คมนาคม ส่งการบ้าน‘บิ๊กตู่’

28 ก.ค. 2563 | 00:00 น.

สนข.-รฟท. ดันรถไฟทางคู่ 7 เส้นทาง 2.6 แสนล้านบาทเข้าครม. ลุยพัฒนาระบบขนส่งคมนาคมระยะ 8 ปี ด้านรถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่น สาย กาญจนบุรี-อรัญฯ แหลมฉบัง-เชียงใหม่ เร่งหารือรูปแบบการลงทุนกับญี่ปุ่น หลังโควิด-19 พ่นพิษ

 

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการให้ทุกหน่วยงานราชการจัดทำแผนปฏิบัติราชการที่สำคัญเพื่อส่งต่อรัฐบาลรุ่นต่อไป โดยให้จัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินงานตามแผนทุกๆ 3 เดือนนั้น ขณะนี้ทางกระทรวงคมนาคมได้จัดทำแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยพ.ศ.2558-2565 ซึ่งจะเป็นแนว

ทางในการพัฒนาภาคคมนาคมขนส่งของประเทศในระยะเวลา 8 ปี ทั้งนี้แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานฯ ประกอบด้วยโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางบก ทางราง ทางนํ้า และทางอากาศ ภายใต้ความรับผิดชอบของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจของกระทรวงคมนาคม รวม 111 โครงการ กรอบวงเงินรวม 1.912 ล้านล้านบาท โดยระบบรางถือเป็นหนึ่งในโครงการเร่งด่วนที่ต้องพัฒนา

  แหล่งข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เตรียมเสนอโครงการรถไฟทางคู่ 7 เส้นทางมูลค่า 2.6 แสนล้านบาทเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) ประกอบด้วยโครงการที่ผ่านการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอแล้ว 2 โครงการ ได้แก่ รถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น-หนองคาย วงเงิน 26,000 ล้านบาทและรถไฟทางคู่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ วงเงิน 8,100 ล้านบาท 

 สำหรับโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการ (Action Plan) ที่อยู่ระหว่างพิจารณาอีไอเอ จำนวน 5 โครงการ ประกอบด้วยรถไฟทางคู่ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย วงเงิน 57,224 ล้านบาท, รถไฟทางคู่ช่วงชุมทางจิระ-อุบลราชธานี วงเงิน 37,404 ล้านบาท, รถไฟทางคู่ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี วงเงิน 24,294 ล้านบาท,รถไฟทางคู่ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา วงเงิน 52,273 ล้านบาท และ 5.รถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ วงเงิน 55,634 ล้านบาท

  ส่วนอีกโครงการ ที่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการเป็นรถไฟความเร็วสูง (รถไฟไทย-ญี่ปุ่น) ช่วงกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-อรัญประเทศ ระยะทาง 435 ก.ม.ช่วงกรุงเทพฯ-แหลมฉบัง ระยะทาง 139 ก.ม.และช่วงกรุงเทพ-เชียงใหม่ ระยะทาง 668 ก.ม. ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือรูปแบบการลงทุนกับทางญี่ปุ่น เนื่องจากปัจจุบันติดสถานการณ์การโควิด-19

ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างการเตรียมดำเนินการจัดจ้างที่ปรึกษาจัดการประกวดราคา (ทีโออาร์) จำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วย 1.รถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ วงเงิน 58,110 ล้านบาท 2.รถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม วงเงิน 44,648 ล้านบาท

 สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง จำนวน 5 โครงการ ระยะทางรวม 696 กิโลเมตร ประกอบด้วย 1.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร วงเงิน 17,081 ล้านบาท 2.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม-หัวหิน วงเงิน 16,066 ล้านบาท 3.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ วงเงิน 10,239 ล้านบาท 4.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ วงเงิน 24,721 ล้านบาท และ 5.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ วงเงิน 29,674 ล้านบาท โดยกำหนดเป้าหมายก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2563 -2565

ทั้งนี้ได้สั่งการให้รฟท.เร่งดำเนินโครงการไปสู่การก่อสร้างและโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างให้แล้วเสร็จเพื่อเปิดให้บริการได้ตามแผนการดำเนินงานและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาในปี 2565 รวมถึงรายงานผลการดำเนินงานพร้อมปัญหาอุปสรรค เพื่อพิจารณาหาแนวทางแก้ไขต่อไป

แหล่งข่าวจากวงการผู้รับเหมา ระบุว่า หากรัฐบาลเร่งผลักดันรถไฟทางคู่สู่ขั้นตอนการประมูล มองว่าจะช่วยให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศให้เดินหน้าไปได้

หน้า 11 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3595 วันที่ 26-29 กรกฎาคม 2563