“สสว.” ผุด“ช้อป แชท” ตลาดออนไลน์ “SMEs” ของดีทั่วไทย

22 ก.ค. 2563 | 11:50 น.

“สสว.” ผุด“ช้อป แชท” ตลาดออนไลน์ “เอสเอ็มอี” ของดีทั่วไทย พร้อมเดินหน้าพัฒนาผู้ประกอบการใหม่

นายวีระพงศ์  มาลัย  ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ “สสว.” เปิดเผยว่า ล่าสุด สสว. ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดลวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ “ส.อ.ท.” อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดตัว ห้องแช็ต ผ่านไลน์โอเพ่นแช็ต  ภายใต้ชื่อ "ตลาดช้อปแชท"

ทั้งนี้  เพื่อให้ผู้ประกอบการในกลุ่มของผู้ประกอบการใหม่ และกลุ่มเครือข่ายผู้ประกอบการ ได้ทำการตลาดผ่านแพลตฟอร์มแช็ต เทรนด์การตลาดโฉมใหม่ ที่ผู้ประกอบการสามารถนำสินค้ามาจัดจำหน่ายและ/หรือทดสอบตลาดผ่านการแช็ตกับลูกค้าจริง ตั้งแต่วิธีการนำเสนอขายสินค้า การสร้างคอนเทนต์โปรโมท การส่งเสริมการขาย และการสร้างกิจกรรมทางการตลาด ซึ่งห้องแช็ตนี้ยังช่วยสร้างโอกาสทางการค้าในการจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) สำหรับผู้ขาย และผู้บริโภคสามารถเข้ามาเลือกชอปสินค้าซึ่งส่งตรงจากแหล่งผลิตของ SME ในรูปแบบการแช็ตตามเทรนด์ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) 

สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าชอปแช็ตได้ด้วยวิธีง่ายๆ เพียงเข้าไปที่ ไลน์ โอเพนแช็ต (Line OpenChat) ที่ห้องแช็ต “ตลาดช้อปแชท” ก็สามารถเริ่มต้นชอปและแช็ต ได้หลายวิธี เช่น เมื่อเห็นสินค้าบนหน้าแช็ต ก็สามารถแช็ตกับผู้ขายได้โดยตรง โดยกด “Reply” หรือจะชอปจากตลาดชอปแช็ต ฯ ตามหมวดสินค้าที่บันทึกไว้ใน โน้ต (note) และเข้าไปดูสินค้าทางคอมเม้นต์ หรือจะชอปสินค้าจากที่พบ “Notes” ก็ได้ โดยผู้ที่สนใจสามารถแช็ตชอปได้แล้วตั้งแต่วันนี้

“สสว.” ผุด“ช้อป แชท” ตลาดออนไลน์ “SMEs” ของดีทั่วไทย

เราคาดว่าจะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมกิจกรรมนี้ มากกว่า 500 ร้านค้า สินค้ากว่า 1,000 รายการ มาให้ทุกคนได้เลือกสรร ทั้งนี้นอกจากจะช่วยเพิ่มช่องทางการขายสินค้าให้ผู้ประกอบการแล้ว ยังเป็นการทดสอบตลาดที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพแนววิถีใหม่ยุคดิจิทัลที่ผสานการตลาดออฟไลน์ (offline) และออนไลน์ (Online) เข้าด้วยกันได้อย่างยั่งยืน”

อย่างไรก็ตาม จากนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศปรับตัวในการ รองรับกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ด้วยการสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ “เอสเอ็มอี” (SMEs) เนื่องจากการพัฒนา SMEs จะเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจนและสร้างความ ยั่งยืนในระบบเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ

การผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ หรือ SME Startup จึงเป็นหนึ่งในภารกิจหลักที่สอดรับกับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โดยในส่วนของผู้ประกอบการรายย่อยทางสสว. ก็มีนโยบายส่งเสริมและมุ่งเน้นการสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพ พร้อมสร้างเครือข่ายการดำเนินงานจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่ง สสว. ได้ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง จึงได้จัดให้มีโครงการในด้านต่างๆขึ้น เพื่อตอบให้ตอบสนองต่อรูปแบบการพัฒนาและเศรษฐกิจไทย อย่างเหมาะสม

โครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (SME Early Stage) เป็นการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ให้มีความแข็งแรงในการริเริ่มและจัดตั้งธุรกิจให้ดำเนินการได้ในระยะยาว โดยในปี 2563-2565 สสว. จะให้ความสำคัญในการต่อยอดผู้ประกอบการในกลุ่มที่มีความพร้อมให้มีความสามารถในการแข่งขันและมีศักยภาพในการทำธุรกิจได้อย่างยั่งยืน พร้อมการพัฒนาแนวความคิดในการสร้างธุรกิจเชิงปฏิบัติการ โดยใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ ให้เห็นภาพรวมของธุรกิจได้อย่างชัดเจน เพื่อวิเคราะห์ปัญหาและให้คำปรึกษาเชิงลึกให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อนำไปปรับปรุงธุรกิจให้มีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น

โครงการสนับสนุนเครือข่าย (SME Cluster) มุ่งเน้นให้มีการรวมกลุ่มผู้ประกอบการในกลุ่มคลัสเตอร์ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ ในจำนวนนี้รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับคลัสเตอร์นั้น ๆ เช่น สัตวแพทย์ Traders Logistics เป็นต้น เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือและเชื่อมโยงกัน ระหว่างผู้ประกอบการจากฐานล่างถึงระดับบน ให้เป็นคลัสเตอร์ที่เข้มแข็ง มีการช่วยเหลือพึ่งพากันภายในกลุ่มคลัสเตอร์ของตนเอง

โครงการยกระดับธุรกิจเริ่มต้น (Boost Up New Entrepreneur) ที่จะเชื่อมโยงงานวิจัยและเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือพัฒนา โมเดลการดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ พร้อมยกระดับสู่มาตรฐานสามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

อย่างไรก็ดี  จากวิกฤตการณ์การระบาดของไวรัสโควิด – 19 ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้แพลตฟอร์มออนไลน์มีการขยายตัวในรูปแบบก้าวกระโดด ผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้สามารถดำเนินธุรกิจในรูปแบบ New Normal ที่ผสมผสานทั้งออฟไลน์ร่วมกับออนไลน์ได้ เราจึงมุ่งเน้นเสริมสร้างแนวทางการพัฒนาศักยภาพด้านออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปพัฒนาโมเดลธุรกิจ ต่อยอดด้านการตลาด ให้มีการเติบโตอย่างมั่นคงมั่งคั่งและยั่งยืน