วันหยุดยาว กระทรวงคมนาคมฯ แจ้งขนส่งไม่มีผู้โดยสารตกค้าง

25 ก.ค. 2563 | 08:37 น.

คมนาคมฯเผยมีผู้ใช้บริการขนส่ง 2.38 ล้านคนสูงกว่าประมาณการ 6.39% ส่วนปริมาณจราจรเข้า-ออกกรุงเทพฯ อยู่ที่ 2.98 ล้านคัน

สำหรับวันหยุดยาวระหว่างวันที่ 24- 28 ก.ค. นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ตามที่กระทรวงคมนาคมได้บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็ว และดูแลความปลอดภัยการเดินทางของประชาชน รวมถึงการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ใน ช่วง วันหยุดยาว ต่อเนื่อง  ระหว่างวันที่ 24 - 28 กรกฎาคม 2563 ณ วันที่ 24 กรกฎาคม 2563 พบว่า มีประชาชนเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ 2,384,538 คน-เที่ยว สูงกว่าประมาณการ 6.39% มีปริมาณการจราจรเดินทางเข้า – ออกกรุงเทพฯ จำนวน 2,989,669 คัน ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์ส่วนบุคคล จำนวน 2,781,590 คัน ต่ำกว่าประมาณการ 6.35%   

ส่วนสถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุบนโครงข่ายทางถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 พบว่า มีจำนวนอุบัติเหตุเกิดขึ้น 48 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 9 คน บริเวณที่เกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่เป็นทางตรง 70.83% สาเหตุสำคัญเกิดจากการขับรถเร็วเกินกำหนด 81.25% มีอุบัติเหตุที่มีรถจักรยานยนต์เกี่ยวข้อง จำนวน 12 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 2 คน ทั้งนี้ ไม่มีการให้บริการขนส่งสาธารณะทั้งทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ เกิดอุบัติเหตุ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บขส.จัดรถโดยสารรับการเดินทางประชาชน

ผ่านประสบการณ์มา 4 วิกฤติ  ครั้งนี้หนักที่สุด 

ยึดแนวเดิม ลุย มอเตอร์เวย์ ‘นครปฐม-ชะอำ’

สำหรับการเตรียมความพร้อมของระบบขนส่งสาธารณะทุกประเภท ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 สามารถรองรับการเดินทางของประชาชนได้อย่างเพียงพอ ไม่มีผู้โดยสารตกค้าง อย่างไรก็ดี พบว่า มีจำนวนผู้ใช้บริการเดินทางด้วยรถ บขส. ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ คาดว่าประชาชนส่วนหนึ่งหยุดอยู่บ้านเพื่อพักผ่อน         และบางส่วนเปลี่ยนการเดินทางโดยใช้รถยนต์ส่วนตัว นอกจากนี้ ในการตรวจความพร้อมของรถโดยสารสาธารณะ ณ จุดตรวจความพร้อม 121 แห่ง จำนวน 10,155 คัน พบข้อบกพร่อง 10 คัน ได้สั่งให้แก้ไข 9 คัน และเปลี่ยนรถ  1 คัน ส่วนความพร้อมของท่าเรือ/แพ รวมถึงการปฏิบัติงานพนักงานขับรถ เจ้าหน้าที่รถไฟ รถไฟฟ้า และผู้ประจำเรือไม่พบว่ามีการดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้สารเสพติดแต่อย่างใด

 

 

 

นอกจากนี้ นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์การเดินทาง   และดำเนินการเพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนให้ได้รับความสะดวก ปลอดภัย สร้างความมั่นใจในคุณภาพและการให้บริการของระบบขนส่งสาธารณะ เช่น จัดเตรียมรถโดยสาร ขบวนรถ เรือโดยสาร เครื่องบิน ให้เพียงพอ รวมถึงความพร้อมของสถานี ท่าเรือ ท่าอากาศยาน เข้มงวดมาตรการด้านความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน      เพื่อป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุ ลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน การบริการจัดการด้านการจราจรทางถนนในเส้นทางที่อยู่ในความรับผิดขอบให้มีความคล่องตัวตลอดเวลา และกวดขันให้พนักงานและผู้ใช้บริการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัดตลอดการเดินทางด้วย