“เฉลิมชัย” พลิกวิกฤติแปรรูปยางเจาะตลาดโลก

24 ก.ค. 2563 | 05:36 น.

"เฉลิมชัย" แม่ทัพเกษตร นำนาวา กยท. ก้าวสู่ปีที่6 โชว์สัยทัศน์สร้างความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง  ดึง AI-วิจัย ดันราคายาง พลิกวิกฤติหลัง โควิดคลาย เจาะตลาดโลก

“เฉลิมชัย” พลิกวิกฤติแปรรูปยางเจาะตลาดโลก

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเปิดการประชุม “กำหนดวิสัยทัศน์คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย และมอบนโยบายแก่คณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของการยางแห่งประเทศไทย” ณ โรงแรมบัดดี้ โอเรียนทอล ริเวอร์ไซด์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ว่า การยางแห่งประเทศไทย  หรือ กยท.เป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้รับการจัดตั้งตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 มีผลตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2558 และเพิ่งครบรอบ 5 ปี เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

 

โดยบทบาทของการยางแห่งประเทศไทยได้ดำเนินตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้อย่างต่อเนื่องและเป็นเครื่องมือหรือกลไกของรัฐในการยกระดับการพัฒนายางทั้งระบบครบวงจรให้ดียิ่งขึ้น ทั้งในด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาด เพื่อให้ไทยเป็นประเทศที่ยังคงรักษาสถานะผู้นำการผลิตและผู้ส่งออกยางอันดับหนึ่งของโลก มีศักยภาพในการแข่งขันด้านยางพาราในระดับโลกและมีส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้สูงขึ้น ตลอดจนช่วยสนับสนุนการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมยางและเป็นสินค้าหลักที่ทำรายได้เข้าสู่ประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าสภาพเศรษฐกิจทั้งของโลกและของไทยจะไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนามากนัก โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ราคายางแผ่นดิบเคลื่อนไหวอยู่ที่เฉลี่ยกิโลกรัมละ 37 - 42 บาท ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยเหลือภายใต้โครงการต่าง ๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร อาทิ โครงการประกันรายได้เกษตรกรระยะที่ 1 อีกทั้งยังมีผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะประเทศผู้ใช้ยางรายใหญ่ ได้แก่ จีน สหรัฐ และยุโรป ซึ่งปัจจุบันแม้ว่าสถานการณ์การระบาดในไทยและหลายประเทศจะเริ่มคลี่คลายและมีสัญญาณที่ดีขึ้น แต่คาดว่าหลายประเทศคงต้องใช้เวลาในการกระตุ้นเศรษฐกิจไปอีกระยะเวลาหนึ่ง

“เฉลิมชัย” พลิกวิกฤติแปรรูปยางเจาะตลาดโลก

กระทรวงเกษตรฯ โดยการยางแห่งประเทศไทย พร้อมที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง โดยจะเร่งผลักดันราคายางให้อยู่ในระดับที่คุ้มค่ากับการลงทุน มีทิศทางการพัฒนายางทั้งระบบและมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน โดยจะต้องทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างทันท่วงที เพื่อจะได้ใช้ข้อมูลในการวางแผนการผลิต การแปรรูป การค้าและการลงทุน เพื่อขับเคลื่อนไปสู่วิสัยทัศน์และเป้าหมายทั้งในระยะสั้น กลางและระยะยาว นอกจากนี้ จะเร่งผลักดันการใช้นวัตกรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่ม

โดยมุ่งเน้นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต การเจาะตลาดผลิตภัณฑ์ยางเฉพาะกลุ่มหรือ Niche Market เพิ่มมากขึ้น การใช้นโยบายตลาดนำการผลิต เพิ่มช่องทางการตลาด ลดต้นทุนการผลิต การปรับปรุงคุณภาพของปุ๋ย ทั้งปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิต อีกทั้งจะมุ่งผลักดันนโยบาย Thailand 4.0 เพื่อให้ประเทศไทยเปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการค้า การส่งออก การลงทุนแบบ offline เพียงอย่างเดียว ไปสู่รูปแบบธุรกิจใหม่ หรือ new business model ที่ผสมผสานระหว่างการค้า การลงทุน แบบ online และ offline ควบคู่กันไป โดยมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวช่วยยกระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นคงต่อพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง และเกิดความยั่งยืนต่อยางพาราทั้งระบบต่อไปในอนาคต

“เฉลิมชัย” พลิกวิกฤติแปรรูปยางเจาะตลาดโลก

 

“ถึงแม้ว่าวันนี้ราคายางพาราจะยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด แต่เป็นราคาตามกลไกของตลาดโลก แต่อย่างไรก็ตาม ต้องมีการวางแผนดำเนินการ ดูทิศทาง และเข้าไปดูในเรื่องของการขาย ซึ่ง กยท. เองต้องเข้าไปมีส่วนร่วมให้มากยิ่งขึ้น ต้องทำงานในลักษณะเชิงรุก อาทิ การเข้าไปเป็นผู้เจรจาค้าขายเอง และเป็นผู้ร่วมลงทุนเอง ตามที่กฎหมายเปิดช่องทางให้ดำเนินการ ซึ่งเชื่อว่าหลังโควิด-19 จะมีนักลงทุนหลายรายที่จะเดินทางเข้ามาลงทุนด้านยางพาราในประเทศไทย ทาง กยท. จึงต้องมีการเตรียมตัว เพื่อทำวิกฤติให้เป็นโอกาสให้ได้ ต้องมีการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม เข้ามาช่วยในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางเพื่อเพิ่มมูลค่า ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยยกระดับราคายางพาราให้ดีขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังต้องมุ่งเน้นเรื่องงานวิจัยให้มากยิ่งขึ้นด้วย” นายเฉลิมชัย กล่าว