธิบดีศาลยุติธรรมให้เปิดการไต่สวนก่อนการอนุมัติหมายจับให้ตำรวจ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

“บอส อยู่วิทยา” ปลุกสังคมร่วมหาทางออกนำคดีขึ้นสู่ศาล

“มานะ”โพสต์แรง“โกงความยุติธรรมคือหายนะของชาติ”

เปิดโฉม 30 กมธ.ยุติธรรม ยุค สนช. จุดเปลี่ยนคดี บอสกระทิงแดง

“พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ”ลั่นยุติคดี“บอส อยู่วิทยา”เป็นไปตามขั้นตอนปกติ

ส่อง10บริษัท ที่ "บอส อยู่วิทยา" ถือหุ้น มีรายได้เท่าไร เช็กได้ที่นี่

 

เหตุผลที่ประทานกราบเรียนต่อศาล คือ ดิฉันและพวกไม่เชื่อในความยุติธรรมของตำรวจ ที่น่าจะทำตามคำสั่งของนักการเมืองที่อยู่ในฝ่ายบริหารให้แจ้งข้อกล่าวหาหนักเกินความเป็นจริง ดิฉันจึงต้องมาขอความกรุณาให้ศาลเปิดไต่สวนก่อนอนุมัติหมายจับเพื่อความเป็นธรรมต่อดิฉันและพวก

ในกรณีของดิฉัน ศาลมีเมตตาเปิดการไต่สวนก่อนอนุมัติหมายจับดิฉัน อธิบดีศาลยุติธรรมลงมาพิจารณาด้วยตนเองและเมื่อมีการรับฟังข้อมูลแล้ว ศาลวินิจฉัยว่า พวกดิฉันที่พูดบนเวทีวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล มีความผิดเพียงใช้เครื่องเสียงในที่สาธารณะโดยไม่ได้ขออนุญาต เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถปรับดิฉันและพวกได้ แต่ไม่มีความผิดตามมาตรา116 ท่านจึงไม่อนุมัติหมายจับ ซึ่งตำรวจยังอุทธรณ์ขอให้ออกหมายจับต่อ แต่ศาลท่านยืนตามคำวินิจฉัยเดิมที่ไม่อนุมัติหมายจับ

 

คดีของดิฉัน ศาลใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21(4) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 สั่งไต่สวนการขออนุมัติหมายจับของตำรวจ และศาลใช้ดุลพินิจไม่ออกหมายจับตามที่ตำรวจขอ ดังนั้น ในกรณีที่ตำรวจจะขออนุมัติให้ศาลถอนหมายจับนายวรยุทธ อยู่วิทยา ศาลย่อมสามารถเปิดการไต่สวนก่อนที่จะพิจารณาว่า จะเพิกถอนหมายจับนายวรยุทธ อยู่วิทยาหรือไม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 21 (4) ประกอบ ป.วิ.อ.มาตรา 15 เช่นเดียวกัน

 

ในคดีนี้ศาลก็สามารถใช้มาตราทั้งสองนี้สั่งไต่สวนได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจของศาลว่า ควรเพิกถอนหมายจับหรือไม่ ซึ่งการไต่สวนถือเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้ศาลใช้ดุลพินิจในการมีคำสั่งได้อย่างถูกต้องเป็นธรรม

 

หากศาลมีคำสั่งไต่สวนก่อนเพิกถอนหมายจับ ศาลสามารถเรียกสำนวนสอบสวนเดิมและที่สอบสวนเพิ่มเติม และสำนวนของพนักงานอัยการทั้งของเดิมและของใหม่มาพิจารณาตรวจสอบ ซึ่งจะเห็นข้อพิรุธที่น่าสงสัยหลายประการ เช่น

1.การกลับคำให้การของตำรวจผู้ตรวจสอบความเร็วจากที่เคยให้การว่า ผู้ต้องหาขับรถด้วยความเร็วประมาณ 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและการให้การของตำรวจผู้ตรวจสอบความเร็วใหม่อีก 2 คนที่ให้ความเห็นว่า ผู้ต้องหาขับรถด้วยความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งไม่น่าจะมีน้ำหนักให้รับฟังได้ เพราะขัดกับสภาพหน้ารถของผู้ต้องหาที่พังยับ และการลากจากจุดชนไปไกลถึง 200 เมตร หากขับด้วยความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรจริง สภาพหน้ารถของผู้ต้องหาไม่น่าจะพังยับขนาดนั้นและไม่น่าจะลากไปไกลจากจุดชนถึง 200 เมตร ทั้งไม่มีการขอให้ผู้เชี่ยวชาญสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม มาตรวจสอบและให้ความเห็นอีกทางหนึ่งด้วย

 

2.มีพยานบุคคลที่อ้างว่าเป็นประจักษ์พยานโผล่มา 2 คน ให้การยืนยันว่าผู้ต้องหาขับรถด้วยความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่พยานทั้งสองปากนี้ก็มีข้อน่าสงสัยว่าถ้าเห็นเหตุการณ์จริง เหตุใดจึงไม่ให้การหลังเกิดเหตุโดยเร็ว รอให้ผ่านมา 7-8 ปี จึงมาให้การ ทั้งๆที่มีพยานปากหนึ่งรู้จักและคุ้นเคยกับมารดาผู้ต้องหาเป็นอย่างดี

 

3.ในสำนวนสอบสวนของพนักงานสอบสวนแต่เดิมมีนายวรยุทธ อยู่วิทยาเป็นผู้ต้องหาเพียงคนเดียว แต่ในสำนวนใหม่กลับให้ดาบตำรวจเป็นผู้ต้องหาที่ 2ทั้งๆ ที่ดาบตำรวจตายไปแล้ว ไม่อาจเป็นผู้ต้องหาและไม่อาจให้การต่อสู้คดีได้ ข้อนี้ย่อมเป็นพฤติการณ์ที่ทำให้สงสัยว่าประสงค์จะโยนความผิดให้คนตายเพื่อให้คนเป็นพ้นความผิด ใช่หรือไม่

 

4.เมื่อพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ผบ.ตร.ควรทำความเห็นแย้ง แต่ก็มิได้ทำความเห็นแย้ง ทั้งนี้โดยไม่ได้ให้เหตุผลว่าเหตุใดจึงไม่ทำความเห็นแย้ง ข้ออ้างที่ว่าผู้ต้องหาได้ชดใช้ค่าเสียหายให้ญาติผู้ตายเป็นเงิน 3 ล้านบาทแล้ว ญาติผู้ตายไม่ติดใจเอาความนั้น มีผลเฉพาะความรับผิดทางแพ่งที่ญาติผู้ตายไม่อาจเรียกค่าเสียหายได้อีก แต่ไม่มีผลทำให้คดีอาญาระงับ เพราะคดีที่เกิดขึ้นเป็นคดีอาญาแผ่นดิน แม้มีการชดใช้ค่าเสียหายแล้ว คดีอาญาก็ไม่ระงับ

 

อนึ่ง ในการไต่สวน ศาลมีอำนาจเรียกพยานใหม่ 2 คน และตำรวจผู้ตรวจสอบความเร็วรถทั้งสามคนมาเบิกความในศาลได้ ทั้งมีอำนาจขอให้ผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม มาตรวจสอบให้ความเห็นว่า ความเร็วรถที่ผู้ต้องหาขับนั้นไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงหรือประมาณ 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นอกจากนี้ศาลมีอำนาจเรียกพนักงานอัยการมาเบิกความถึงเหตุผลในการสั่งไม่ฟ้องได้ ทั้งเรียก ผบ.ตร.มาให้เหตุผลในการไม่ทำความเห็นแย้ง หากไต่สวนจนสิ้นกระแสความแล้ว มีเหตุทำให้ไม่น่าเชื่อว่า ในการทำความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาของพนักงานอัยการจะเป็นไปโดยถูกต้องและเป็นธรรมหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นไปตามหลักนิติธรรม ศาลย่อมใช้ดุลพินิจไม่เพิกถอนหมายจับได้ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยที่ศาลมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายและหลักนิติธรรม

 

หลังจากศาลมีคำสั่งไม่เพิกถอนหมายจับตามขอบเขตสดมภ์ของตนแล้ว พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการซึ่งเป็นอีกสดมภ์หนึ่งจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไปเป็นเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรทั้งสองซึ่งเป็นสดมภ์ฝ่ายบริหาร

 

ข้ออ้างที่ว่าแม้จะมีหมายจับก็จับผู้ต้องหาไม่ได้แล้วเนื่องจากพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องนั้น เป็นปัญหาขององค์กรทั้งสอง มิใช่ปัญหาของศาลซึ่งเป็นฝ่ายตุลาการ อย่างไรก็ดี องค์กรทั้งสองควรหาทางออกโดยการเพิกถอนคำสั่งไม่ฟ้องเดิม แล้วเปลี่ยนมาเป็น

 

“มีคำสั่งให้ฟ้อง” เพราะคำสั่งตามกฎหมายนั้น หากไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือขัดต่อหลักนิติธรรมย่อมเพิกถอนได้เสมอ แม้แต่คำสั่งศาลหากไม่ชอบ ศาลก็เพิกถอนได้ สรุปแล้ว การให้ศาลซึ่งเป็นสดมภ์ฝ่ายตุลาการเป็นผู้ไต่สวนว่าควรเพิกถอนหมายจับผู้ต้องหาหรือไม่ ย่อมดีกว่าการให้พนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นสดมภ์ฝ่ายบริหารตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกันเอง เพราะขาดความน่าเชื่อถือในความเป็นกลาง “การให้คนกลาง คือ ศาลเป็นผู้ตรวจสอบหาความถูกต้องโดยการไต่สวนว่า ควรเพิกถอนหมายจับหรือไม่ น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด”