บขส.ลุยเปิดเดินรถ “ฟีดเดอร์” บูม “สนามบินสกลนคร – มุกดาหาร”

22 ก.ค. 2563 | 13:10 น.

บขส.จ่อเปิดเดินรถฟีดเดอร์เพิ่ม 1 เส้นทาง หนุนสนามบินสกลนคร – มุกดาหาร หวังเชื่อมต่อการเดินทางขนส่งต่อเนื่อง ดึงเอกชนร่วมทุนพีพีพี หลังเตรียมพัฒนาที่ดิน 4 แปลง อัพเกรดโครงการอสังหาฯ ย่านเอกมัย-ปิ่นเกล้า-สามแยกไฟฉาย-จตุจักร

นายมาโนช สายชูโต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายธุรกิจเดินรถ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ บขส. ได้ดำเนินโครงการจัดหารถโดยสารใหม่ที่มีมาตรฐานความปลอดภัย และทันสมัย รวม 468 คัน ซึ่งโครงการอยู่ระหว่างดำเนินการ โครงการบริการรถโดยสารเชื่อมต่อแบบ Feeder Services  ทั้งนี้ได้เปิดเดินรถเส้นทาง Feeder Services ท่าอากาศยานนานาชาติ อุดรธานี- เมืองวังเวียง สปป.ลาว ไปแล้ว เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างการขนส่งหลัก ได้แก่ ทางราง และทางอากาศ ไปยังอำเภอ หรือจังหวัดใกล้เคียง ตามแนวทางการพัฒนาความเชื่อมโยงการเดินทางของกระทรวงคมนาคม

 

ขณะเดียวกันบขส.มีแผนจะเปิดเดินรถเส้นทาง Feeder Services ท่าอากาศยานสกลนคร มุกดาหาร เพิ่มอีก 1 เส้นทางภายในปีนี้ นอกจากนี้ บขส. ได้ดำเนินการยกระดับคุณภาพการให้บริการ ทั้งในส่วนของพนักงานขับรถ โดยจัดตั้งศูนย์ฝึกขับรถโดยสารจำลอง (Bus Simulator) ซึ่งเป็นห้องฝึกขับรถที่คล้ายสถานการณ์จริง สามารถมองเห็นสภาพแวดล้อมบนจอคอมพิวเตอร์ ในส่วนสถานีขนส่ง ได้มีการพัฒนาให้มีความทันสมัย เช่น การจัดทำจอแสดงตารางเดินรถ และจัดทำศูนย์ควบคุมการเดินรถโดยสาร (Bus Control Room) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเดินรถโดยสาร และใช้เป็นศูนย์จัดเก็บรวบรวมข้อมูลด้านการเดินรถของ บขส.

สำหรับโครงการในอนาคต บขส. มีโครงการที่จะดำเนินการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีศักยภาพ อาทิ โครงการพัฒนาสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (เอกมัย) มีขนาดพื้นที่ประมาณ 7 ไร่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ย่านธุรกิจ และสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (ปิ่นเกล้า) ขนาดพื้นที่ประมาณ 15 ไร่ บขส. จะดำเนินการสรรหาเอกชนมาร่วมลงทุน ตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ส่วนสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (สามแยกไฟฉาย) ขนาดพื้นที่ประมาณ 3 ไร่เศษ บขส.มีแผนให้เช่าที่ดิน พัฒนาเป็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ และอาคารที่พัก ส่วนโครงการพัฒนาสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) ได้ดำเนินการศึกษา เพื่อจัดทำแผนรองรับการย้ายสถานี โดยได้สรุปผลการศึกษา 3 แนวทางเลือก ไปยังสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)แล้ว อย่างไรก็ดีพื้นที่เดิมซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) ในปัจจุบันมีความเหมาะสม เนื่องจากสามารถเชื่อมต่อการเดินทางทั้งทางบกและทางราง ประชาชนสามารถเดินทางได้สะดวก รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่าย

 

ด้านผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2562 บริษัทฯ มีรายได้จากการดำเนินงาน รวม 3,397.954 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว จำนวน 169.355 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.25 ทำให้ปี 2562 บขส. มีผลกำไรสุทธิ จำนวน 1.410 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว จำนวน 96.018 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 101.49 ขณะที่ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 บขส. มีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ จำนวน 11.478 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด -19

 

อย่างไรก็ตามบรรยากาศในงาน 90 ปี ที่มั่นคงและยั่งยืนบขส. ได้เชิญชวนหน่วยงานต่างๆ ร่วมบริจาคเงินสมทบทุนโครงการ ทุกการเดินทางขับเคลื่อนความสุขสู่คนไทยด้วยวีลแชร์เพื่อจัดซื้อรถวีลแชร์ให้แก่ผู้ด้อยโอกาสทางการเคลื่อนไหวด้วย