ค่ายรถกุมขมับ ยอดปฏิเสธสินเชื่อพุ่ง 35% อีโคคาร์อาการหนัก

31 ก.ค. 2563 | 01:05 น.

อีโคคาร์บักโกรก ยอดร่วง 34% เหตุไฟแนนซ์คุมเข้ม “โตโยต้า มาสด้า” ชี้ยอดปฏิเสธสินเชื่อช่วงโควิดสูง 20-35% คาดตลาดครึ่งปีหลังดีขึ้น ดันตัวเลขรวมทุกยี่ห้อ 6.6 แสนคัน ตํ่ากว่าต้นปีที่ประเมินไว้ 9.6 แสนคัน

เศรษฐกิจทรุด จากวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้ตลาดรถยนต์ครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.63) ปิดตัวเลข 328,604 คันลดลง 37.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยสัดส่วนการขายรถยนต์นั่งลดลง 42% และรถเพื่อการพาณิชย์ลดลง 34.2% ผู้บริหารหลายค่ายรถยนต์ยืนยันตรงกันว่า ปิกอัพ (ในกลุ่มรถเพื่อการพาณิชย์) ได้รับผลกระทบน้อยกว่ารถยนต์นั่ง ส่วนหนึ่งเพราะผู้บริโภคจำเป็นต้องใช้ทำมาหากิน รวมถึงธุรกิจขนส่งที่ยังเติบโต สามารถขายฟลีต(จำนวนมาก)ได้บ้าง

ในส่วนรถยนต์นั่งที่ได้รับผลกระทบหนัก โดยเฉพาะกลุ่ม “อีโคคาร์” ซึ่งผู้บริโภคมีรายได้ปานกลาง เมื่อเจอพิษเศรษฐกิจจึงยืดเวลาการเปลี่ยนรถออกไป แม้บางรายมีความต้องการซื้อแต่สุดท้ายสถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อ ยอดขายรถเซ็กเมนต์นี้จึงร่วงกราวรูดทุกค่าย สอดคล้องกับตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทยเผยว่า หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของประเทศไทยสูงถึง 70% และยอดสินเชื่อคงค้างรถยนต์ทั้งระบบทะลุ 1 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ ในช่วงโควิด-19 หลายสถาบันการเงินเปิดโอกาสให้ลูกค้าผ่อนผันการชำระเงินกู้ได้ แต่กลายเป็นว่าใครที่สมัครเข้าโครงการแล้ว มีผลต่อเครดิตและการกู้สินเชื่อใหม่ทันที หรือต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือนเพื่อปลดล็อก และขอกู้ใหม่ได้ แต่ทั้งหมดทั้งปวง เมื่อยื่นขอสินเชื่อแล้ว สถาบันการเงินยังพิจารณาความสามารถในการผ่อนชำระอย่างเข้มงวด

MG เชื่อไตรมาส 4 ดีขึ้น

นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ช่วงโควิด-19 รถกลุ่ม Entry level และอีโคคาร์ เจอปัญหาจากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ แต่เชื่อว่าสถานการณ์ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะดีขึ้น คาดว่าตลาดรวมจะตกประมาณ 30% เมื่อเทียบกับปี 2562

นายชาญชัย ตระการอุดมสุข ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ไวรัสโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจโลกหดตัว รวมถึงประเทศไทยที่การผลิต การจ้างงาน การบริโภคลดลง ขณะที่ตลาดรถยนต์ในครึ่งปีแรกลดลงจนน่าตกใจ ซึ่งช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีการพูดคุยกันว่าตลาดรวมปีนี้อาจจะเหลือ 5.5 แสนคัน ทว่า ถึงวันนี้แนวโน้มต่างๆดูดีขึ้นเรื่อยๆ หากไม่เกิดการแพร่ระบาดรอบสอง เชื่อว่าตลาดรวมจะทำได้ 6.5-7 แสนคัน

“ช่วงโควิด-19 ยอดปฏิเสธสินเชื่อของมาสด้า มีถึง 35% ทำให้ยอดขายครึ่งปีแรกทำได้ 15,408 คัน ล่าสุดเราปรับเป้าหมายการขาย(มาสด้าทุกรุ่น)ปีนี้เหลือ 4 หมื่นคัน ครองส่วนแบ่งการตลาด 6% จากเดิมตั้งไว้ 6 หมื่นคัน” นายชาญชัย กล่าวสรุป

อีโคคาร์แชร์ลดลง

ทั้งนี้ ยอดขายกลุ่มอีโคคาร์ ครึ่งปีแรกมีจำนวน 69,819 คัน ลดลง 34% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (105,349 คัน) ยอดขาย 5 อันดับแรก คือ ฮอนด้า ซิตี้ 16,950 คัน โตโยต้า ยาริส แฮตช์แบ็ก 10,679 คัน นิสสัน อัลเมร่า 8,691 คัน ยาริส เอทีฟ 7,763 และมาสด้า 2 ซีดาน 6,142 คัน

ส่วนรุ่นที่ยอดขายลดหนัก คือ มาสด้า 2 แฮตช์แบ็ก ตก 62% มิตซูบิชิ แอททราจ ตก 61% โตโยต้า ยาริส เอทีฟ ตก 58% และ นิสสัน โน๊ต ตก 57%

ขณะเดียวกัน หากพิจารณาสัดส่วนการขายอีโคคาร์ในกลุ่มรถยนต์นั่งช่วงครึ่งปีแรก ยังหดตัวเหลือ 36% หรือส่วนแบ่งตลาดลดลง 16% เมื่อเทียบกับปี 2562 (ทั้งปี) เช่นเดียวกับบี-คาร์ (ซับคอมแพกต์) มีสัดส่วน 19% ส่วนแบ่งตลาดลดลง 1%

นายสุรศักดิ์ สุทองวัน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ที่ผ่านมา ตลาดช็อก ดีมานด์หายไป แต่หลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และสถานการณ์ในประเทศดีขึ้นเป็นลำดับ ทำให้ยอดขายเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนเริ่มกลับมา เชื่อว่าตลาดครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก

“ตอนนี้สถานการณ์ดีขึ้นแล้ว แต่ช่วงแย่ๆ ยอดปฏิเสธสินเชื่อในส่วน โตโยต้า ลีสซิ่ง มีเกือบ 20% โดยกลุ่มปิกอัพได้รับผลกระทบน้อยกว่ารถยนต์นั่ง” นายสุรศักดิ์ กล่าว


ค่ายรถกุมขมับ  ยอดปฏิเสธสินเชื่อพุ่ง 35%  อีโคคาร์อาการหนัก

 

โตโยต้าฟันธงตลาดรวม 6.6 แสนคัน

ล่าสุด โตโยต้า คาดว่า ตลาดรถยนต์รวมปีนี้จะถึง 6.6 แสนคัน ลดลง 34.5% เมื่อเทียบกับปี 2562 พร้อมปรับเป้าหมายของตนเองปีนี้เหลือ 2.2 แสนคัน จากเดิมตั้งเป้าไว้ 3.1 แสนคัน

ด้านฟอร์ด ที่เน้นทำตลาดปิกอัพและพีพีวีเป็นหลัก ยอดขาย 6 เดือนแรกของปี 2563 ร่วง 57.3% ด้วยจำนวน 11,534 คัน โดยนายวิชิต ว่องวัฒนาการ กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทต้องทำงานร่วมกับแคปทีฟไฟแนนซ์ คือ ทิสโก้ และธนชาติ อย่างใกล้ชิด และต้องให้ที่ปรึกษาการขายนำเสนอแพ็กเกจทางการเงินให้เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย เช่นเดียวกับการเลือก
รุ่นรถยนต์ เพื่อให้ผ่านสินเชื่อง่ายขึ้น

“ที่ผ่านมาพนักงานขายเล่าให้ฟังว่า ขายรถได้ 10 คัน แต่ปล่อยสินเชื่อผ่านแค่ 3-4 คัน ดังนั้นเราต้องจัดไฟแนนซ์เชียลแพกเกจให้เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย” นายวิชิต กล่าว

นายมิจิโนบุ ซึงาตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศและระดับโลก ทำให้ตลาดรถยนต์ในประเทศและส่งออกหดตัวในช่วงไตรมาส 1 และต่อเนื่องถึงไตรมาส 2 ทั้งนี้ จากการผ่อนปรนให้ธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้มาตรการที่ภาครัฐกำหนด คาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 เศรษฐกิจจะมีแนวโน้มดีขึ้น

“ผลกระทบต่อภาคธุรกิจยานยนต์ของประเทศไทย ยังถือว่าไม่รุนแรงเท่ากับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน และการฟื้นตัวของไทยดูจะรวดเร็วกว่า ดังนั้น แม้เราอาจจะยังไม่ควรที่จะประเมินสถานการณ์ให้สูงจนเกินไป แต่เห็นว่าแนวโน้มของตลาดรถยนต์ไทยน่าจะไปในทิศทางที่ดี และสถานการณ์จะไม่แย่เท่ากับที่เคยคาดการณ์ไว้ ซึ่งเราหวังว่าประเทศไทยจะเป็นผู้นำในการฟื้นตัวให้กับทวีปเอเชียทั้งหมด ในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้” นายมิจิโนบุ ซึงาตะ กล่าว 

หน้า 1  ฉบับที่ 3,596 วันที่ 30 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม พ.ศ. 2563