จี้ล้มโปรเจ็กต์ปาล์มปั่นไฟ เอื้อโรงสกัดฟันกำไรเละ

30 ก.ค. 2563 | 23:40 น.

สภาเกษตรกร จี้ กนป.ล้มโปรเจ็กต์ "ปาล์มปั่นไฟ" ชี้เล่นกลเอื้อโรงสกัดฟันกำไรเละ  แฉพอราคาซีพีโอพุ่งสูง ขอเลื่อนส่งมอบ พอราคาตํ่าสต๊อกบานร้องรัฐปฏิบัติตามสัญญา วงการลุ้นสำรอง 1 แสนตัน ผวาเคว้ง หลัง รมว.พลังงานเปลี่ยนตัว  

พลิกแฟ้มผลดำเนินงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กระทรวงพลังงาน รับซื้อนํ้ามันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) เพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง ตามมติคณะกรรมการนโยบายปาล์มนํ้ามันแห่งชาติ (กนป.) รอบแรกปริมาณ 1.6 แสนตัน ราคากลางรับซื้อซีพีโอจากโรงสกัดกิโลกรัม (กก.) ละ 18 บาท ส่วนรอบ 2 จำนวน 1.01 แสนตัน (วันที่ 6 พ.ย.62) ประกาศรายชื่อเรียบร้อยแล้ว 17 ราย ราคากลางรับซื้อ 17.50 บาทต่อกก.

 

 ส่วนในรอบที่ 3 จำนวน 1.3 แสนตัน ราคากลางรับซื้อ 17.50 บาทต่อกก. ล่าสุดรอบ 4 จำนวน 37,550 ตัน ราคากลางรับซื้ออยู่ที่ 23.25 บาทต่อกก.ได้ผู้ชนะประมูลแล้ว ซึ่งกฟผ.ได้ประกาศรายชื่อเรียบร้อยแล้ว  8 ราย (ราคาผู้ชนะประมูลไม่เกิน 22 บาทต่อกก.ซึ่งตํ่ากว่าราคากลางที่ กฟผ.กำหนด)โดยเตรียมส่งมอบเดือนสิงหาคมนี้ (กราฟิกประกอบ) ทั้งนี้หากราคาผลปาล์มของเกษตรกรยังไม่ดีขึ้น ยังมีสำรองสต๊อกจัดซื้ออีก 2 แสนตัน (มติครม. 27 ส.ค.61) เพื่อให้ กฟผ.นำไปผลิตกระแสไฟฟ้าได้ต่อเนื่อง

 

นายพันศักดิ์  จิตรรัตน์ ประธานคณะกรรมการด้านปาล์มนํ้ามันและพืชพลังงาน สภาเกษตรกรแห่งชาติ และกรรมการ กนป. เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โครงการรับซื้อนํ้ามันปาล์มดิบเพื่อพยุงราคาปาล์มนํ้ามัน โดยให้ กฟผ.นำไปผลิตกระแสไฟฟ้าเห็นว่าควรจะยกเลิกเสียที เพราะเกษตรกรไม่ได้ประโยชน์ แต่เอื้อต่อโรงสกัดนํ้ามันปาล์มที่เข้าร่วมโครงการชัดเจน โดยเฉพาะก่อนหน้านี้ราคา นํ้ามันปาล์มดิบในตลาดเคยสูงถึง 29-39 บาทต่อ กก. ขณะที่ราคากลางต้องส่ง กฟผ.รอบล่าสุดไม่เกิน 22 บาทต่อ กก.

จี้ล้มโปรเจ็กต์ปาล์มปั่นไฟ เอื้อโรงสกัดฟันกำไรเละ

ทั้งนี้ที่ผ่านมาโรงสกัดฯได้รวมตัวกันกดดันที่ประชุม กนป.ขอเลื่อนการส่งมอบอ้างเหตุผลต่างๆ นานา เพื่อไม่ทำตามสัญญาเพราะราคาข้างนอกขายได้สูงกว่า ขณะที่เวลานี้สต๊อกนํ้ามันปาล์มดิบอยู่ที่ 4.9 แสนตัน จะมาเรียกร้องให้ กฟผ.ต้องเร่งปฏิบัติตามสัญญา ขณะที่ราคาปาล์มที่เกษตรกรได้รับไม่ดีขึ้นเลย ที่ผ่านมาโรงสกัดได้กำไรทั้งขึ้นทั้งล่อง ดังนั้นขอให้ กนป.ยกเลิกโครงการนี้ได้แล้ว

 

นายสิทธิพร จริยพงศ์ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวถึง ผลผลิตปาล์มในประเทศช่วงนี้มีน้อย รวมถึงตลาดโลกด้วย (มาเลเซีย) แต่ราคาปาล์มของไทยไปผูกกับบริษัทค้านํ้ามันรายใหญ่ที่ใช้ผลิตบี10 และบี20 มาก และมีบริษัทที่มีแท้งค์สต๊อกนํ้ามันปาล์มดิบรายใหญ่กว่า 100 แท้งค์ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นผู้รวบรวมนํ้ามันปาล์มดิบในภาคใต้ที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มนี้จะเป็นผู้กำหนดราคาปาล์ม 

 

“ผมตั้งคำถามว่าให้ราคาเป็นธรรมกับเกษตรกรหรือไม่ ตอบเลยว่า “ไม่” ขณะนี้เกษตรกรควรขายผลปาล์มได้ 3.80-3.85 บาทต่อกิโลฯ แต่ ณ ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ ราคา 3.20-3.50 บาทต่อกิโลฯ (22 ก.ค.63) เฉลี่ยจะถูกกดราคา 10-20 สตางค์ต่อกก.ดังนั้นขอให้รัฐเร่งผลักดันโครงสร้างราคาปาล์มที่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นเสียที”

 

แหล่งข่าววงการค้านํ้ามันปาล์ม เผยว่า การจัดซื้อนํ้ามันปาล์มดิบสำรองงวดแรกดูดซับสต๊อกส่วนเกิน 1 แสนตัน จากสำรอง 2 แสนตัน ยังต้องลุ้นว่าจะเดินหน้าโครงการต่อหรือไม่ นอกจากจะมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่

 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้า 8 ฉบับที่ 3,595 วันที่ 26 - 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2563