“กนอ.”อัดงบเพิ่ม 280 ล.ช่วยผู้ประกอบการ-ผู้พัฒนานิคมฯ จากวิกฤตโควิด

28 ก.ค. 2563 | 04:15 น.

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ “กนอ.” เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กนอ.ที่มีนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการ กนอ.มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มเติม (ระยะ2) เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมที่ประสบกับปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน

              สำหรับรายละเอียดของมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมและผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมเพิ่มเติม(ระยะ2) ประกอบด้วย 1.การลดหย่อนอัตราค่าเช่าที่ดินในอัตรา 10% ให้แก่ผู้เช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมทุกประเภท ยกเว้นผู้เช่าที่ดินพร้อมอาคาร สำหรับผู้เช่าที่ดินที่ต้องชำระค่าเช่าระหว่างเดือนมกราคม–ธันวาคม 2563 โดยต้องเป็นผู้เช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.บริหารจัดการเองและท่าเรืออุตสาหกรรม จำนวน 14 แห่ง ไม่รวมผู้ประกอบการรายย่อย(ขนาดย่อม) ที่ได้รับความช่วยเหลือไปแล้ว

              ทั้งนี้ ผู้เช่าที่ดินสามารถขอคืนหลักประกันสัญญาเช่าส่วนที่เป็นเงินสดได้ โดยการนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารภายในประเทศในมูลค่าที่เท่ากันมาวางแทน ซึ่งมีเงื่อนไขต้องเป็นผู้เช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมที่ระยะเวลาการเช่าไม่น้อยกว่า 5 ปี รวมเป็นวงเงินความช่วยเหลือกรณีนี้ทั้งสิ้นประมาณ 140.4 ล้านบาท

“กนอ.”อัดงบเพิ่ม 280 ล.ช่วยผู้ประกอบการ-ผู้พัฒนานิคมฯ จากวิกฤตโควิด

,2.การลดหย่อนค่าเช่าที่ดินในอัตรา 10% สำหรับผู้เช่าที่ต่อสัญญาเช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม ระหว่างเดือนมกราคม- ธันวาคม 2563 และเป็นสัญญาเช่าระยะยาว(10 ปีขึ้นไป) และต่อสัญญาเช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.บริหารจัดการเอง และท่าเรืออุตสาหกรรม จำนวน 14 แห่ง ไม่รวมผู้ประกอบการรายย่อย (ขนาดย่อม) ที่ได้รับความช่วยเหลือไปแล้วรวมเป็นวงเงินความช่วยเหลือในกรณีนี้ทั้งสิ้นประมาณ 62.1 ล้านบาท

และ 3.ลดหย่อนค่ากำกับการบริการในอัตรา 50% สำหรับนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานที่เปิดดำเนินการแล้ว จำนวน 30 แห่ง  และยกเว้นค่ากำกับการบริการสำหรับนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างโดยยังไม่เปิดดำเนินการ จำนวน 13 แห่ง และได้ขยายระยะเวลาการชำระเงินออกไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 รวมเป็นวงเงินความช่วยเหลือกรณีนี้ทั้งสิ้นประมาณ 77.4 ล้านบาท

“มาตรการความช่วยเหลือที่ กนอ.ได้ดำเนินการเพื่อผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มเติมครั้งนี้ มีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 280 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมกับมาตรการความช่วยเหลือในระยะที่ 1 แล้ว จะมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 309 ล้านบาท โดยมาตรการทั้งหมดที่ กนอ.ดำเนินการ เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการทุกรายในนิคมอุตสาหกรรม ด้วยการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพื่อให้การประกอบกิจการของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างต่อเนื่อง”

นางสาวสมจิณณ์ กล่าวต่อไปอีกว่า ในปีงบประมาณ 2563 มีการแจ้งเริ่มกิจการใหม่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม จำนวน 114 โรงงาน มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น จำนวน 12,019 คน ส่งผลให้มีตัวเลขโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมสะสม (ถึง มิ.ย.63) มีโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ประมาณ 6,112 โรง มีการจ้างงานรวมทั้งสิ้นประมาณ 515,962 คน  โดย กนอ.เชื่อมั่นว่ามาตรการนี้จะช่วยเหลือผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมและผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมได้อย่างเหมาะสมทันท่วงที ลดภาระและยังเสริมสภาพคล่องได้ในคราวเดียวกันอีกด้วย

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ กนอ.ได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มเอสเอ็มอีในนิคมอุตสาหกรรมตามมติที่ประชุมคณะกรรมการ กนอ.เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 ซึ่งเป็นระยะที่ 1 มาแล้ว แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องต่อระบบเศรษฐกิจ แม้ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ที่ช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้กลับมาขับเคลื่อนได้อีกครั้งหนึ่ง แต่ผลกระทบที่มีต่อผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมและอาจยังต้องใช้เวลาฟื้นตัวอีกระยะ จึงมีมติเห็นชอบให้มีมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวให้แก่ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมทุกราย

“กนอ.ได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมทุกรายในช่วงวิกฤตโควิด-19 โดยในระยะแรก (ช่วงเดือนพฤษภาคม) ได้ออกมาตรการช่วยเหลือทั้งในส่วนของการลดค่าบำรุงรักษาที่    การยกเว้นจัดเก็บค่าบริการอนุญาตการประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม ยกเว้นหรือลดหย่อนค่าเช่าที่ดินและอาคารเช่าทั้งแบบรายเดือนและแบบรายปีเป็นระยะเวลา 3 เดือน ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในนิคมอุตสาหกรรมแล้ว แต่เพื่อให้การช่วยเหลือครบถ้วนและครอบคลุม กนอ.จึงได้ออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่กลุ่มผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมและโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม และเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ กนอ.จึงมีมติเห็นชอบต่อมาตรการความช่วยเหลือเพิ่มเติมดังกล่าว”