โครงสร้างศก.เปลี่ยน เสริมแกร่งพึ่งพาตัวเอง

26 ก.ค. 2563 | 05:00 น.

โครงสร้างศก.เปลี่ยน เสริมแกร่งพึ่งพาตัวเอง : บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3595 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 26-29 ก.ค.2563

โครงสร้างศก.เปลี่ยน

เสริมแกร่งพึ่งพาตัวเอง
 

     ยังไม่เห็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนภาวะเศรษฐกิจของประเทศสตาร์ทติด เมื่อเห็นการรายงานสถานการณ์การส่งอองของกระทรวงพาณิชย์ ในช่วง 6 เดือน (มกรมคม-มิถุนายน 2563) ติดลบ 7.09%  มูลค่า 114,343 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีปัญหามาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก
 

     หลายประเทศยังล็อกดาวน์ กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก ซัพพพลายเชนต่างๆ ของตลาดส่งออกใหญ่ ยังไม่สามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้ตามปกติ มีผลกระทบมายังไทยไม่สามารถส่งสินค้าออกไปป้อนภาคการผลิตได้เหมือนที่เคยเป็น รวมทั้งกำลังซื้อของผู้บริโภคทั่วโลกชะลอ เห็นได้ชัดจากการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกช่วง 6 เดือนที่ผ่านมามีจำนวน 346,378 คัน ลดลง 37.87%
 

     ภาคการท่องเที่ยวไม่ต้องพูดถึง หยุดชะงักเกือบจะทั้งหมด สายการบินต่างๆ ยังไม่เปิดมาให้บริการ จากมาตรการล็อกดาวน์ของหลายประเทศ รวมถึงไทยเองด้วย ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหายไปเกือบจะทั้งหมดเช่นกัน

     หลายสำนักชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้ ส่งผลให้โครงการเศรษฐกิจของประเทศเปลี่ยนแปลงไป จากที่ต้องพึ่งการลงทุน การส่งออกและการท่องเที่ยว ต้องปรับเปลี่ยนใหม่ หันมาสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศแทน โดยเฉพาะการสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้เกิดขึ้น สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดความยั่งยืน มีเงิน มีรายได้หมุนเวียน ซึ่งเข้าใจว่ารัฐบาลพยายามผักดันเรื่องนี้อยู่ ผ่านแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภายใต้เงินกู้ 4 แสนล้านบาท
 

     ขณะที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน ดูแลกันเองภายในประเทศ อย่างกรณีการช่วยเหลือของภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากการส่งออก และกำลังซื้อในประเทศชะลอตัว ในช่วงระยะกลาง 6-12 เดือน และระยะยาว 18-24 เดือน ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ขอให้ภาครัฐต้องสนับสนุนการใช้สินค้าไทย (Made in Thailand) โดยให้กรมบัญชีกลางปรับปรุงระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง เพิ่มแต้มต่อในด้านการซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยมากขึ้น เพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมอยู่รอดได้
 

     รวมถึงภาคอุตสาหกรรมเอง ต้องหันมาเน้นการพัฒนาห่วงโซ่การผลิต ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ตลอดซัพพลายเชนของตัวเอง หรือหันกลับมาพัฒนาสิ่งของหรือวัตถุดิบใช้เองในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาหรือลดความเสี่ยงของตลาดโลก และอาศัยความได้เปรียบจากการมีตั้นทุนที่ดีของความหลากหลายทางชีวภาพ จะต้องมุ่งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในภาคเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะอุตสาหกรรม Bio Economy การทำเกษตรแปรรูป เกษตรเพิ่มมูลค่า จะเป็นสิ่งที่ตรงกับคนไทยมากที่สุด และเป็นความต้องการของโลก
 

     วิกฤติไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ จึงเป็นบททดสอบถึงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง ว่า การหันมาพึ่งพาตัวเอง สร้างความเข้มแข็งภายในประเทศให้ได้ จะช่วยนำพาประเทศรอดพ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนหรือไม่