ปรับ ครม. กับ คุณสมบัติ ‘รมต.’ ที่คนการเมืองอยากเห็น

25 ก.ค. 2563 | 04:00 น.

รายงานพิเศษ...ปรับ ครม. กับ คุณสมบัติ ‘รมต.’ ที่คนการเมืองอยากเห็น

การปรับ ครม. จากการสำรวจของสถาบันการศึกษา อาทิ ซูเปอร์โพล เมื่อเร็วๆ นี้ ชี้ชัดว่า ลักษณะคนดีของ “รัฐมนตรี” ที่ประชาชนต้องการมากที่สุดคือ ซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีประวัติด่างพร้อย แต่ลักษณะของรัฐมนตรีที่ประชาชนต้องการน้อยที่สุดคือ รัฐมนตรีที่มีบารมี!!

 

ครม.ต้องเป็นคนดี-เก่ง

 

นอกจากเสียงจากประชาชน ลองฟังความเห็นจาก “คนการเมือง” บ้าง โดยเฉพาะเสียงจากอดีตรัฐมนตรีหลายสมัย ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวจากปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองอย่างโชกโชนมานานกว่า 30 ปี อย่าง นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา ซึ่งล่าสุดพรรคชาติพัฒนามีมติคืนตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ของ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ เพื่อเปิดทางให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม ปรับ ครม. ได้รัฐมนตรีเข้ามาบริหารงานการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้เร็วที่สุด

 

อย่างไรก็ตาม นายสุวัจน์ ได้เสนอแนวทางทางการเมืองสำคัญ 3 ประการ คือ  

 

1. การเมืองจะต้องนิ่ง มีเสถียรภาพ และไม่มีความแตกแยก 

 

2. จะต้องได้คนดี คนเก่ง คนที่เข้าใจปัญหาของประเทศ เสียสละที่จะเข้ามาร่วมคณะรัฐมนตรี 

 

และ 3. คณะรัฐมนตรี จะต้องได้รับการยอมรับ

 

“เพื่อเป็นการเปิดทางให้ท่านนายกรัฐมนตรีสามารถปรับคณะรัฐมนตรีให้เป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อย ให้การเมืองมีเสถียรภาพ ไม่เกิดความแตกแยกขึ้น ในพรรคร่วมรัฐบาล และได้คนดีๆ เก่งเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาประเทศชาติ และได้คณะรัฐมนตรีที่ได้รับการยอมรับจากพี่น้องประชาชน” นายสุวัจน์ ยํ้า

 

 

10 ความกล้าที่ต้องทำ

 

สอดคล้องกับความเห็นของ นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า เสนอ “10 ความกล้าที่รัฐบาลต้องทำ” ในการปรับครม. เพื่อประชาชนจะได้ประโยชน์  ประกอบด้วย 

 

1. ช่วย SME ให้รอด เพื่อความอยู่รอดของลูกจ้างทั่วประเทศ และความอยู่รอดของเศรษฐกิจไทย ต้องมีการอัด ฉีดเงินช่วยเหลืออย่างมีระบบ ให้เข้าถึงเจ้าของธุรกิจโดยเฉพาะขนาดเล็ก-กลางได้ง่าย เร็วและทั่วถึง

 

2. รื้อการใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาท ยกเลิกแผนการใช้เงินฉุกเฉินเหมือนเป็นเงินงบประมาณปกติ เปลี่ยนจากโครงการที่ราชการเสนอมาเป็นมาตรการยิงตรง ที่แก้ปัญหาได้แม่นยำกว่า มีผลต่อการเบิกจ่ายเร็วกว่า และมีโอกาสรั่วไหลน้อยกว่า

 

 

ปรับ ครม. กับ คุณสมบัติ ‘รมต.’  ที่คนการเมืองอยากเห็น

 

3. กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศอย่างเข้มข้น สิ่งที่ต้องทำมากที่สุดในตอนนี้ คือหา “จุดสมดุลระหว่างการควบคุมโรคระบาด และเร่งการกระตุ้นเศรษฐกิจ” ให้ได้ อย่าติดกับดักตัวเอง ต้องกล้าตัดสินใจและมีความเป็นมืออาชีพในการจัดการ

4. disrupt ตัวเองด้วย GovTech ระบบราชการทั้งหมดต้องเปลี่ยนจาก “ระบบลายเซ็น” และระบบการเรียกเอกสาร เป็น e-government อย่างแท้จริง 

5. ทำงานเป็นมืออาชีพ รัฐบาลต้องเป็นหนึ่งเดียว เลิกชิงดีชิงเด่น เลิกต่างคนต่างทำ โดยกระทรวงหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องทำงานอย่างสอดประสานกัน 

6. กำหนดยุทธศาสตร์ในแต่ละภาคอุตสาหกรรม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงวิกฤติและหลังโควิดอย่างเป็น
รูปธรรม 

7. เปลี่ยนส่วยเป็นภาษี จากที่ผู้ได้ประโยชน์เป็นผู้มีอิทธิพลไม่กี่คน เป็นกิจการที่มีการกำกับดูแลที่ดีและมีการเสียภาษีตามระบบ เพื่อลดภาระที่ไม่เป็นธรรมของคนชั้นกลางลงได้

8. สร้างงานและสวัสดิการถ้วนหน้า รัฐต้องมีมาตรการเร่งด่วนรองรับปัญหาการว่างงาน โดยเฉพาะแรงงานภาคบริการและกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ รัฐต้องพร้อมกระตุ้นการสร้างงานนับล้านงานทันที

9. สร้างอนาคตให้ภาคการเกษตร 

และ 10. สร้างระบบการศึกษาที่สร้างอาชีพให้เด็กไทย

 

 

รมว.พลังงานต้องซื่อสัตย์

                                                                               ปรับ ครม. กับ คุณสมบัติ ‘รมต.’  ที่คนการเมืองอยากเห็น

ขณะที่ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ สะท้อนมุมมอง เกี่ยวกับการ “ปรับ ครม.” เก้าอี้กระทรวงพลังงาน ที่แกนนำพรรคพลังประชารัฐสร้างความหนักใจให้นายกฯ ว่า ใครจะมาดำรงตำแหน่งก็ได้ ตามที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เห็นว่าเหมาะสม ซึ่ง รมว.พลังงานที่ดีไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนที่มีความรู้เรื่องพลังงาน แต่คุณสมบัติที่สำคัญที่สุด คือ ความซื่อสัตย์ ความกล้า ความมุ่งมั่นและจุดยืนที่จะปฏิรูปพลังงานเพื่อประเทศชาติและประชาชนจริงๆ

 

สิ่งที่รัฐมนตรีควรเข้ามาดำเนินการ คือ การปฏิรูปพลังงาน โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน เช่น การยกเลิกราคาเสมือนนำเข้านํ้ามันจากสิงคโปร์ และราคาเสมือนนำเข้าก๊าซจากซาอุฯ ซึ่งในส่วนนี้ไม่ได้นำเข้าจริงและควรปรับโครงสร้างในส่วนของกองทุนนํ้ามันด้วย 

 

“ต้องเร่งทำนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าโดยรีบด่วน เพื่อให้ประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า คงเป็นดีทรอยต์ของเอเชียตะวันตกในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า เพราะถ้าช้าไปเพียง 1 ปี อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอาจจะเลือกไปลงทุนในเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย” นพ.ระวี เสนอ พร้อม ยํ้าว่า 

 

ยังมีอีกหลายภารกิจที่รัฐมนตรีคนใหม่ต้องเร่งดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปราคาปาล์มและมันสำปะหลังที่รับซื้อจากเกษตรกรที่ไม่สอดคล้องกับราคา นํ้ามันปาล์ม b100 และราคาเอทานอล, การปรับปรุง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม, ผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากที่ถูกเลื่อนมาหลายเดือนแล้ว, ผลักดันโรงไฟฟ้าขยะชุมชนอย่างเร่งด่วน เพื่อปฏิรูประบบการจัดการขยะของประเทศไทย และสนับสนุนโครงการโซลาร์รูฟท็อปของประชาชน

 

เร็วๆ นี้ คนไทยจะได้ยลโฉม “ครม.ประยุทธ์ 2/2” แต่จะเป็นไปตามที่คาดหวังไว้หรือไม่คงต้องรอลุ้นกันต่อไป... 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,595 หน้า 10 วันที่ 26 - 29 กรกฎาคม 2563