"ธุรกิจอาหารไทย" ในรัสเซีย ไม่สะเทือน "โควิด"

26 ก.ค. 2563 | 23:00 น.

รายงานพิเศษ : "ธุรกิจอาหารไทย" ในรัสเซีย ไม่สะเทือนโควิด "ซีพีเอฟ" ยึดอู่ฮั่นโมเดลฝ่าวิกฤติ

 

เศรษฐกิจทั่วโลกต่างต้องสะดุดตัวลงในครึ่งแรกของปี 2563 นี้ด้วยการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ทำเอาหลายอุตสาหกรรมปั่นป่วนอย่างคาดเดาไม่ได้ ทว่าที่รัสเซีย ประเทศที่มีอัตราผู้ติดเชื้อสูงสุดติดอันดับโลก ธุรกิจอาหารไทยยังเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง

“โควิด-19” สาดเข้ามาซ้ำเติมผลกระทบสงครามราคาน้ำมันเมื่อต้นปีทำเอาเศรษฐกิจของรัสเซียบอบช้ำ แต่เมื่อถามถึงธุรกิจไทยในรัสเซีย นายธนาธิป อุปัติศฤงค์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก กล่าวว่า ธุรกิจอาหารซึ่งเป็นธุรกิจหลักของไทยในรัสเซียแทบไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ “โควิด-19” ในปีนี้

การปิดประเทศและมาตรการล็อคดาวน์ที่รัสเซียประกาศใช้อย่างเคร่งครัดเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แม้จะทำให้รัสเซียแช่แข็ง แต่เรื่องอาหารซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการดำเนินชีวิตยังคงมีการซื้อขายกันตามปกติ 

เอกอัครราชทูตไทยอธิบายว่า อาจติดปัญหาเรื่องความล้าช้าของระบบโลจิสติกส์ในช่วงโควิด-19 ไปบ้าง แต่การขนส่งภายในประเทศยังทำได้เช่นปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลรัสเซียตัดสินใจเริ่มคลายมาตรการการควบคุมลงจนสังคมรัสเซียเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติตามมาตรฐาน “New Normal” ด้วยแล้ว ธุรกิจอาหารจึงดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง

"ธุรกิจอาหารไทย" ในรัสเซีย ไม่สะเทือน "โควิด"

สำหรับการลงทุนในรัสเซียถือว่าทั้งโอกาสและอุปสรรค โดยในด้านอุปสรรคพบว่าในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจรัสเซียซบเซา มีนโยบายการทดแทนการนำเข้าสินค้าเกษตรของรัสเซีย รวมถึงระบบศุลกากรที่ซับซ้อน และมาตรการท้องถิ่นที่ไม่สอดคล้องกับรัฐบาลกลาง

ในขณะที่โอกาสของการทำธุรกิจในรัสเซียอยู่ที่รัสเซียต้องการแสวงหาคู่ค้าใหม่เพื่อทดแทนชาติตะวันตก รวมถึงการที่รัสเซียมีเทคโนโลยีรัสเซียมีความทันสมัยและราคาถูกเมื่อเทียบกับตะวันตก และนักท่องเที่ยวรัสเซียจำนวนมากเดินทางมาไทยมีความนิยมและรู้จักสินค้าไทยอยู่บ้างแล้ว

นอกจากนี้ ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนในรัสเซียต่อเนื่อง โดยมีในปี 2561 มีมูลค่าการลง 3,149 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีผู้ประกอบการที่เข้าไปลงทุน เช่น บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ลงทุนผลิตสินค้าสุกรและไก่ บริษัท Fennel ลงทุนธุรกิจเครื่องสำอาง บริษัทดูดี ลงทุนธุรกิจสปาและร้านอาหาร “Thai Pattara Center” และบริษัท LLC Chemical Corporation

ทั้งนี้ ซีพีเอฟ เป็นบริษัทไทยรายแรกที่เข้ามาลงทุนในรัสเซียประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยปี  2549 เริ่มจากการเข้ามาซื้อโรงงานผลิตอาหารสัตว์เมือง Kaluga และต่อมาช่วงปี 2557-2559 ใช้กลยุทธ์การเข้าซื้อกิจการฟาร์มสุกรและไก่ในหลายเมือง เช่น เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เพื่อลดเวลาขยายธุรกิจและได้องค์ความรู้ตลาดท้องถิ่น รวมทั้งต่อมาปี 2561 เริ่มลงทุนธุรกิจแปรรูปอาหาร และในปี 2563-2564 มีแผนที่จะขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น

"ธุรกิจอาหารไทย" ในรัสเซีย ไม่สะเทือน "โควิด"

นายพรชัย เอกสกุลไพบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ผู้ดูแลกิจการด้านการผลิตไก่ในรัสเซียยืนยันว่าโควิด-19 ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อการทำธุรกิจในรัสเซียแต่อย่างใดเนื่องจากต้นทุนการผลิตไม่ได้รับผลกระทบ 

โรงงานผลิตในรัสเซียยังสามารถผลิตได้ตามปกติ อาจมีสะดุดเพียงช่วงแรกของการประกาศล็อคดาวน์ที่รัฐบาลรัสเซียออกคำสั่งให้ตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเท่านั้น ซึ่งซีพีเอฟได้ให้ความร่วมมือกับนโยบายของทางการรัสเซียเป็นอย่างดี แต่เมื่อคลายมาตรการ สินค้าจึงกลับเข้าสู่กลไกปกติของตลาด

นอกจากไม่ได้รับผลกระทบหนักจากสถานการณ์โรคระบาดแล้ว ธุรกิจอาหารไทยในรัสเซียยังได้รับการชื่นชมด้านการรับมือโควิด-19 อีกด้วย โดยผู้ว่าราชการนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กได้เยือนโรงงานผลิตไก่ในเครือของซีพีเอฟที่ชานเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเพื่อตรวจความพร้อมด้านการผลิตอาหารภายในประเทศของรัสเซียในช่วงปลายเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่โควิด-19 ยังไม่ระบาดหนักในรัสเซีย แต่กลับประทับใจนโยบายการควบคุมโรคขององค์กรที่ซีพีเอฟปรับใช้จากโมเดลของโรงงานในอู่ฮั่น แหล่งต้นกำเนิดของการแพร่ระบาดไวรัสรอบนี้ ที่รักษาความสะอาด ตรวจวัดอุณหภูมิผู้เข้า-ออกในแต่ละพื้นที่อย่างเคร่งครัด และหมั่นสื่อสารตรวจสอบสุขภาพพนักงาน หากเข้าค่ายต้องเฝ้าระวังอาการ จะให้พักงานกักตัวดูอาการทันที ซีพีเอฟยังได้เตรียมแผนการรับมือในกรณีที่พนักงานติดเชื้อจำนวนมากจนกระทบต่อการผลิต แต่ผ่านมาครึ่งปี ยังไม่มีโรงงานใดในเครือที่ประสบปัญหาดังกล่าว

เดิมทีไทยมีเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้ากับรัสเซียให้เป็น 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปีนี้ ทว่าด้วยพิษของโควิด จึงคาดว่าไม่น่าจะบรรลุเป้าหมายได้ เมื่อประเมินจากสถานการณ์แล้ว นายธนาธิป อุปัติศฤงค์คาดว่าน่าจะใช้เวลาราว 2 ปี ธุรกิจต่างๆ ถึงจะดำเนินกลับไปเข้าที่ทางเช่นก่อนที่โควิด-19 จะแพร่ระบาด แต่หากเกิดการระบาดระลอกที่ 2 ทุกอย่างอาจต้องตั้งต้นย้อนกลับไปล็อคดาวน์ใหม่อีกครั้ง 

ทางออกที่เอกอัครราชทูตไทยเห็นว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดคือความสำเร็จในการผลิตวัคซีน ซึ่งไทยกับรัสเซียก็มีความร่วมมือด้านการวิจัยวัคซีน โดยสถานทูตไทย ณ กรุงมอสโกได้มีช่วยประสานส่งตัวอย่างเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มาให้แก่นักวิจัยรัสเซีย หวังให้การวิจัยวัคซีนประสบผลสำเร็จโดยเร็ว เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย และเศรษฐกิจไทย-รัสเซียได้กลับมาโลดแล่นอีกครั้ง