ส่งออกโคม่า รง.หวั่นไปไม่รอด วอนรัฐเติมสภาพคล่อง/เว้นจ่ายหนี้1ปี

27 ก.ค. 2563 | 08:00 น.

ส่งออกไทยโคม่า ผ่านครึ่งทางยังติดลบ 7% กลุ่มสินค้าสำคัญ รถยนต์ อัญมณี การ์เมนต์ ข้าว-มัน ร้องระงม เชื่อไม่มีปาฏิหาริย์ สิ้นปีนี้คาดยังติดลบหนักจากพิษโควิดฉุดค้าโลกทรุด กำลังซื้อผู้บริโภคหาย จี้รัฐช่วยเติมสภาพคล่อง อ้อนเอ็กซิมแบงก์เลื่อนชำระหนี้ถึงสิ้นปีหน้า

 

กระทรวงพาณิชย์เผยตัวเลขการส่งออกของไทยผ่าน 6 เดือนหรือครึ่งทางของปี 2563 ยังติดลบ 7.0% (การส่งออกเดือนมิถุนายนล่าสุดยังติดลบหนักที่ -23%) โดยภาพรวมการส่งออกเกือบทุกกลุ่มยังติดลบถ้วนหน้า ยกเว้นกลุ่มอาหารที่ยังขยายตัวเป็นบวกจากเป็นสินค้าจำเป็นในช่วงที่โลกยังโกลาหลจากพิษโควิด-19

ทั้งนี้ตลาดส่งออกหลักส่วนใหญ่ของไทยในครึ่งปีแรกยังติดลบ เช่น อาเซียน(-9.1%), ญี่ปุ่น (-9.3%),สหภาพยุโรป (-17.7%)มีเพียง 2 ตลาดใหญ่ที่ยังขยายตัวเป็นบวกได้แก่ จีน(+5.8% จากเศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัวหลังโควิดคลี่คลาย) และสหรัฐฯ(+2.5%) ปัจจัยหลักจากเศรษฐกิจ และการค้าโลกหดตัว กำลังซื้อผู้บริโภคลดตัว คู่ค้าลดการนำเข้า และท่ามกลางสถานการณ์โควิดของโลกยัง

ไม่นิ่ง สองตลาดใหญ่คือสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) การแพร่ระบาดยังลุกลาม ส่งออกไทยยากที่จะมีปาฎิหาริย์พลิกกลับมาเป็นบวกได้ในสิ้นปีนี้ สำนักพยากรณ์ต่างๆ ฟันธงส่งออกไทยปี 2563 จะติดลบตัวเลขสองหลัก

 

รถยนต์ลุ้น 1.4 ล้านคัน

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานนยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ทางกลุ่มฯยานยนต์ยังคงเป้าหมายการผลิตรถยนต์เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกรวมที่ 1.4 ล้านคัน แบ่งเป็นขายในประเทศ 7 แสนคัน และส่งออก 7 แสนคัน(ปรับลดลงก่อนหน้านี้จาก 2 ล้านคัน เหลือ 1.9 ล้านคน และเหลือ 1.1 ล้านคันตามลำดับ) ซึ่งยังต้องลุ้นว่าจะทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่ โดยช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ไทยส่งออกรถยนต์ได้ที่ 350,550 คัน และขายในประเทศ 328,604 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 34% และ37% ตามลำดับ

  “ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบคือโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจและกำลังซื้อทั่วโลกลดลง หลายประเทศ เช่นสหรัฐฯ ยุโรป สถานการณ์โรคยังน่าห่วง ทำให้การส่งออกรถยนต์เรายังติดลบมากในช่วง 6 เดือนแรก เช่น อเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย เดือนที่เหลือปีนี้ยังต้องลุ้นว่าสถานการณ์จะดีขึ้นหรือไม่ ทั้งตลาดในและต่างประเทศ ซึ่งจะมีผลต่อแรงงานในอุตสาหกรรมรถยนต์ว่าจะจ้างคนเพิ่มหรือปรับลดลงด้วย”

 

เติมสภาพคล่องอัญมณี  

นายสมชาย พรจินดารักษ์ ประธานสมาพันธ์อัญมณี เครื่องประดับและโลหะมีค่าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) 6 เดือนแรกปีนี้ยังติดลบ 42% ผลจากโควิดทำให้กำลังซื้อในต่างประเทศลดลง คู่ค้าไม่สามารถเดินทางมาดูสินค้าและสั่งซื้อสินค้าได้ ส่วนที่ขายออนไลน์ส่วนใหญ่เน้นขายปลีกได้ปริมาณ และมูลค่าไม่มาก อย่างไรก็ดีในทุกปีไทยจะมีการจัดงานบางกอกเจมส์ฯเพื่อกระตุ้นยอดขายปลายปี แต่ปีนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะจัดงานได้ เพราะหากคู่ค้าเข้ามาแล้วถูกกักตัว  14 วันคงไม่มีใครมาอย่างไรก็ดีหวังการส่งออกอัญมณีฯช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมจะดีขึ้นเพราะ ทุกปีคู่ค้าจะมีการสั่งเพื่อไปจำหน่ายช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ แต่โดยรวมคาดปีนี้การส่งออกอัญมณีฯจะยังติดลบ ตัวเลขสองหลัก

“ที่อยากให้รัฐบาลเร่งช่วยคือสภาพคล่องแก่เอสเอ็มอี เพราะในข้อเท็จจริงแม้รัฐบาลโดยแบงก์ชาติจะปล่อยกู้ซอฟต์โลนผ่านแบงก์พาณิชย์ โดยให้ บสย.คํ้าประกัน แต่แบงก์พาณิชย์ส่วนใหญ่อ้าง บสย.คํ้าประกันเต็มแล้ว จากกลัวความเสี่ยงหนี้เสีย แต่จะช่วยผู้ประกอบการที่มีเครดิตดีที่เป็นพรรคพวกกัน เพราะสามารถทำกำไรต่อได้ ทำให้เอสเอ็มอีเข้าไม่ถึงแหล่งเงินได้จริง และมีความเสี่ยงต้องปิดกิจการจำนวนมาก”


ส่งออกโคม่า  รง.หวั่นไปไม่รอด  วอนรัฐเติมสภาพคล่อง/เว้นจ่ายหนี้1ปี

ขอเว้นจ่ายหนี้ 1 ปี

  นายสุกิจ คงปิยาจารย์ กรรมการและอดีตนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า การส่งออกเครื่องนุ่งห่ม(การ์เมนต์) 6 เดือนแรกปีนี้ยังติดลบ (-13%) ทิศทางจากนี้ยังน่าห่วง ไม่มีออเดอร์เข้ามา หรือเข้ามาน้อยมาก เวลานี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้ปรับตัวหันไปผลิตหน้ากากอนามัยที่ทำจากผ้าเพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศและส่งออก (ส่งออกได้จากไม่ใช่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่รัฐยังห้ามส่งออก) และมีการปรับลดเวลาการทำงานลง ทำให้มีรายได้ลดลง และขาดสภาพคล่องที่จะใช้ประคองธุรกิจและคนงาน

  “อยากเสนอให้แบงก์พิจารณาเพิ่มวงเงินอีก 25% ของหลักทรัพย์คํ้าประกัน เพื่อให้ผู้ประกอบการที่มีวงเงินอยู่แล้วได้รับเงินเพิ่ม และเร็วขึ้น สามารถนำไปต่อยอดธุรกิจให้อยู่รอด และขอให้แบงก์โดยเฉพาะเอ็กซิมแบงก์ เลื่อนการชำระหนี้ให้ผู้ส่งออกไปจนถึงสิ้นปี 2564 และขอให้คนงานผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดใช้สิทธิได้คราวละ 6 เดือนหรือใช้สิทธิได้ถึงสิ้นปีนี้ จากปัจจุบันใช้สิทธิได้ 3 เดือน(มิ.ย.-ส.ค.63) เพื่อช่วยให้นายจ้างและลูกจ้างได้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น”

 

ข้าว-มัน-ยางระงม

  นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การส่งออกข้าวไทยช่วง 6 เดือนปีนี้ส่งออกได้ 3.14 ล้านตัน ลดลง 32% มูลค่า 2,200 ล้านดอลาร์สหรัฐฯ ลดลง 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่งออกได้เป็นอันดับ 3 รองจากอินเดีย และเวียดนาม จากภัยแล้งผลผลิตข้าวลดลง โควิด-19กระทบกำลังซื้อผู้บริโภค และเงินบาทแข็งค่ากระทบความสามารถในการแข่งขัน ขณะที่ไทยไม่มีพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ให้ประเทศคู่ค้าเลือก คาดปีนี้ไทยจะส่งออกข้าวได้เพียง 6.5 ล้านตัน(จากปีที่แล้ว 7.5 ล้านตัน) และหล่นไปอยู่อันดับ 3 ของประเทศผู้ส่งออก จากปีที่แล้วอยู่อันดับ 2

นายบุญชัย ศรีชัยยงพานิช นายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทยกล่าวว่าคาดปีนี้ไทยจะส่งออก ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (ราย การหลักคือมันเส้น และแป้งมัน)ได้ 7-8 หมื่นล้านบาท ตํ่าสุดในรอบ 8-9 ปี จากช่วงที่ผ่านมามีการส่งออกเฉลี่ย 1 แสนล้านบาท ผลจากการขาดแคลนวัตถุดิบที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และโรคใบด่างระบาด

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3595 วันที่ 26-29 กรกฎาคม 2563